wanderfulminds

When you wonder, your mind wanders, and you realize how wonderful everything is

  • Home
  • Stories & Guides
  • Facts & Tips
  • Brains & Minds
  • Languages
  • Education
  • Hire me!
  • Contact
You are here: Home / Archives for Education

เรียนต่อฝรั่งเศส 5 เตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการอยู่ฝรั่งเศสระยะยาว

February 23, 2018 By KaiMook McWilla Malany 8 Comments

เตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการอยู่ฝรั่งเศสระยะยาว

 

ผ่านกันมาแล้ว 4 หัวข้อเรื่องเกี่ยวกับการเรียนต่อที่ประเทศฝรั่งเศส

  1. เริ่มหาทุน คลิกที่นี่
  2. เรียนภาษาฝรั่งเศสที่ประเทศฝรั่งเศส (มีสองตอน คือ คลิกที่นี่ และ คลิกที่นี่)
  3. เลือกและสมัครมหาวิทยาลัยพร้อมกับขอทุน Eiffel คลิกที่นี่
  4. เตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการอยู่ฝรั่งศสระยะยาว 
  5. ประสบการณ์ในการเรียน Master 1 Droit Public ที่ Aix Marseille Université
  6. ประสบการณ์สมัครฝึกงานในองค์การระหว่างประเทศ

ในบทความนี้ มาดูรายละเอียดเรื่อง เตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการอยู่ฝรั่งเศสระยะยาว กันค่ะ

 

4) เตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการอยู่ฝรั่งเศสระยะยาว

เมื่อเรารู้แน่ชัดแล้วว่าจะเรียน (ไม่ว่าจะเรียนภาษาหรือเริ่มเรียนที่มหาวิทยาลัย) และพักที่ไหน ก็มีเรื่องให้ต้องจัดการมากมายต่างกับการมาเที่ยวไม่กี่วัน คนที่เพิ่งมาครั้งแรกและมาคนเดียวอาจจะสับสน ไม่รู้ว่าต้องทำอะไรบ้าง ควรเริ่มจากอะไร

ดังนั้น ในหัวข้อนี้ เราอยากจะเล่าให้ฟังถึงภารกิจจิปาถะต่างๆ ที่แม้จดูเป็นเรื่องน่าเบื่อ จุกจิก แต่ก็สำคัญต่อการอยู่อาศัยระยะยาวในประเทศฝรั่งเศส ทั้งนี้ ควรเตรียมใจไว้อย่างหนึ่งว่าเจ้าหน้าที่รัฐของประเทศฝรั่งเศสจะไม่ค่อยสันทัดในภาษาอังกฤษสักเท่าไหร่ ดังนั้นเราจึงใช้วิธีเตรียมบทสนทนาล่วงหน้าเป็นภาษาฝรั่งเศสล่วงหน้า โดยหาทางอินเตอร์เน็ตและซ้อมพูดก่อนจะไปติดต่อกับเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศส (ถ้าคิดจะไปเปิดgoogle translate เอาเฉพาะหน้าอาจจะลำบาก เพราะคนมาติดต่อเยอะและเจ้าหน้าที่หลายคนก็ไม่ได้มีเวลาใส่ใจเรามาก) วิธีนี้ใช้ในกรณีอื่นๆก็ได้เช่นจะการซื้อซิมโทรศัพท์ เราก็ต้องพิจารณาเราอยากได้ซิมเติมเงินหรือจ่ายรายเดือน โทรไปยังประเทศอื่นมีค่าบริการอย่างไร และก็ดูว่าประโยคคำถามดังกล่าวพูดเป็นภาษาฝรั่งเศสอย่างไร หรือกรณีเจ็บป่วยไปหาหมอก็ยิ่งควรจะเตรียมคำศัพท์เฉพาะภาษาฝรั่งเศสเพื่อบรรยายถึงอาการของเรา

 

moving in ☺ #ย้ายบ้าน

A post shared by Kaimook Malany (@kaimookmalany) on Sep 1, 2017 at 8:49am PDT

4.1) การขอลงทะเบียนและขอใบอนุญาติพักอาศัย (titre de séjour)

โดยทั่วไปแล้ว การมาเรียนที่ประเทศฝรั่งเศสครั้งแรก เราจะขอวีซ่านักเรียนแบบระยะยาว  (มากกว่าสามเดือน) ซึ่งต่อให้หลักสูตรที่เราจะเรียนใช้เวลาสองปี เราก็จะได้วีซ่าครั้งแรกไม่เกินหนึ่งปีและจะมีแบบฟอร์ม OFII แนบมาด้วย ซึ่งเมื่อเรามาถึงฝรั่งเศสแล้วจะต้องจัดการกรอกและส่งเอกสารดังกล่าวไปที่ที่อยู่ของหน่วยงานที่เรียกว่า L’Office Français de l’Immigration et de l’Intégration (OFII) ที่ใกล้กับเมืองที่เราอยู่ โดยส่งทางไปรษณีย์พร้อมกับเอกสารอื่นๆที่ใบนั้นกำหนดเช่นสัญญาเช่าที่พักที่เราอาศัยอยู่ และสแตมป์ (timbre) ซึ่งเราซื้อล่วงหน้าได้ทางเว็บไซต์ คลิกที่นี่

โดยทั่วไป การมาเรียนครั้งแรกจะต้องซื้อสแตมป์ประเภท VLS-TS (étudiant) ราคา 60 ยูโร การส่งเอกสารทั้งหมดนี้ก็เพื่อจะขอใบอนุญาติพักอาศัย หรือ titre de séjour นั่นเอง ซึ่งเค้าจะติดไว้ในพาสปอร์ตเรา และทำให้เราเดินทางไปยังประเทศในกลุ่มเชงเก้นได้อีกด้วย

เมื่อส่งเอกสารไปแล้วก็รอ OFII ตอบกลับ โดยระยะเวลาการรอนั้นก็ขึ้นอยู่กับ OFII แต่ละศูนย์และช่วงที่เราส่งเอกสารว่าเป็นช่วงที่คนต่างด้าวเข้ามาเยอะไหม เรารอประมาณหนึ่งเดือน

OFII จะส่งจดหมายกลับมาให้เราสองครั้ง

  • ครั้งแรกจะเป็นยืนยันว่าได้รับเอกสารที่เราส่งแล้ว
  • จากนั้นอีกประมาณสองอาทิตย์เราก็ได้รับจดหมายนัดให้ไปที่ OFII เพื่อตรวจร่างกาย ตรวจเอกสาร และรับ titre de séjour

หนึ่งในการตรวจร่างกายก็จะมีการเอ็กซเรย์ปอด ถ้า OFII ประจำเขตของเรามีขนาดเล็ก เค้าก็จะให้เราไปเอ็กซเรย์ปอดที่โรงพยาบาล และส่งผลเอ็กซเรย์ไปให้เค้า แต่ OFII ในเขตเมืองใหญ่ๆ เช่น Marseille ก็จะให้เราตรวจร่างกายทุกอย่างในวันเดียวกันเลย

มีเทคนิคว่าเมื่อไปถึง OFII ตามเวลานัดแล้ว ให้บอกเค้าว่าเป็นนักเรียน เค้าจะพิจารณากรณีของเราก่อนคนต่างด้าวประเภทอื่นๆที่มาทำงานหรือมาอยู่อาศัยในฝรั่งเศส (แทรกคิวให้นั่นเอง) นอกจากเอ็กซเรย์ปอดแล้วเค้าก็จะถามเราเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพทั่วๆไป ประวัติการฉีดวัคซีน สำหรับผู้หญิงก็จะเจอคำถามเกี่ยวกับประวัติการมีเพศสัมพันธ์ การกินยาคุมกำเนิด หรือการตั้งครรภ์ด้วย หลังจากตรวจร่างกายเสร็จก็จะมีการตรวจเอกสาร สแตมป์ แล้วเจ้าหน้าที่ก็จะออก titre de séjour ให้เราติดใน passport ซึ่งครั้งแรกจะมีอายุตามระยะเวลาวีซ่าที่เราทำมาจากไทย

ดังนั้น ก่อนที่ titre de séjour จะหมดและเรายังจะต้องเรียนต่อ ก็ต้องดำเนินการนัดขอต่ออายุ titre de séjour ล่วงหน้าประมาณ 1-2 เดือนก่อนหมดอายุ ไม่ต้องไปขอวีซ่าที่ประเทศไทยใหม่

โดยการต่ออายุนี้เราก็ต้องซื้อสแตมป์ใหม่เป็นสแตมป์สำหรับต่ออายุเรียกว่า renouvellement de titre de séjour ซึ่งครั้งนี้ไม่ต้องไปดำเนินการที่ OFII แต่ไปที่หน่วยงานที่ขึ้นกับกระทรวงมหาดไทยเรียกว่า Préfecture แทน ซึ่งเราต้องเอาเอกสารทางการศึกษาไปให้เค้าดูว่าเรายังจะเรียนอีกกี่ปี เค้าก็ออก carte de séjour ซึ่งจะเป็บบัตรแยกต่างหาก ไม่ได้ติดใน passport แล้ว และให้ตามเวลาที่เราขอ เช่นถ้าจะเรียนต่อปริญญาเอกอีกสามปี เค้าก็จะออกบัตรให้สามปี

การขอ titre de séjour นี้มีความสำคัญและควรทำเป็นอันดับแรก เนื่องจากถ้าเราไม่ส่งเอกสารไปที่ OFII หรือถ้าไม่ไปต่ออายุหลังจาก titre de séjour หมดแล้วยังอยู่ต่อ ก็เท่ากับเราอยู่ในประเทศฝรั่งเศสแบบผิดกฎหมาย มีผลต่อการทำธุรกรรมอื่นๆเช่น ขอช่วยค่าที่พักไม่ได้ และไม่เข้าเงื่อนไขที่จะทำประกันสุขภาพของรัฐที่เรียกว่า PUM (Protection Maladie Universelle)

4.2) การเปิดบัญชีธนาคาร

ธุระอีกอย่างหนึ่งที่ควรทำเป็นอันดับแรกๆ เช่นกันคือการเปิดบัญชีธนาคารเนื่องจากการทำธุรกรรมเรื่องอื่นๆ ที่จะได้พูดในหัวข้อย่อยๆถัดไป เช่น การขอเงินค่าช่วยที่พัก หรือการทำประกันสุขภาพจะต้องใช้บัญชีธนาคารทั้งสิ้น

ประเทศฝรั่งเศสมีหลายธนาคารหลายธนาคารให้เลือกเปิดบัญชี หัวข้อนี้จะกล่าวถึงปัจจัยในการเลือกธนาคาร ซึ่ง อาจไม่มีธนาคารไหนที่มีเงื่อนไขที่ดีไปหมดทุกด้าน เช่น บางธนาคารยกเว้นค่ารักษาบัญชีให้กับนักเรียน แต่คิดค่าโอนเงินไปต่างประเทศสูงกว่าที่อื่น เป็นต้น ดังนั้นเราควรพิจารณาลักษณะการใช้เงินของตัวเองเพื่อตัดสินใจเลือกธนาคาร

นอกจากนี้ถ้าเรามาเรียน แค่ช่วงสั้นๆไม่ถึงหนึ่งปี บางธนาคารก็ปฏิเสธไม่ยอมเปิดบัญชีให้เรา ปัจจัยที่ควรคำนึงถึงและสอบถามธนาคารให้แน่ชัดได้แก่

  • 1) ความทั่วถึงของสาขาธนาคาร ข้อนี้มักไม่มีปัญหาถ้าเราเรียนอยู่เมืองขนาดกลางขึ้นไปเพราะจะมีธนาคารที่สำคัญๆอยู่แล้ว แต่บางธนาคารเช่น credit agricol เป็นธนาคารแบบภูมิภาค (régional) ดังนั้นถ้าเราเปิดบัญชีกับธนาคารนี้ที่เมืองหนึ่งแต่ต่อมาเราย้ายไปอีกเมืองหนึ่งซึ่งไม่มีธนาคารนี้ แม้จะกดเงินจาก ATM ได้แต่ถ้ามีปัญหาอะไรก็ไม่มีเจ้าหน้าที่ให้ปรึกษา
  • 2) มีค่ารักษาบัญชีหรือไม่ เท่าไหร่ นักเรียนได้รับยกเว้นไหม
  • 3) ค่าธรรมเนียมโอนเงินไปต่างประเทศ
  • 4) การใช้เงินเกินบัญชีหรือเป็นหนี้ จะคิดดอกเบี้ยเท่าไหร่ อย่างไร (เราเคยมีบัญชีติดลบตอนมาฝรั่งเศสใหม่ๆแล้วพาครอบครัวมาเที่ยวเพลิน เพิ่งมาอ่านเงื่อนไขที่หลังว่าธนาคารBNP Paribasที่เราเปิดบัญชีด้วย นอกจากดอกเบี้ยแล้วยังคิดค่าธรรมเนียมการรูดบัตร visa ครั้งละ 8 ยูโรโดยไม่คำนึงถึงจำนวนเงิน ซึ่งตอนนั้นเรารูดบัตรบ่อยมาก จึงส่งจดหมายไปหาธนาคารอธิบายด้วยความจริงใจว่าเราไม่ระมัดระวังเอง ไม่อ่านเงื่อนไขของธนาคารให้ดีก่อน ตอนเซ็นต์สัญญาเปิดบัญชียังอ่านภาษาฝรั่งเศสไม่ค่อยเข้าใจ ขอลดดอกเบี้ย/ค่าธรรมเนียมได้ไหม ทางธนาคารก็ยกเว้นให้)
  • 5) เรื่องอื่นๆตามที่แต่ละคนเห็นว่าสำคัญ

สำหรับขั้นตอบการเปิดบัญชีนั้น ไม่ได้เดินเข้าไปเปิดเสร็จสิ้นภายในวันเดียวเหมือนประเทศไทย แต่ต้องเริ่มจากการขอนัดกับธนาคารก่อน ซึ่งเราก็ต้องถามกับ receptionให้ดีว่า

  • ต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง
  • ขอเจ้าหน้าที่ที่พูดภาษาอังกฤษได้ไหม

เอกสารที่ต้องใช้ก็แตกต่างกันไปตามแต่ละธนาคาร หลักๆคือ

  • passport,
  • เอกสารแสดงที่พักอาศัยว่าเราอยู่ที่นี่จริงๆ เช่นบิลค่าน้ำค่าไฟ
  • ถ้าอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์ธนาคารก็อาจมีแบบฟอร์มให้โฮสกรอกว่าเราอยู่กับเค้าจริงๆ
  • เอกสารว่าเราเรียน หรือทำงานอะไรที่ฝรั่งเศส
  • บางที่อาจขอสูจิบัตรด้วย

เมื่อถึงเวลานัดเจ้าหน้าที่ก็จะกรอกข้อมูลเราและให้เราเซ็นต์เอกสารเยอะมาก ตรงนี้ต้องระวังเพราะธนาคารอาจให้เราเซ็นต์สัญญาทำประกันบ้าน ประกันสุขภาพไปในตัว ซึ่งจะหักค่าเบี้ยประกันจากบัญชีเราอัตโนมัติ ดังนั้นแม้เราจะไม่สามารถอ่านสัญญาทั้งหมดได้ละเอียดอยู่แล้ว ยิ่งเป็นภาษาฝรั่งด้วย สิ่งที่ควรทำคือบอกเค้าว่าเราไม่ทำประกันนะ ขอเปิดบัญชีอย่างเดียว

4.3) การขอเงินช่วยค่าที่พัก(aide au logement étudiant) จาก Caf

เนื่องจากประเทศฝรั่งเศสเป็นรัฐสวัสดิการ จึงมีหลายหน่วยงานที่ตั้งขึ้นเพื่อดูแลสวัสดิการของผู้ที่อาศัยในประเทศฝรั่งเศส (ไม่ได้จำกัดแค่คนสัญชาติฝรั่งเศส) เช่นเรื่องประกันสุขภาพ หรือเงินชดเชยจากการประสบอุบัติเหตุหรืเจ็บป่วยจากการทำงานเป็นต้น ทั้งนี้หน่วยงานที่เราในฐานะนักเรียนต่างชาติจะได้ข้องเกี่ยวก็คือการทำประกันสุขภาพ CPAM (Caisse primaire d’assurance maladie) และ Caisse d’allocations familiales (Caf) ซึ่งจะเป็นแขนงหนึ่งของระบบสวัสดิการฝรั่งเศสที่ดูแลด้านครอบครัว ข้อดีของการที่เราเป็นนักเรียนในประเทศฝรั่งเศสคือเราสามารถขอเงินช่วยค่าที่พัก (aide au logement étudiant) ซึ่งให้โดยไม่จำกัดสัญชาติ

โดย Caf จะให้ค่าช่วยที่พักเราประมาณ 30-50% ของค่าเช่าที่เราจ่ายขึ้นอยู่กับรูปแบบขนาดห้องที่เราอยู่ (ยิ่งห้องเล็ก สัดส่วนที่ให้ยิ่งสูง) รายได้และจำนวนบุคคลที่เราต้องดูแล (ถ้าต้องดูแลคนอื่นด้วยเช่นลูกก็จะได้เยอะกว่าอยู่คนเดียว หรือถ้าเป็นนักเรียนไม่มีรายได้ก็จะได้เงินช่วยมากกว่าคนทำงาน) และประเภทของที่พักอาศัย (ถ้าอยู่หอพักนักเรียนที่รัฐสนับสนุนหรือที่เรียกว่าCROUSก็มักจะได้เงินช่วยในสัดส่วนที่มากกว่าอยู่หอพักเอกชน)

ขั้นตอนคือเข้าไปที่เว็บไซต์ คลิกที่นี่ เลือก Faire une demande de prestation และกรอกข้อมูลซึ่งเค้าจะถามค่อนข้างละเอียดเช่นขนาดของห้องที่เราอยู่ รายได้ของเรา ที่อยู่ เลขบัญชีธนาคาร ฯลฯ เมื่อกรอกข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตเรียบร้อยแล้ว ทางเว็บไซต์ก็จะบอกมาว่าเราต้องส่งเอกสารอะไรไปให้ Caf ทางไปรษณีย์บ้าง ซึ่งก็จะเป็นเอกสารยืนยันข้อมูลที่เรากรอกไป เช่น

  • สูติบัตร
  • ทะเบียนสมรส
  • ใบรับรองการทำงาน หรือการลงทะเบียนเรียน
  • สัญญาเช่าบ้าน/ห้อง

นอกจากนี้เราเลือกได้ว่าจะให้ Caf โอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของเราโดยตรงหรือโอนไปที่ผู้ให้เช่าซึ่งเราก็จะจ่ายค่าเช่าถูกลง แล้ว Caf ก็จะส่งจดหมายมาให้เราพร้อมให้เลขประจำตัวและรหัสผ่านเผื่อให้เราล็อคอินเข้าบัญชีผู้ใช้งานในเว็บไซต์ของ Caf ได้

โดย Caf จะบอกว่ากำลังตรวจสอบเอกสารของเราอยู่ซึ่งกระบวนการนี้อาจใช้เวลา 2-3 เดือน เพราะบางทีเค้าก็จะขอเอกสารเพิ่มหรือทำเอกสารที่เราส่งไปแล้วหาย ทางเว็บไซต์ Caf ได้จัดทำเอกสารอธิบายขั้นตอนการขอค่าช่วยที่พักอย่างละเอียดเป็นภาษาอังกฤษ ดูได้ที่ คลิกที่นี่

 

 

Filed Under: Education Tagged With: Eiffel, ทุนรัฐบาลฝรั่งเศส, นักเรียนทุน, เรียนต่อ

เคล็ดลับเขียน Statement of Purpose

March 23, 2017 By KaiMook McWilla Malany Leave a Comment

เคล็ดลับเขียน Statement of Purpose

  • บทความนี้ต่อเนื่องจาก Study Plan / Statement of Purpose คืออะไร ควรเขียนอย่างไร (คลิกที่ชื่อบทความ)
  • บทความเชื่อมโยง การเขียน Résume / CV (คลิกที่ชื่อบทความ)

งานเขียน Statement of Purpose / Motivation Letter ที่ฉันเคยตรวจจากเพื่อนชาว wanderfulminds ที่ส่งมาให้ฉันดู หลายงานค่อนข้างจะเขียนมาในเป็นแนวทางที่ไม่ควรเป็น 🙁

บางท่านเขียนเกริ่นยาวว่าตัวเองเรียนจบจากมหาวิทยาลัยอะไรในประเทศไทย บอกว่ามหาวิทยาลัยนั้น (ที่ตนเองจบมา) เป็นมหาวิทยาลัยที่ดีเด่นโด่งดังในไทยมากแค่ไหน

“I recently graduated from the University of XXX, which is the best school in Thailand. The university is also the oldest university famous for science …”

ตามด้วยบอกว่าต้องการเรียนต่อที่ประเทศ … ด้านรัฐศาสตร์/วิทยาศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของประเทศนั้นๆ โดยให้เหตุผลว่า เป็นมหา’ลัยที่ดี มีชื่อเสียง มีอาจารย์ดัง เก่งและเขี่ยวชาญ ทำให้คิดว่าตัวฉัน (ผู้สมัคร) จะได้รับความรู้เฉพาะทางเอามาใช้กับตัวเองเพื่อพัฒนาประเทศและสร้างความก้าวหน้าทางอาชีพ

ลองค่อยๆ พิจารณาดูนะคะ ว่า ตัวอย่างนี้ ดีหรือแย่อย่างไร?

i. เรียนจบจากไหน?

ฉันคิดว่าการบอกว่าตัวเองเรียนจบจากมหาวิทยาลัยชั้นนำจากประเทศไทย และเอ่ยชมมหาวิทยาลัยของตน ไม่ได้ทำให้ตัวผู้สมัครดูโดดเด่นไปกว่าคนอื่นเลย ขณะอ่านเอกสาร คณะกรรมการคงจะงงและตั้งคำถามว่า “คุณชมมหาวิทยาลัยของคุณทำไม” ในเมื่อสาเหตุที่เราสมัครคือเราต้องการไปเรียนที่มหาวิทยาลัยอื่น

บางท่านแทนที่จะเขียนเล่าว่าตนเองต้องการเรียนต่อสาขานั้นเพราะอะไร หรือเขียนว่าตัวเองมีคุณสมบัติอะไรที่เกี่ยวข้องกับสาขาที่จะเรียน กลับเขียนบทความ “ชื่นชม” และให้ข้อมูลเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยนั้นๆ มากกว่าจะเขียนบอกเกี่ยวกับ “ตัวผู้สมัคร”

ii. เขียนว่ามหา’ลัยที่เราจะเรียนมีดี?

“I’m applying to your program at the University of XXX because it is the best school. The school is full of the best professors who are specialized in the field in which I’m interest.”

แบบนี้ก็ไม่ควรเขียนนะคะ

อย่างที่เคยเขียนไว้ในบทความก่อน เราไม่ต้องชมเค้ามากมายหรอกค่ะ เพราะว่าเค้ารู้อยู่แล้วว่าเค้ามีชื่อเสียง หรือหากเค้าไม่มีชื่อเสียงเค้าก็รู้อยู่แล้วว่าเราสมัครไปเพราะว่าเราชื่นชอบอะไรสักอย่างในตัวมหาวิทยาลัยนั้นๆ

ฉันไม่ได้บอกว่าเราชมมหาวิทยาลัยหรือชมครูอาจารย์ไม่ได้ แต่การเขียนเรียงร้อยถ้อยคำ และการจัดวางรูปประโยค/โครงสร้างภาษา เราสามารถพลิกแพลงให้ดูมีเอกลักษณ์และมีภาษาที่น่าดึงดูดได้มากกว่า

ดังนั้น สิ่งที่เราควรจะเขียนคือประยุกต์ความดี (ไม่ว่าจะ อาจารย์ งานตีพิมพ์ ผลงานวิชาการ มีแล็บครบถ้วน ฯลฯ) ของมหาวิทยาลัยนั้นๆ ให้เป็นเนื้อเรื่องสอดคล้องกับสาเหตุที่เราอยากเรียน หรือการเล่นกับภาษานั่นเอง

“I apply to this program because of the challenging coursework and the excellent facilities …”

แทนที่จะเขียนตามว่าข้างต้น เราก็เขียนให้เชื่อมโยงกับตัวเรามากขึ้นว่า coursework อะไรที่ดึงดูดเรา ยกตัวอย่างออกมาแล้วเพิ่มเติมว่า มันถึงดึงดูดเราอย่างไร

ในเรื่องของ facilities ก็ควรเขียนไปในอีกทิศทางที่ว่าเราสามารถทำอะไรได้กับ facilities เหล่านี้ เราจะใช้ facilities เหล่านี้ให้เกิดประโยชน์กับงานวิจัยของเรา (หรืองานอื่นๆ) ได้หรือไม่ อย่างไร จะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด บรรยายออกมาให้เป็นรูปเป็นร่าง ให้จับต้องได้

และควรเขียนให้เนื้อความโดดเด่นจากคนอื่น มีเอกลักษณ์ และคำนึงว่าเขียนอย่างไรให้คณะกรรมการที่ต้องอ่านเอกสารมากๆ จำเราได้

สิ่งที่ควรเขียน 🙂 

1. เขียนให้เจาะจง:

ไม่ควรเขียนให้กว้างเกินไป หากบอกว่าอยากเรียนจิตวิทยา ควรบอกไปเลยค่ะว่า “สาขาไหนหรืออะไรของจิตวิทยา” หากต้องการเรียนรัฐศาสตร์ ควรบอกไปเลยว่า จุดที่ทำให้เราอยากเรียน/ชอบ คือ ในมุมมองเรื่อง สังคม (สังคมด้านไหน?) การเมือง (อะไรของการเมือง) เศรษฐกิจ (เขียนเจาะจงลงไปว่ามุมมองไหนของเศรษฐกิจ) เป็นต้น

อย่าลืมนะคะว่า ต้องโยงเรื่องให้เกี่ยวข้องกับตัวเราเองมากที่สุด ว่าตัวเราจะทำอะไรกับมันให้ออกมาอยู่ในรูปของสังคม (what can you do (with your interest)?, how can you contribute it to the society?)

2. เขียนให้เรื่องราวน่าติดตาม:

ไม่เขียน fact อย่างเดียว เพราะมันน่าเบื่อ แต่พยายามดึงความรู้สึกออกมาด้วย
จาก “I’m interested in …” อาจจะเขียนว่า “I’m deeply passionate about …”

3. ใช้ภาษาให้ดึงดูด:

จาก “it will be good for …” สามารถเขียนว่า “it will be tremendously beneficial to …”

4. ใช้ประโยคหลากหลาย:

การเขียนประโยคสั้นๆ หลายประโยค มันค่อนข้างจะจืดชืดนะคะ
จาก “I studied hard. I also participated in school activities. I did volunteer too.” แก้เป็น “Besides painstakingly studying at school, I happily participated in extra curricular activities such as … where I learned about … where I experienced … “

5. ใช้คำเชื่อม:

moreover, furthermore, additionally, however, nevertheless, despite, in spite of, …

6. หาจุดเชื่อมโยง:

โยงทุกอย่าง ทุกย่อหน้า ทุกสิ่งที่เขียน ให้เนื้อหาเป็นเหตุเป็นผลเชื่อมโยงเข้าหากัน จัดโครงสร้างแต่ละย่อหน้าให้ดี ให้ลื่นไหลเวลาอ่าน และทุกประโยค ทุกถ้อยคำที่เขียนมีค่า มีความหมาย ขณะที่เขียนให้นึกเสมอว่า

เราเขียนประโยคนี้เพื่ออะไร ประโยคนี้มีใจความต่อเนื่อง/เชื่อมโยงกับประโยคก่อนหน้าและประโยคที่จะตามมาหรือไม่ อย่างไร

สิ่งสุดท้ายที่ขอเตือน ฉันเคยย้ำแล้วในบทความก่อนหน้านี้ “เขียนให้เป็นรูปธรรมมากที่สุด” ให้จับต้องได้ ว่า “เพราะ” อะไร ไม่บอกแค่ว่า “ดี/ชอบ/สนใจ/สนุก” แต่อธิบายว่า ดีเพราะ ชอบเพราะอะไร สนใจเพราะอะไร อะไรทำให้สนุก

“I want to be a scientist because I love science”

แบบนี้ไม่ดี ไม่เอานะคะ ทำไมถึงรักวิทยาศาสตร์ ครุ่นคิดมันออกมา ดึงความรู้สึก หาสาเหตุออกมาให้ได้ และทำให้คณะกรรมการเห็นภาพ จับต้องความรู้สึกนั้นของเราให้ได้

แนวทางการเขียน Statement of Purpose / Motivation Letter ไม่มีถูกหรือผิด นะคะ ต่างคนมีความชอบไม่เหมือนกัน หนังสือเล่มเดียวกันหรือหนังเรื่องเดียวกันก็ใช่ว่าทุกคนจะชอบ แต่ไม่ว่าจะหนังสือ ภาพยนตร์ หรืองานเขียน ทุกอย่างมีการจัดวางโครงสร้าง โครงเรื่อง มีองค์กระกอบ (ตัวละคร ภาพ ฉาก แสงสี) ที่รวมกันเป็นเนื้อเรื่อง

—

บทความนี้ที่ฉันเขียนขึ้นมาเป็นความเห็นส่วนตัว จากประสบการณ์ที่สั่งสมมา ไม่ว่าจะเขียนเองจากการสมัครเรียน สมัครอบรม ตรวจให้คนอื่น หรือจากการพูดคุยกับคณะกรรมการกับอาจารย์มหาวิทยาลัย

ท้ายที่สุดก่อนส่งใบสมัคร ผู้สมัครเองคือคนที่ตัดสินใจว่า พร้อมส่งแล้วหรือยัง ดังนั้น ปรึกษาคนรอบข้างเยอะๆ ให้เพื่อน ให้ครูอาจารย์อ่าน ขอคำแนะนำ

 

เป็นกำลังใจให้ทุกคนค่ะ 🙂

 


  • รับแก้/ตรวจ/เขียนงาน คลิกที่นี่

 

Filed Under: Education Tagged With: Statement of Purpose

การเขียน Résume / CV

March 23, 2017 By KaiMook McWilla Malany Leave a Comment

ทั้งสองอย่างนี้คือสิ่งเดียวกันนะคะ Résume เป็นภาษาฝรั่งเศส ส่วน CV ย่อมาจาก Curriculum Vitae เป็นภาษาละติน แปลว่า “เส้นทางของชีวิต” หรือก็คือใบบอกประวัติชีวิตเรานั่นเอง

เค้าเรียกกันต่างกันเพราะว่าแต่ละประเทศใช้คำต่างกันเท่านั้น (คำว่า résume ใช้มากที่สหรัฐและแคนาดา คำว่า CV มักพบบ่อยในอังกฤษ) ไม่ได้มีความแตกต่างในเชิงการเขียนหรือเชิงความหมายเลย

จะสมัครเรียนหรือสมัครงาน โรงเรียน/มหาวิทยาลัย หรือสถานที่ทำงาน/ฝึกงาน ล้วนขอเอกสารเหล่านี้ทันนั้น

คำถามคือ ???

  1. แล้วจะเขียนอะไรล่ะ
  2. ไม่ควรเขียนอะไรบ้าง
  3. ความยาวแค่ไหนดีถึงจะพอ
  4. จัดวางให้ข้อมูลอะไรก่อนดี
  5. เรียบง่ายหรือสีสัน
  6. Résume/ CV ที่ดีควรมีลักษณะอย่างไร
  7. ตัวอย่างมีไหม

ภาพจาก businesspundit

 เขียนอะไรดี

ข้อมูลที่กรอกเข้าไปในเอกสารนี้ แม้จะแตกต่างไปตามวัตถุประสงค์ว่าเอาไปใช้ทำอะไร สมัครงาน ฝึกงาน หรือ เรียนต่อ ข้อมูลหลักๆ ที่ควรใส่เข้าไปก็หนีไม่พ้น

  • ข้อมูลเราเอง: ชื่อ สกุล ที่อยู่ อีเมล์ เบอร์ติดต่อ
  • การศึกษา: รายชื่อสถานศึกษาที่เราเคยเข้าเรียน ใส่เกรดด้วยก็ดีหากเกรดสวย และถ้าได้เกียรตินิยมหรือเรียนโปรแกรมพิเศษที่ทำให้เราดูเด่นขึ้นมาจากคนอื่น ก็ควรใส่ด้วย
  • ประสบการณ์การทำงาน: ส่วนนี้คือตั้งแต่ในอดีตว่าเราเคยมีงานอะไรบ้าง “ที่เกี่ยวข้อง” กับสิ่งที่เราสมัคร ข้อสำคัญคือไม่ควรใส่เฉพาะหัวข้อ/ชื่อที่ทำงาน/ที่ฝึกงาน แต่ให้บอกรายละเอียดด้วยว่าตำแหน่งหน้าที่เราคืออะไร ทำมานานแค่ไหนแล้ว เช่น

ASEAN Brunei, 2015

Represented Thailand as an ambassador to share and exchange cultures and experiences both socially and academically in Brunei (University of Brunei Darussalam)

ให้สังเกตุด้วยน้าว่าควรใส่ปีที่ร่วมกิจกรรมนั้นๆ ด้วย ปีอาจจะอยู่ด้านหน้า หรือด้านหลัง ก็ได้ค่ะ แต่ว่าต้องมีคามสม่ำเสมอ (consistent)

2015 ASEAN Brunei

Represented Thailand as an ambassador to share and exchange cultures and experiences both socially and academically in Brunei (University of Brunei Darussalam)

ไม่ควรเขียนอะไรบ้าง

  • วันเดือนปีเกิด
  • รูปภาพ

สองสิ่งนี้ไม่ได้จำเป็นนะคะ ภาพเนี่ยถ้าหากไม่ได้สมัครงานที่ใล้ภาพลักษณ์เป็นส่วนประกอบสำคัญในการพิจารณา อย่างเช่น เป็นนักแสดง เป็นโมเดล ภาพ หุ่น สัดส่วนก็ไม่จำเป็นต้องใส่

ความยาวแค่ไหนดี

โดยทั่วไปแล้วก็ 2 หน้ากระดาษ A4 (หน้า-หลัง) แต่หากมีประสบการณ์มากโดยเฉพาะสมัครในสาขานักวิชาการ (scholar/academic) อาจจะยาวเป็นกรณีพิเศษ เพราะว่าอาจต้องบอกงานตีพิมพ์หรืองานสอนด้วย

จัดวางข้อมูลอะไรก่อนดี

  • ข้อมูลส่วนตัว
  • การศึกษา
  • ประสบการณ์ทำงาน
  • ประสบการณ์อาสาสมัคร
  • (ทักษะภาษา)
  • (งานอดิเรก)

ส่วนที่สำคัญที่สุดคือประสบการณ์ที่เกี่ยวข้อง หากผู้สมัครมีประสบการณ์มาก สามารถแบ่งเป็นหัวข้อย่อยออกได้อีก เช่น ประสบการณ์ด้านวิชาการ (academic experiences) ประสบการณ์ทางอาชีพ (professional experiences)

ที่วงเล็บไว้ข้างต้น ทักษะภาษา และ งานอดิเรก ผู้สมัครต้องคำนึงว่าสิ่งเหล่านี้จำเป็นหรือไม่ และหากเราใส่ลงไปจะทำให้เราโดดเด่นกว่าคนอื่นอย่างไร หรือไม่

หากสมัครเป็นล่าม หรือบริษัทต่างประเทศที่ต้องใช้ภาษาอังกฤษหรือภาษาที่สาม การใส่ทักษะทางภาษาก็สำคัญไม่น้อย

งานอดิเรกที่ใส่ หากบอกว่าชอบดูหนัง แล้วสมัครไปเป็นนักวิจารณ์/วิเคราะห์ภาพยนตร์ แบบนี้ใส่ลงไปก็ไม่ผิดค่ะ

เรียบง่ายหรือสีสัน

อันนี้แล้วแต่วัตถุประสงค์เลยค่ะ หากสมัครด้านการตลาด หรือในวงการครีเอทีฟต่างๆ ที่ต้องการบุคคลที่เชี่ยวชาญด้านการออกแบบหรือมีความคิดสร้างสรรค์สูง ส่ง résume/CV ที่ดูเด่นด้วยสีไปก็ดีกว่าเรียบง่ายธรรมดาไม่น้อย ทั้งนี้ทั้งนั้นตัวผู้สมัครคือคนที่ต้องพิจารณาและตัดสินใจเองแล้วล่ะค่ะ ว่าควรสีสันฉูดฉาด และมีลวดลายมากน้อยแค่ไหน

หากสมัครเรียนต่อธรรมดาทั่วไป เรียบและเป็นทางการไว้ดีที่สุดค่ะ

ตัวอย่าง Résume / CV แบบสีสันและแบบลวดลายไม่มากจนเกินงาม 🙂

Résume/ CV ที่ดีควรมีลักษณะอย่างไร

  • ถูกไวยากรณ์
  • ไม่พิมพ์ผิด
  • สม่ำเสมอ: อังกฤษแบบอังกฤษ หรืออังกฤษแบบอเมริกา
  • แบ่งเป็นข้อ: มี bullet point ช่วยให้อ่านง่าย เว้นวรรคตอนให้ถูกต้องสม่ำเสมอ

ดูตัวอย่าง résume/CV 

  • ทั่วไป คลิกที่นี่
  • วิชาการ/การศึกษา คลิกที่นี่

 

ขอคำแนะนำความช่วยเหลือ résume/CV สามารถทิ้งคำถามไว้ได้ที่ใต้คอมเมนต์ข้างล่าง หรือสอบถามได้ คลิกที่นี่ เลยค่า

การเขียน Statement of Purpose / Motivation Letter คลิกที่นี่

 

Filed Under: Education

เรียนต่อฝรั่งเศส 4

March 22, 2017 By KaiMook McWilla Malany Leave a Comment

แนะนำการเตรียมตัวเรียนต่อปริญญาโทที่ประเทศฝรั่งเศสและทุนรัฐบาลฝรั่งเศส (Eiffel Excellence Scholarship Programme)

ผ่านกันมาแล้ว 3 หัวข้อเรื่องเกี่ยวกับการเรียนต่อที่ประเทศฝรั่งเศส

  1. เริ่มหาทุน คลิกที่นี่
  2. เรียนภาษาฝรั่งเศสที่ประเทศฝรั่งเศส (มีสองตอน คือ คลิกที่นี่ และ คลิกที่นี่)
  3. เลือกและสมัครมหาวิทยาลัยพร้อมกับขอทุน Eiffel 
  4. การขอลงทะเบียนและขอใบอนุญาติพักอาศัย (titre de séjour)
  5. ประสบการณ์ในการเรียน Master 1 Droit Public ที่ Aix Marseille Université
  6. ประสบการณ์สมัครฝึกงานในองค์การระหว่างประเทศ

จากนี้ เราจะมาดูรายละเอียดเรื่อง การเลือกและสมัครมหาวิทยาลัยพร้อมกับขอทุน Eiffel

 

ผิงผิง: ทุน Eiffel ปี 2016

 

3) เลือกและสมัครมหาวิทยาลัยพร้อมกับขอทุน Eiffel

เมื่อดูจากเว็บไซต์จะเห็นว่า ทุน Eiffel เปิดรับสมัครช่วงเดือนตุลาคม-เดือนมกราคม แต่นั่นไม่ใช่ deadline สมัครทุนของเรา แต่เป็นของมหาวิทยาลัยที่จะต้องคัดเลือกและส่งชื่อเราไปเป็น candidate ต่างหาก โดยเราเลือกมหาวิทยาลัยได้แห่งเดียวเท่านั้น ถ้ามีมหาวิทยาลัยมากกว่า 1 แห่งส่งชื่อเราไป เราจะโดนตัดสิทธิ์ทันที

ดังนั้นเราจะต้องศึกษาจากแต่ละเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยว่าถ้าจะขอทุน Eiffel ด้วยจะต้องยื่นเอกสารอะไรไปบ้าง ที่ไหน อย่างไร ภายในวันไหน ซึ่งอย่าลืมว่าทุนนี้ให้เฉพาะบางสาขาเท่านั้น ดังนั้นถ้าในเว็บไซต์มหาวิทยาลัยไม่ได้บอกว่าต้องติดต่อใคร ให้ส่งอีเมลล์ถามแผนกต่างประเทศของมหาวิทยาลัย (Direction des relations internationales) หรือผู้รับผิดชอบหลักสูตรที่เราอยากเรียน (Responsable de la formation) โดยทั่วไปแล้วมหาวิทยาลัยหลายที่จะกำหนด deadline สำหรับผู้สมัครที่จะขอทุน Eiffel ด้วยไว้ที่เดือนพฤศจิกายน ซึ่งจะเร็วกว่าช่วงรับสมัครปรกติเกือบครึ่งปี

ในขณะที่ทุน franco-thai ต้องการให้เราสมัครกับมหาวิทยาลัยก่อนเหมือนกันและค่อยมาสมัครทุนผ่านทางเว็บไซต์โดยมี deadline ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ แต่จะแตกต่างกันที่มหาวิทยาลัยไม่ได้มีส่วนในการคัดเลือกให้ทุนกับเรา หลายๆ แห่งอาจจะไม่รู้จักทุน franco-thai เราจึงสมัครไปได้หลายๆ ที่โดยอธิบายให้มหาวิทยาลัยเข้าใจว่าเราจะสมัครทุน franco-thai ซึ่งทำให้เราต้องขอสมัครก่อนระยะเวลารับสมัครปรกติ เค้าเค้าพิจารณาคัดเลือกเราก่อนผู้สมัครรายอื่นๆ ไม่ได้ก็ให้เค้าออกใบรับรองระบุว่าเราได้ส่งใบสมัครมาที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้แล้ว แล้วเราก็เอาใบรับรองหรืออย่างน้อยก็อีเมลล์ไปยื่นกับทุน franco-thai ซึ่งถ้าเราได้ทุนจริงๆ การให้ทุนก็จะอยู่ใต้เงื่อนไขว่าเราต้องได้รับการตอบรับจากมหาวิทยาลัยอย่างเป็นทางการ

3.1) เลือกหลักสูตรและมหาวิทยาลัย

รายละเอียดหลักสูตรของสาขาต่างๆดูได้ในเว็บไซต์ของแต่ละมหาวิทยาลัย หรือดู catalogue ว่ามีมหาวิทยาลัยไหนที่เปิดหลักสูตรที่เราอยากเรียนได้ที่เว็บไซต์ campusfrance ควรดูให้ละเอียดเพราะแม้จะชื่อหลักสูตรเดียวกันแต่มหาวิทยาลัยแต่ละที่ก็วางโครงสร้างหลักสูตร จำนวนวิชา จำนวนชั่วโมง ความกว้าง ความลึกของหลักสูตรแตกต่างกันไป นอกจากนี้ควรคำนึงถึงเมืองที่มหาวิทยาลัยนั้นตั้งอยู่ด้วยซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคนว่าชอบอยู่เมืองใหญ่หรือเมืองเล็ก ค่าครองชีพประมาณเท่าไหร่

 

ไข่มุก หน้าพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ (Louvre) – ไม่เกี่ยวกับทุนค่ะ โชว์ความติงตองและความยืดหยุ่น  55

หลายๆคนอาจจะสงสัยว่า เลือกเรียนตั้งแต่ Master 1 (2 ปี) หรือ เข้าMaster 2 (1 ปี) เลยดี?

เนื่องจากทุน Eiffel ให้เราเลือกได้ว่าจะสมัครเรียนปริญญาโทระดับไหนก็จะได้เงินทุนตามระยะเวลานั้น เราจึงขออธิบายว่า โดยปรกติแล้ว หลักสูตรปริญญาตรีของประเทศฝรั่งเศส (Licence) มีระยะเวลาสามปี และหลักสูตรปริญญาโท (Master) มีระยะเวลาสองปี ดังนั้นนักเรียนไทยซึ่งเรียนปริญญาตรีที่ประเทศไทยมาสี่ปีแล้ว ได้จำนวนหน่วยกิตมากกว่านักเรียนที่จบปริญญาตรีที่ประเทศฝรั่งเศสซึ่งมักจะสมัครเข้าเรียน Master 2 กล่าวคือปริญญาโทในปีที่สองได้เลย หรืออยากจะเรียนตั้งแต่ Master 1 ก่อนก็ได้

ทั้งนี้ Master 1 จะเป็นการเรียนเน้นทางสาขาแล้วแต่ยังไม่เฉพาะมากเท่า Master 2 เช่น Master 1 มีสาขา Droit Public (กฎหมายมหาชน) พอขึ้น Master 2 ก็จะแบ่งเฉพาะออกไปอีกเช่น Droit Public des Affaires, Droit Public Approfondi, ฯลฯ

นอกจากนี้ Master 1 จะเน้นเรียนเป็นห้องเลคเชอร์ใหญ่ๆ (cours magistraux) และมีคาบสัมนาเป็นกลุ่มย่อยๆ ที่จะมีการเก็บคะแนนจากการมีส่วนร่วมและส่งงาน (travaux dirigés) ก่อนจบหลักสูตรอาจให้เลือกระหว่างฝึกงานช่วงสั้นๆ หรือเขียนรายงานในหัวที่เลือกเองประมาณสี่สิบหน้า ในขณะที่ Master 2 จะเรียนห้องละไม่มากนัก ไม่มี TD เน้นทำรายงาน และทำ mémoire ตอนจบหลักสูตรประมาณ 100 หน้า

เราเลือกเรียนตั้งแต่ Master 1 ซึ่งเรียนหนักมาก เรียน 12 วิชาในหนึ่งปี และมี TD 4 วิชา แต่ข้อดีคือหาเพื่อนได้ง่ายเพราะมักมีนักเรียนฝรั่งเศสหลายๆคนที่ย้ายจากเมืองอื่นมาเรียน Master1 มหาวิทยาลัยเดียวกับเรา เมื่อต่างคนต่างใหม่จึงอยากจะทำความรู้จัก ช่วยกันเรียน ไปเที่ยวรอบๆเมืองด้วยกัน ข้อดีอีกอย่างหนึ่งคือเราจะมีประสบการณ์เกี่ยวกับการเรียนในระบบฝรั่งเศสอย่างเข้มข้น ผ่านแบบฝึกหัดและข้อสอบมาหลากหลายทำให้เตรียมความพร้อมได้ดีสำหรับการเรียน Master 2 ในปีถัดไป (ไว้เดี๋ยวเขียนในหัวข้อประสบการณ์ตอนผิงเรียนMaster1น้า ผิงก็ต้องหาเพิ่มเหมือนกันเพราะกำลังจะสมัครMaster 2:))

3.2) เอกสารประกอบการสมัคร

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าแต่ละมหาวิทยาลัยจะกำหนดเองว่าใช้เอกสารอะไรบ้างในการสมัคร โดยมากแล้วเอกสารที่ใช้ก็คือ

  • transcript และใบจบการศึกษาพร้อมระบุลำดับที่,
  • จำหมายแนะนำตัว,
  • จดหมายแนะนำจากอาจารย์หรือที่ทำงาน,
  • ผลสอบภาษาฝรั่งเศส

ซึ่งเอกสารเกี่ยวกับหลักฐานการศึกษาต้องแปลเป็นภาษาฝรั่งเศส เราให้สมาคมฝรั่งเศสแปลหน้าละ 500 บาท ส่วนถ้าจะสมัครหลักสูตรภาษาฝรั่งเศส จดหมายแนะนำตัวหรือ Lettre de motivation ก็ต้องเขียนเป็นภาษาฝรั่งเศส โดยไม่ควรเกินสองหน้า โดยมีหลักการเขียนไม่ต่างจากที่คนอื่นๆ แนะนำไว้

การเขียน Letter of Motivation (Motivation Letter) และ/หรือ Statement of Purpose คลิกที่นี่

กล่าวคือต้องตอบให้ได้ว่า

  • ทำไมอยากมาเรียนที่ฝรั่งเศส ที่มหาวิทยาลัยนี้ หลักสูตรนี้ สาขานี้ (ตรงนี้เราควรศึกษาดูว่ามหาวิทยาลัยนี้โดดเด่นในสาขาที่เราจะสมัครอย่างไร มีอาจารย์ท่านไหนที่มีงานเขียนหรืองานวิจัยตรงกับเรื่องที่เราสนใจ)
  • เรียนจบแล้วจะเอาไปทำอะไร
  • ทำไมการได้ทุนถึงสำคัญกับเรา

ควรเขียนให้ชัดเจน เช่น เราเขียนว่าชอบหลักสูตร M1 กฎหมายมหาชนที่มหาวิทยาลัย Aix-Marseille เพราะหลักสูตรมีความยืดหยุ่นและผสมผสานหลายสาขาวิชาเข้าด้วยกัน เราก็จะยกตัวอย่างว่า เราสามารถเลือกวิชาในสาขากฎหมายระหว่างประเทศได้ เช่น… ซึ่งทำให้เราเห็นภาพรวมของกฎหมายสิทธิมนุษยชนไม่ใช่แค่ในระดับภายในประเทศ แต่รวมถึงตามกลไกของสหภาพยุโรปและในระดับระหว่างประเทศด้วย เป็นต้น

สำหรับจดหมายรับรองหลายมหาวิทยาลัยอนุญาติให้เป็นภาษาอังกฤษได้

นอกจากเอกสารที่เค้ากำหนด เราก็ส่งเอกสารอื่นประกอบไปด้วย เช่น ตัวอย่างงานเขียนเชิงวิชาการเป็นภาษาอังกฤษ CV ซึ่งเขียนเป็นภาษาฝรั่งเศสและมีรูปแบบเฉพาะ โดยสามารถหาตัวอย่างได้ในอินเตอร์เน็ต ทั้งนี้ให้ลองหาตัวอย่างในสาขาเดียวกับเรา เช่นเราดูจาก CV ของอาจารย์หลายๆ ท่านที่อยู่ในเว็บคณะนิติศาสตร์ แน่นอนเราไม่ได้มีประวัติยาวๆ เหมือนเค้าแต่เราก็จะเห็นคำศัพท์ทางกฎหมายต่างๆที่เราอาจนำมาปรับใช้ได้ CV ก็ไม่ควรเกินสองหน้า

และ ควรมี keyword อธิบายสั้นๆเกี่ยวกับประสบการณ์ทำงานหรือกิจกรรมที่เราทำ เช่นแทนที่จะเขียนแค่ว่าเราเคยทำ moot court กฎหมายระหว่างประเทศ ก็ใส่ keywords หรือคำบรรยายสั้นๆว่า moot court นั้นมีประเด็นเกี่ยวกับ justice transitionnelle, disparition forcée หรือในส่วนประสบการณ์ทำงานเราบอกว่าเคยเป็น junior research assistant เราก็จะบอกไปด้วยว่าหัวข้อวิจัยคืออะไร และเรามีบทบาทอะไร แค่ไหนในงานวิจัยชิ้นนี้

เมื่อเราส่งเอกสารให้มหาวิทยาลัยครบถ้วน มหาวิทยาลัยก็จะพิจารณาใบสมัครของนักเรียนต่างชาติทั้งหมดที่สมัครสาขาเดียวกันกับเราและขอทุน Eiffel ด้วย

หากเราได้รับคัดเลือก มหาวิทยาลัยก็จะแจ้งให้เราทราบว่าเค้าจะส่งเราไปเป็น Candidate ให้คณะกรรมการทุน Eiffel คัดเลือกอีกที ซึ่งช่วงนี้เค้าก็จะมีเอกสารให้เรากรอกเพิ่มเติม โดยถ้าเราต้องการจะเรียนภาษาก่อนเข้าเรียน เราก็ต้องขอให้มหาวิทยาลัยระบุไปด้วย และทุน Eiffel ก็จะขยายระยะเวลาให้ทุนเราเพิ่มอีกสองเดือนในช่วงเรียนภาษา จากนั้นภายในเดือนมีนาคม ก็จะมีการประกาศผลทุนทางเว็บไซต์และทางอีเมลล์ของผู้สมัคร

 

 

Filed Under: Education Tagged With: Eiffel, ทุนรัฐบาลฝรั่งเศส, นักเรียนทุน

เรียนต่อฝรั่งเศส 3

March 21, 2017 By KaiMook McWilla Malany Leave a Comment

แนะนำการเตรียมตัวเรียนต่อปริญญาโทที่ประเทศฝรั่งเศสและทุนรัฐบาลฝรั่งเศส (Eiffel Excellence Scholarship Programme)

บทความนี้ต่อจากบทความเกี่ยวกับ การเรียนภาษาฝรั่งเศสที่ประเทศฝรั่งเศส คลิกที่นี่ สำหรับข้อมูลเรื่อง การเลือกสถาบันสอนภาษา และรูปแบบที่พัก สำหรับ ประเภททุนต่างๆ เพื่อศึกษาต่อที่ประเทศฝรั่งเศส คลิกที่นี่

เนื้อหาโดยรวมของแนะนำเรียนต่อฝรั่งเศส ดังนี้

  1. เริ่มหาทุน
  2. เรียนภาษาฝรั่งเศสที่ประเทศฝรั่งเศส 
  3. เลือกและสมัครมหาวิทยาลัยพร้อมกับขอทุน Eiffel
  4. การขอลงทะเบียนและขอใบอนุญาติพักอาศัย (titre de séjour)
    1. การขอลงทะเบียนและขอใบอนุญาติพักอาศัย (titre de séjour)
    2. การเปิดบัญชีธนาคาร
    3. การขอเงินช่วยค่าที่พัก(aide au logement étudiant) จาก Caf
  5. ประสบการณ์ในการเรียน Master 1 Droit Public ที่ Aix Marseille Université
  6. ประสบการณ์สมัครฝึกงานในองค์การระหว่างประเทศ 

ทุนรัฐบาลฝรั่งเศส (Eiffel Excellence Scholarship Programme)

2.3) การเรียนภาษาฝรั่งเศส

การเรียนการสอนภาษาฝรั่งเศสที่นี่มักจะแบ่งระดับชั้นตั้งแต่ A1 ถึง C1 ซึ่งก็ซอยย่อยไปอีกเช่น A1.1 A1.2 … โดยในวันแรกที่เราไปถึงโรงเรียนเค้าจะให้ทำแบบทดสอบที่มีฟัง พูด อ่าน เขียน เราเริ่มเรียนจาก A1.4 ที่ Cavilam ห้องเรียนมีนักเรียนไม่เกิน 15 คน ซึ่งจะเป็นคอร์สเรียนภาษาหลักที่เรียนทุกวันประมาณสามชั่วโมง จากนั้นตอนบ่ายจะมีวิชาเลือกซึ่งทางสถาบันก็จะระบุว่าวิชาเลือกแต่ละวิชานักเรียนระดับไหนเรียนได้บ้าง เช่น แกรมม่า คำศัพท์ วัฒนธรรมฝรั่งเศส เตรียมสอบ Delf ระดับต่างๆ หรือภาษาฝรั่งเศสสำหรับเตรียมเข้ามหาวิทยาลัยสำหรับนักเรียนในระดับปานกลางหรือสูง (B2-C1)

อย่างที่ได้กล่าวไปว่าสถาบันเอกชนจะมีความยืดหยุ่นสูง ที่ Cavilam มีระบบว่าทุกวันพุธจะมีประชุมครูทั้งหมดและนักเรียนคนไหนที่ขอเปลี่ยนชั้นหรือครูเห็นว่าควรเปลี่ยนก็จะมีการคุยกันระหว่างครูประจำชั้นเดิมกับครูประจำชั้นที่นักเรียนอยากเปลี่ยนว่าควรอนุมัติไหม เราอยากเลื่อนระดับชั้นเร็วๆ เนื่องจากมีเวลาจำกัดที่จะต้องรีบสอบภาษาให้ทันยื่นสมัครทุนจึงพยายามเขียน essay ต่างๆ และเอาไปให้ครูประจำชั้นตรวจ และพยายามมีส่วนร่วมในห้อง เราไม่ชอบท่องไวยากรณ์และคำศัพท์ แต่ชอบเรียนรู้ภาษาที่ถูกใช้จริงๆในสังคม ซึ่งเราพบว่าปัจจุบันมีสื่อต่างๆ มากมายที่ช่วยการอ่านและฟังภาษาฝรั่งเศส

นอกจากเว็บไซต์ที่ครูแนะนำซึ่งทำมาเพื่อนักเรียนต่างชาติโดยเฉพาะโดยเน้นการเรียนรู้จากข่าวและแบ่งความยากง่ายของเนื้อหาตามระดับ เช่น tv5monde หรือ savoirs แล้ว เราก็เจอรายการ TV ที่เราชอบมากๆ แม้เราจะไม่มี TV แต่ก็สามารถดูผ่าน youtube หรือทาง internet ได้ เช่น

  • C’dans l’air ที่จะเอาข่าวเหตุการณ์สำคัญมาวิเคราะห์ โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านนั้นๆ หลายๆ คนซึ่งมักความเห็นไม่ตรงกัน หรือ
  • Des paroles et des actes ที่มักเชิญนักการเมืองมาพูดคุย โจมตีและ debate กันถึงนโยบายต่างๆของเค้า (เหมือนเชิญมาให้โดนรุม)
  • สำหรับคนที่ชอบทางสายรัฐศาตร์หรือกฎหมาย เราแนะนำช่องของ Assemblée nationale คลิกที่นี่ ซึ่งโปรแกรมที่หลากหลายมาก ทั้งข่าวการเมือง สารคดี ดีเบต และวีดีโอการอภิปรายเกี่ยวกับกฎหมายใหม่ในสภาฯ ของฝรั่งเศส หรือเว็บขององค์กรรัฐที่สำคัญอื่นๆก็มีช่องลักษณะนี้ให้ดูผ่านเว็บไซต์ได้เหมือนกัน เช่น คลิกที่นี่ หรือโหลด application สำนักข่าวต่างๆมา
  • ที่เล่ามาแบบนี้ไม่ใช่ว่าคนที่ไม่ได้สนใจทางด้านสังคมศาตร์จะเสียเปรียบเพราะฝรั่งเศสมีสื่อที่มีเนื้อหาหลากหลายมาก แค่พิมพ์ใน youtube เกี่ยวกับเรื่องที่เราสนใจ จะเป็นดีเบต ทฤษฎีอะไรสักอย่าง หรือสารคดีประวัติศาสตร์ วิทยาศาตร์ก็หาเจอได้ไม่ยาก ให้เริ่มจากฟังหรืออ่านเรื่องที่เราสนใจจะทำให้เราเรียนภาษาอย่างสนุก
  • สำหรับคนที่เรียนภาษาฝรั่งเศสในระดับกลางค่อนข้างสูงแล้ว หรือสอบภาษาเสร็จแล้ว ก็ไม่ควรประมาท และควรเริ่มอ่านและฟังเนื้อหาในสายที่ตัวเองจะศึกษาต่อเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม โดยลองจดเลคเชอร์ดูและเรียนรู้ว่าจดแบบไหนถึงจะจดทัน เช่นใช้คำย่อ แหล่งที่ดีมากๆคือ itune U ของ apple, Coursera, youtube, หรือตามเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยที่มักจะอัดวีดีโอของ conference ต่างๆไว้ สำหรับหนังสือเรียนก็เริ่มอ่านได้ โดยเลือกอ่านแบบที่ง่ายๆก่อนเช่นในสายกฎหมายก็อ่านของ momento ซึ่งจะเป็นเล่มเล็กๆ เน้นสรุปใจความ ตรงข้ามกับ Dalloz précis ที่จะเล่มหนาๆ ละเอียด เห็นแล้วจะท้อได้

2.4) การสอบ DELF, DALF, TCF 

ถึงแม้ว่าสถาบันสอนภาษามักจะออก certification ว่าเราเรียนกับเค้าถึงระดับชั้นไหน มหาวิทยาลัยส่วนมากก็ยังต้องการผลการทดสอบภาษา/ใบรับรองภาษา Delf/Dalf/TCF อยู่ดี ซึ่งเราจะต้องวางแผนการสอบล่วงหน้าเพื่อสอบในช่วงเวลาที่เราพร้อมและจะได้ผลทันเอาไปใช้สมัครมหาวิทยาลัยและทุนโดยต้องตรวจสอบว่าสถาบันที่เราเรียนอยู่เปิดสอบช่วงเดือนไหนบ้าง ใช้เวลานานเท่าไหร่กว่าจะรู้ผลและได้ใบรับรอง และถ้าสถาบันที่เราเรียนอยู่ไม่เปิดสอบช่วงที่เราพร้อม เราจะไปสอบที่สถาบันไหนอีกได้บ้าง สิ่งเหล่านี้สำคัญเพราะแต่ละที่ก็มีปฏิทินการสอบ ความถี่ของการจัดสอบ และระยะเวลาการตรวจที่แตกต่างกัน สำหรับการสอบนั้น มีข้อสอบสองประเภทที่มหาวิทยาลัยฝรั่งเศสรองรับ

  • Delf (A1-B2), Dalf (C1-C2 ) มีทั้งสี่รูปแบบ คือ ฟัง พูด อ่าน เขียน (แต่ละส่วนเต็ม 25 คะแนน) สามารถดูรายละเอียดและตัวอย่างข้อสอบได้ที่ คลิกที่นี่ เราเลือกระดับที่จะสอบ และ ถ้าได้คะแนนเกิน 50 จาก 100 โดยไม่มีส่วนไหนต่ำกว่า 5 ก็จะได้ Diplôme ซึ่งไม่มีวันหมดอายุ สามารถใช้ได้ตลอดชีพ ทั้งนี้ถ้าสอบผ่านระดับไหนแล้วจะสอบระดับเดิมไม่ได้อีก คะแนนที่สอบผ่านใน Diplôme จะติดตัวเราตลอดไป ดังนั้นเราแนะนำว่าก่อนสอบให้ลองทำข้อสอบเก่าดู ให้รู้สึกมั่นใจในระดับนึงแล้วค่อยไปสอบ แต่ถ้ามีเวลาจำกัดก็ไม่ต้องเครียดเพราะมหาวิทยาลัยฝรั่งเศสไม่ได้ให้ความสำคัญกับคะแนนภาษามากถ้าเราได้Diplômeที่เค้ากำหนดแล้ว การมี Diplôme ดังกล่าวถือเป็นเงื่อนไขหรือกุญแจเปิดทางที่จะทำให้เค้าพิจารณาคุณสมบัติอื่นๆของเรานั่นเอง ไม่ได้หมายความว่าใครได้คะแนนภาษาเยอะกว่าก็จะมีสิทธิได้รับคัดเลือกมากกว่าคนที่ได้คะแนนน้อยกว่า อนึ่ง เรารู้สึกว่าการเรียนและแบบฝึกหัดที่ได้ทำในห้องเรียนจะสอดคล้องกับการเตรียมตัวสอบ Delf/Dalf มากกว่า TCF ค่าสอบ DELF DALF จะอยู่ที่ประมาณ 80-140 ยูโร ขึ้นอยู่กับระดับที่สอบ ยิ่งระดับสูงค่าสอบก็จะแพงขึ้น นอกจากนี้แต่ละศูนย์สอบก็จะกำหนดค่าสอบเอง ซึ่งสถาบันสอนภาษามักจะเป็นศูนย์สอบด้วยอยู่แล้ว และโดยมากจะคิดค่าสอบนักเรียนที่เรียนกับสถาบันถูกกว่าผู้สอบที่ไม่ได้เป็นนักเรียนของสถาบัน
  • TCF ซึ่งจะเป็นข้อสอบปรนัยทั้งหมด ทำกับคอมพิวเตอร์ มีเฉพาะฟัง อ่าน และการใช้ภาษา (ไวยากรณ์และคำศัพท์)  ถ้าอยากสอบพูดและ/หรือเขียน (Épreuves complémentaires) ก็ต้องสมัครและเสียเงินเพิ่ม มหาวิทยาลัยบางแห่งก็จะกำหนดชัดเจนว่าให้สอบเขียนเพิ่ม บางที่ไม่ได้บอกว่าเราก็อาจจะถามมหาวิทยาลัยก็ได้ สิ่งที่ TCF ต่างจากข้อสอบ Delf/Dalf คือเราไม่ต้องเลือกระดับที่จะสอบ (เหมือน IELTS/TOEFL) เพราะข้อสอบจะเหมือนกันคือไล่ระดับความยากตั้งแต่ A1 – C2 ในชุดเดียวและเราก็จะรู้ผลวันนั้นเลยโดยในผลสอบจะระบุระดับเราในแต่ละส่วน และระดับโดยรวม โดยผลนี้มีอายุสองปี ค่าสอบ TCF หลักจะอยู่ที่ประมาณ 110 ยูโรและ TCF ส่วนเขียนหรือพูดที่แยกต่างหากจะอยู่ที่50ยูโรในแต่ละส่วน ทั้งนี้ค่าสอบขึ้นอยู่กัยศูนย์สอบแต่ละศูนย์ด้วย ดูรายละเอียดและตัวอย่างข้อสอบได้ที่ คลิกที่นี่

 

 

  • หากต้องการจะสอบที่ประเทศไทย สามารถสมัครสอบได้ที่สมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพฯ ค่าสอบจะอยู่ที่ 2,000-4,500บาทแล้วแต่ระดับ ทุกปีจะมีกำหนดตารางสอบ ปี 2560 ทางสมาคมฯเปิดสอบสามรอบ คือเดือนกุมภาพันธ์ มิถุนายน และพฤศจิกายน โดยผู้สนใจต้องสมัครสอบล่วงหน้าประมาณสองเดือน สามาถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คลิกที่นี่
  • เราเคยสอบ Delf B1, B2, Dalf C1, และ TCF แต่ละข้อสอบก็มีความเฉพาะแตกต่างกันไป สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือเน้นการใช้ภาษาจริงๆ สอบ ให้เราคิด วิเคราะห์ และถ่ายทอดออกมาให้คนเข้าใจ เช่นข้อสอบส่วนเขียนและพูดของ Delf B2 และ Dalf C1 จะมีบทความเล็กๆ มาให้เราอ่านก่อนและเราต้องพูด/เขียนเกี่ยวกับบทความนั้น ก็จะมี pattern ที่เราใช้ตอนสอบและเป็นพื้นฐานของการเรียนในมหาวิทยาลัยด้วยคือ

ในส่วนของ Introduction

  1. เราเริ่มจากอธิบายบทความนั้นคร่าวๆ ว่าเป็นบทความประเภทไหน พูดถึงอะไร คนเขียนมีมุมมองอย่างไร บริบทของเรื่องนั้นเป็นอย่างไร (เช่น il s’agit d’un article intitulé… par… sur le site…..qui parle de…..)
  2. บอก problématique (เช่น On peut de demander/ La question est de savoir si/comment/pouquoi/quelles sont les causes/conséquences……) ซึ่งไม่มีถูกผิด เกิดจากการวิเคราะห์ของเราว่าอะไรคือประเด็นคำถามจากบทความที่เราอ่าน ทำไมเราต้องถกกันเรื่องนี้ ซึ่งเป็นคำถามที่ต้องมาวิเคราะห์หาคำตอบ
  3. บอก plan หรือโครงสร้างของสิ่งที่เราจะพูดหรือเขียนซึ่งเป็นความคิดเห็นของเราเอง (เช่น Mon exposé comprend 3 parties. En première lieu, je présenterai…. Ensuite, j’aborderai….) ซึ่ง plan นี้ก็คือการวางโครงสร้างของแต่ละประเด็นซึ่งประกอบด้วยคำอธิบาย ยกตัวอย่าง เปรียบเทียบเพื่อที่จะไปตอบ problématique ที่เราตั้งไว้ตอนแรกนั่นเอง โดยเราอาจแบ่งได้หลายแบบโดยคำนึงถึงหลายๆแง่มุมเช่นเศรษฐกิจ การเมือง สังคม สิ่งแวดล้อม / causes – conséquences หรืออะไรก็ได้แล้วแต่หัวข้อ เช่น หัวข้อ L’uberisation de la société (sharing economy) เราอาจแบ่งหัวข้อที่จะพูดโดยนึกถึงมุมของผู้สร้าง platform, ผู้บริโภค, ผู้ประกอบการแบบดั้งเดิม, มุมมองในทางกฎหมายแข่งขันทางการค้าหรือกฎหมายแรงงาน

ในส่วน Development

  • ก็พูดหรือเขียนตาม plan ที่วางไว้โดยใส่คำเชื่อมให้รู้เวลาจะเปลี่ยนหัวข้อ (transition) เช่น เราอาจพูดว่า Après avoir examiné les causes de …, venons maitenant à la deuxième partie qui concerne … เพื่อให้ง่ายต่อกรรมการในการติดตามสิ่งที่เราพูด

ในส่วน Conclusion

  • นอกจะสรุปสิ่งที่เราพูดหรือเขียนไปแล้ว ทางที่ดีควรจะพูดเปิดประเด็นที่อยู่นอกขอบเขตของบทความที่เค้าให้มาแต่เป็นประเด็นที่ต่อยอดไปอีกเพื่อให้เกิดการ debate หรืออภิปรายกันต่อไป โดยเฉพาะในส่วนพูดถ้าเราเปิดประเด็นในรูปแบบคำถามตอนสุดท้ายแล้ว กรรมการอาจจะเลือกถกกับเราเรื่องนั้นต่อ เช่นถ้าเราเพิ่งพูดแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่อง same sex marriage ตอนจบเราอาจทิ้งคำถามไว้เกี่ยวการ trend ของ open relationship

สุดท้ายนี้ถ้าใครสอบไม่ผ่านระดับที่มหาวิทยาลัยกำหนดไว้ เช่นในสายกฎหมายกำหนดไว้ที่ C1 แต่เรามีแค่ B2 ก็แนะนำให้ลองสมัครไปก่อนและบอกทางมหาวิทยาลัยว่ากำลังเรียนภาษาฝรั่งเศสอยู่ จะส่งผลสอบ C1 ตามไปให้ทีหลังเราเห็นรุ่นพี่หลายคนก็ได้รับการตอบรับจากมหาวิทยาลัยแม้จะไม่ได้ระดับภาษาตามที่กำหนดไว้ตอนสมัคร

 

การเขียน Letter of Motivation (Motivation Letter) และ/หรือ Statement of Purpose คลิกที่นี่

บทความต่อไป คลิกที่นี่ สำหรับ การเลือกและสมัครมหาวิทยาลัยพร้อมกับขอทุน Eiffel

 

Filed Under: Education Tagged With: Eiffel, ทุนรัฐบาลฝรั่งเศส, นักเรียนทุน

เรียนต่อฝรั่งเศส 2

March 20, 2017 By KaiMook McWilla Malany Leave a Comment

แนะนำการเตรียมตัวเรียนต่อปริญญาโทที่ประเทศฝรั่งเศสและทุนรัฐบาลฝรั่งเศส (Eiffel Excellence Scholarship Programme)

เนื้อหาโดยรวมของแนะนำเรียนต่อฝรั่งเศส ดังนี้

  1. เริ่มหาทุน
  2. เรียนภาษาฝรั่งเศสที่ประเทศฝรั่งเศส 
  3. เลือกและสมัครมหาวิทยาลัยพร้อมกับขอทุน Eiffel
  4. เตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการอยู่ฝรั่งศสระยะยาว 
    1. การขอลงทะเบียนและขอใบอนุญาติพักอาศัย (titre de séjour)
    2. การเปิดบัญชีธนาคาร
    3. การขอเงินช่วยค่าที่พัก(aide au logement étudiant) จาก Caf
  5. ประสบการณ์ในการเรียน Master 1 Droit Public ที่ Aix Marseille Université
  6. ประสบการณ์สมัครฝึกงานในองค์การระหว่างประเทศ 

ทุนรัฐบาลฝรั่งเศส (Eiffel Excellence Scholarship Programme)

อ่านบทความก่อนหน้านี้ เรียนต่อฝรั่งเศส 1 เกี่ยวกับทุนรัฐบาลฝรั่งเศสทุนต่างๆ คลิกที่นี่ ในบทความนี้เราจะมาต่อกันที่ การเรียนภาษาฝรั่งเศสนะคะ

 

ฉันกับผิงผิง ที่ aix-en-provence ไปเดินป่ากัน 🙂 ขาแทบลาก

 

2) เรียนภาษาฝรั่งเศสที่ประเทศฝรั่งเศส 

จากการหาข้อมูลในเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยที่เราอยากเข้าหลายๆแห่ง หนึ่งในเอกสารที่เป็นเงื่อนไขการสมัครในระดับปริญญาโทของนักเรียนต่างชาติคือ ผลการทดสอบภาษาฝรั่งเศส ระดับ B2 หรือ C1 ถ้าสำหรับสายกฎหมาย ถ้าตั้งใจเตรียมตัวตั้งแน่เนิ่นๆเราแนะนำให้เรียนภาษาฝรั่งเศสที่ประเทศไทยเตรียมไว้ก่อน อย่างไรก็ตามจะมีข้อจำกัดอยู่เมื่อเรียนมาถึงระดับกลาง (B2) เพราะจำนวนนักเรียนที่สมัครเรียนอาจจะมีไม่มากทำให้ไม่ได้เรียนทุกวันเข้มข้นแบบคอร์ส intensive จึงแนะนำให้ไปเรียนที่ประเทศฝรั่งเศสอยู่ดีซึ่งจะทำให้เรียนได้เร็วกว่าจากการสอบถามรุ่นพี่หลายๆ คนที่ไปเริ่มเรียนภาษาฝรั่งเศสโดยไม่มีพื้นฐานมาก่อนมักจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี (ต้องขยันมากๆ เลยน้า)

2.1) เลือกสถาบันสอนภาษา 

เราขอจำแนกสถาบันสอนภาษาเป็น 2 ประเภทหลักๆ ได้แก่

  • สถาบันสอนภาษาของมหาวิทยาลัย กล่าวคือ คณะอักษรศาสตร์ของมหาวิทยาลัยในประเทศฝรั่งเศสจะเปิดหลักสูตรสอนภาษาฝรั่งเศสสำหรับนักเรียนต่างชาติ ข้อดีคือราคาถูกกว่าสถาบันสอนภาษาของเอกชน และเรามีสถานะเหมือนนักศึกษาทำให้เราสามารถเข้าห้องสมุด ยืมหนังสือ และทานข้าวในโรงอาหารของมหาวิทยาลัยด้วยราคานักศึกษาได้ และสะดวกต่อการไปเข้าฟังบรรยาย งานเสวนาของมหาวิทยาลัย ฯลฯ โดยเฉพาะถ้ามหาวิทยาลัยนั้นเป็นมหาวิทยาลัยที่เราต้องการศึกษาต่ออยู่แล้ว ก็อาจจะนัดคุยกับอาจารย์ได้ ข้อเสียคือมีปิดเทอมหรือวันหยุดตามปฏิทินของมหาวิทยาลัย ทำให้เราอาจเรียนได้ไม่ต่อเนื่อง นอกจากนี้จะต้องสมัครเป็นเทอมหรือเป็นปี มีวันเปิดและปิดเทอมที่ชัดเจน ไม่สามารถสมัครมาเริ่มเรียนตอนไหนก็ได้ นักเรียนต้องช่วยเหลือตัวเองมากกว่าในเรื่องการหาที่พักและอื่นๆ และอาจมีความยืดหยุ่นน้อยกว่าในเรื่องการขอเปลี่ยนชั้นเรียน วิชาเลือก ฯลฯ เนื่องจากต้องผ่านขั้นตอน กฎระเบียบต่างๆ การสมัครและรายละเอียดสามารถเข้าไปดูในเว็บไซต์ของแต่ละสถาบันได้เลย เช่นของมหาวิทยาลัย Aix Marseille ดูรายละเอียดได้ที่ คลิกที่นี่ หรือของมหาวิทยาลัย Paris Sorbornne คลิกที่นี่
  • สถาบันสอนภาษาของเอกชน ข้อดีคือเรียนเข้มข้น ไม่ค่อยมีวันหยุด สมัครเริ่มเรียนตอนไหนกี่เดือนก็ได้ จำนวนนักเรียนต่อห้องค่อนข้างน้อย มีบริการต่างๆ เช่นหาที่พักให้ทั้งแบบ host family หรือหอพักในเมือง มีบริการรับ-ส่งจากสนามบิน ให้คำปรึกษาเรื่องขอทำหรือต่อ titre de sejour (ใบอนุญาติพักนักในประเทศฝรั่งเศส) มีโปรแกรมพาไปทัศนศึกษาและกิจกรรมนอกห้องเรียนหลากหลาย มีความยืดหยุ่นเกี่ยวกับความต้องการของนักเรียนแต่ละคน ข้อเสียคือราคาแพงกว่าสถาบันของสอนภาษาของมหาวิทยาลัย (คิดค่าเรียนเป็นรายสัปดาห์ โดยยิ่งเรียนนานราคาเฉลี่ยต่อสัปดาห์จะถูกลง) และถ้าเป็นเมืองเล็กๆ ไม่ได้มีมหาวิทยาลัยอยู่ ก็อาจจะไม่มีโอกาสได้พบปะทำกิจกรรมกับนักศึกษาฝรั่งเศส สถาบันที่มีชื่อเสียง เช่น Institut de Touraine คลิกที่นี่ และ Cavilam คลิกที่นี่ ทั้งนี้ให้เลือกหลักสูตร intensive โดยดูให้มีจำนวนชั่วโมงเรียน 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ขึ้นไป มิฉะนั้นอาจมีปัญหาในการขอวีซ่านักเรียนระยะยาวได้

ผู้ที่กำลังตัดสินใจอยู่ควรคำนึกถึงปัจจัยๆ ต่างๆ ข้างต้นในการเลือกสถาบัน เช่น เดือนที่อยากเริ่มไปเรียนตรงกับช่วงเปิดเทอมของมหาวิทยาลัยไหม ดูขนาดและลักษณะ บรรยากาศของเมืองที่เราอยากไปอยู่ หรือถ้าคนที่ไม่มีพื้นฐานภาษาฝรั่งเศส ไม่รู้จักคนไทยที่จะช่วยเหลือ หรือไม่อยากต้องเหนื่อยกับการช่วยเหลือตัวเองมากๆ เรื่องการหาที่อยู่ไปล่วงหน้าก็อาจจะเหมาะกับการเรียนสถาบันของเอกชน หรืออาจจะเรียนทั้งสองแบบก็ได้ เช่น เรียนในสถาบันเอกชนช่วงแรกก่อน และค่อยไปเรียนต่อในสถาบันของมหาวิทยาลัย สุดท้ายเราก็เลือกสมัครเรียนที่ Cavilam เป็นระยะเวลาแปดเดือน เพราะเราไปอยู่คนเดียวครั้งแรกก็อยากอยู่เมืองเล็กๆอย่าง Vichy ที่สงบเงียบ มีสวนสาธารณะมาก ผู้คนใจดีและพูดแต่ภาษาฝรั่งเศส (แต่บางคนก็ชอบอยู่เมืองใหญ่มากกว่าเพราะมีกิจกรรมเยอะซึ่งช่วยในการฝึกภาษาได้เหมือนกัน เช่น เข้าพิพธภัณฑ์ ดูการแสดง นิทรรศการต่างๆ)

2.2) เลือกรูปแบบที่พัก 

เราขอแบ่งรูปแบบที่พักเป็นสองประเภทหลักๆ ได่แก่

  • พักกับครอบครัวชาวฝรั่งเศสหรือที่เรียกว่า famille d’acceuil ซึ่งสถาบันภาษาจะติดต่อหาครอบครัวอุปถัมภ์ให้เรา โดยเราอาจระบุความต้องการได้นิดหน่อยเช่นไม่ต้องการอยู่กับครอบครัวที่สูบบุหรี่ หรือมีสัตว์เลี้ยง ฯลฯ และเลือกได้ว่าจะอยู่แบบมีห้องนอน ห้องน้ำส่วนตัว หรือแชร์ห้องนอนได้ และจะกินข้าวที่บ้านแค่มื้อเช้า หรือมื้อเย็นด้วยซึ่งราคาก็จะแตกต่างกันไป แต่โดยภาพรวมแล้วจะแพงกว่าการอยู่เช่าห้องเองค่อนข้างมาก การอยู่รูปแบบนี้ก็เหมือนเสี่ยงดวงว่าจะได้เจอครอบครัวแบบไหน เข้ากับเราได้ไหม รวมถึงตัวเราเองด้วยว่าพร้อมจะปรับแค่ไหน โดยหลักแล้ว ข้อดีคือเราจะได้ใช้ภาษาฝรั่งเศสกับชาวฝรั่งเศสในชีวิตประจำวัน ได้เรียนรู้วัฒนธรรม ทั้งเรื่องอาหารและเรื่องอื่นๆ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าเค้าสนิทกับเรามากแค่ไหน ถ้าสนิทกันมากเราก็จะเป็นเหมือนสมาชิกในครอบครัวเค้า (นึกถึงนักเรียนแลกเปลี่ยน) ได้ไปรวมญาติ/ไปเที่ยวกับเค้า ได้คุยแลกเปลี่ยนกัน เค้าอาจยินดีตรวจการบ้าน ช่วยเหลือเราในเรื่องต่างๆ แต่ถ้าเข้ากันไม่ได้ หรือดันได้ครอบครัวที่ไม่มีเวลาให้เรา ไม่ได้ตั้งใจต้อนรับเด็กต่างชาติ เราก็อาจจะเป็นเหมือนแค่ผู้เช่าห้องในบ้านเค้าหรือถึงขั้นทะเลาะกันก็ได้ ทั้งนี้ ทางสถาบันสอนภาษาก็จะมีแผนกที่คอยดูแลเรื่องที่พัก ความเป็นอยู่ที่เราสามารถไปคุยถึงปัญหาต่างๆ ขอเปลี่ยนครอบครัวอุปถัมภ์หรือเปลี่ยนที่พักได้ เราแนะนำว่าถ้าสมัครไปอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์ให้ส่งอีเมลล์คุยกับครอบครัวอุปถัมภ์ล่วงหน้า (ควรส่งเป็นภาษาฝรั่งเศส ใช้คำง่ายๆ ก็ได้ google translate ก็ได้) เพื่อแนะนำตัว ถามเค้าในสิ่งที่เราไม่มั่นใจ เช่น เราต้องเอา….ไปไหม เราใช้อุปกรณ์….ในบ้านได้ไหม
  • เช่าห้องพักเอกชน ที่พักรูปแบบนี้จะยุ่งยากกว่าในตอนแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าสถาบันสอนภาษาไม่ได้หาให้ เราก็จะต้องติดต่อกับเจ้าของหอพักโดยตรง ซึ่งมักจะพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ และถ้าเมื่อเห็นเราเป็นคนต่างชาติก็อาจจะขอให้เราหาผู้ค้ำประกันชาวฝรั่งเศสด้วย นอกจากนี้อาจจะมีค่ามัดจำ ค่าส่วนกลาง และอาจให้เราติดต่อจ่ายค่าน้ำค่าไฟเองแยกต่างหาก ซึ่งหอพักจะมีหลายแบบถ้าเป็นห้องนอนอย่างเดียวจะเรียกว่า chambre ก็จะราคาถูกกว่า studio ซึ่งจะมีมุมทำครัวและห้องน้ำในตัว ส่วนค่าเช่าก็ขึ้นอยู่กับค่าครองชีพของเมืองที่อยู่ นอกจากนี้เรายังขอเงินช่วยค่าที่พักจาก Caf ได้อีกด้วย (ดูรายละเอียดได้ในหัวข้อเฉพาะ)

เราเลือกอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์ในช่วงสามเดือนแรก เราอยู่กับหญิงวัยกลางคนคนหนึ่งซึ่งไม่ได้ทำงานแล้ว เรากับเค้าพาหมาไปเดินเล่นและพูดคุยกับกลุ่มเพื่อนวัยกลางคนของเค้าที่สวนทุกวัน เสาร์อาทิตย์เค้าก็พาเราไปบ้านเพื่อนเค้าบ้างหรือลูกๆเค้ามาหาที่บ้าน เราก็ได้ลองทำอาหารไทยให้เค้าทานบ้าง หลักจากสามเดือนซึ่งเราเริ่มใช้ภาษาฝรั่งเศสในการสื่อสารช่วยเหลือตัวเองได้แล้วก็ย้ายไปเช่า studio เพราะอยากอิสระ ประหยัดค่าใช้จ่ายด้วยการทำอาหารเอง และชวนเพื่อนๆ มาที่ห้องได้เต็มที่ เนื่องจากเราอยู่เมืองนั้นอยู่แล้วจึงได้ไปขอดูห้องกับเจ้าของหอพักโดยตรง ได้ดูทำเล ลองเดินจากหอมาโรงเรียน รู้จักเพื่อนที่อยู่หอนั้น ทำให้ทุกอย่างราบรื่นดี และเราก็สนิทกับเจ้าของหอไปในที่สุดเนื่องจากเค้าอาศัยอยู่ชั้นล่างในตึกเดียวกันจึงเอ็นดู ชวนเรามาตกแต่งบ้านในช่วงคริสมาสต์กับหลานของเค้า พาเราไปเที่ยวๆรอบๆ เมือง

 

ขอจบกันเท่านี้ก่อน ในส่วนที่ 2 การเรียนภาษาฝรั่งเศส ยังไม่จบเพียงเท่านี้ ในบทความหน้าเราจะมาดูกันเรื่อง ภาษาฝรั่งเศสระดับต่างๆ A1, A2, B1, … C2 และ การสอบ DELF, DALF, TCF คลิกที่นี่

 

Filed Under: Education Tagged With: Eiffel, ทุนรัฐบาลฝรั่งเศส, นักเรียนทุน

เรียนต่อฝรั่งเศส 1

March 20, 2017 By KaiMook McWilla Malany Leave a Comment

แนะนำการเตรียมตัวเรียนต่อปริญญาโทที่ประเทศฝรั่งเศสและทุนรัฐบาลฝรั่งเศส (Eiffel Excellence Scholarship Programme)

จบไปกับทุนรัฐบาลเกาหลี คลิกที่นี่ ที่ได้รับการตอบรับอย่างดี ไข่มุกขอนำเสนออีกทุนนะคะ คือทุนรัฐบาลฝรั่งเศส เขียนโดนผิงผิง 🙂 ผู้ได้ทุนไปเรียนต่อด้านกฎหมาย เราสองคนเป็นเพื่อนกันมาหลายปีแล้ว ตั้งแต่มัธยมปลาย จนได้มีโอกาสมาเรียนต่อที่ยุโรปด้วยกัน แม้จะคนละประเทศเราก็มีโอกาสได้ไปเจอกันตั้งครั้งนึงแน่ะ 555 … หวังว่าจะเจอกันอีกนะผิงผิง

ก่อนจะไปอ่านที่ผิงผิงเขียน เนื้อหาหลัก เรียงตาม 6 ข้อนี้เลยค่า 🙂

  1. เริ่มหาทุน
  2. เรียนภาษาฝรั่งเศสที่ประเทศฝรั่งเศส 
  3. เลือกและสมัครมหาวิทยาลัยพร้อมกับขอทุน Eiffel
  4. เตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการอยู่ฝรั่งศสระยะยาว 
  5. ประสบการณ์ในการเรียน Master 1 Droit Public ที่ Aix Marseille Université
  6. ประสบการณ์สมัครฝึกงานในองค์การระหว่างประเทศ 

 

ผิงผิง (หลับตาทำไม): ทุนรัฐบาลฝรั่งเศส Eiffel 

 

ทุนรัฐบาลฝรั่งเศส (Eiffel Excellence Scholarship Programme)

สวัสดีค่ะ ก่อนจะแนะนำเกี่ยวกับทุน ขอแนะนำตัวเองสั้นๆนะคะ เราชื่อเล่นว่าผิงผิง อายุ 23 ปี ได้ทุน Eiffel มาเรียนต่อ Master de Droit Public (ปริญญาโทสาขากฎหมายมหาชน) ที่มหาวิทยาลัย Aix-Marseille ระหว่างปี 2016-2018 เราได้หาข้อมูล ลองผิดลองถูกมาค่อนข้างเยอะ อีกทั้งเราได้รับประสบการณ์ชีวิตมากมายจากการได้เรียนต่อที่ประเทศฝรั่งเศส และรู้สึกอยากขอบคุณรัฐบาลฝรั่งเศสที่ให้โอกาสดีๆ นี้กับเรา จึงอยากแชร์ประสบการณ์การเตรียมตัวและการเรียนต่อประเทศฝรั่งเศสเพื่อผู้ที่สนใจอยากไปเรียนต่อประเทศนี้จะได้เตรียมพร้อมได้ครบถ้วนกว่าเรา หรือคนไหนที่กำลังลังเลสงสัยก็จะได้อ่านประสบการณ์ของเราเพื่อประกอบการตัดสินใจ

นอกจากนี้เราได้รับแรงบันดาลใจจากไข่มุก เจ้าของเว็บไซต์ ซึ่งรักในการแบ่งปันประสบการณ์การเดินตามความฝันของตัวเองเพื่อเป็นกำลังใจให้แก่ผู้อื่นให้เห็นว่าถ้าเราเตรียมตัวมาดี ก็ไม่มีอะไรไกลเกินเอื้อม เราเรียบเรียงเรื่องราวโดยเริ่มจากการหาทุน การเรียนภาษาฝรั่งเศสที่ประเทศฝรั่งเศส การสมัครมหาวิทยาลัยเลือกหลักสูตร ประสบการณ์เรียนที่มหาวิทยาลัย และการฝึกงานในองค์การระหว่างประเทศ เพื่อให้ง่ายต่อผู้อ่านในการติดตาม แต่จริงๆแล้ว อันดับแรก ผู้ที่สนใจควรเริ่มจากถามตัวเองก่อนว่าทำไมถึงอยากไปเรียนที่ประเทศฝรั่งเศส มีหลักสูตรไหนที่เราสนใจ คุ้มไหมกับการที่ต้องเรียนภาษาใหม่ จากนั้นจึงค่อยหาทุน ศึกษาเงื่อนไขและเตรียมตัวเรื่องภาษาและการสมัครเข้ามหาวิทยาลัย/ขอทุน อนึ่ง เราไม่ได้ให้ข้อมูลโดยละเอียดแต่เน้นเล่าประสบการณ์กว้างๆ ครอบคลุมขั้นตอนต่างๆโดยที่ผู้อ่านจะได้เห็นภาพและไปหารายละเอียดต่อหรือสอบถามในเรื่องนั้นๆ ได้

  1. เริ่มหาทุน

เราตัดสินใจที่จะเรียนต่อปริญญาโทที่ประเทศฝรั่งเศสตอนเรียนอยู่ปี 4 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยหลักสูตรที่เราสนใจจะเรียนเป็นภาษาฝรั่งเศสทั้งหมด ซึ่งแม้เราจะเคยเรียนมัธยมปลาย ศิลป์ฝรั่งเศสมา แต่ก็ทิ้งภาษาฝรั่งเศสมานานมากเกินกว่าที่จะทบทวนหรือเรียนเพิ่มเติมทันที่จะไปเรียนปริญญาโทหลักสูตรภาษาฝรั่งเศสได้ทันที ดังนั้นเราจึงเริ่มหาข้อมูลและพบว่า ทุนรัฐบาลไทยเช่น ทุนก.พ. หรือทุนของหน่วยงานต่างๆในประเทศไทยให้ไปเรียนในประเทศที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษนั้นจะให้ผู้ได้ทุนไปเรียนภาษาที่สามในประเทศนั้นๆได้เป็นระยะเวลาประมาณ 1 ปี แต่เนื่องจากเราอยากได้ทุนที่ไม่มีข้อผูกมัดจึงหาทุนที่รัฐบาลฝรั่งเศส หรือมหาวิทยาลัยของฝรั่งเศสสนับสนุนให้แก่เด็กต่างชาติ เช่น

– ทุน Eiffel ซึ่งเป็นทุนให้แก่นักศึกษาต่างชาติ ศึกษาในะดับปริญญาโทหรือเอก (สำหรับปริญญาเอกจะต้องเป็น joint supervision หรือ duel enrolment กับมหาวิทยาลัยอีกแห่งหนึ่งที่อยู่นอกฝรั่งเศส และทุนจะให้ค่าใช้จ่ายรายเดือนเป็นเวลา 10 เดือนที่เรามาทำวิจัยในประเทศฝรั่งเศสเท่านั้น) และจะจำกัดสาขา ได้แก่

1) engineering science

2) economics / management

3) law / political sciences

โดยให้เป็นค่าใช้จ่ายรายเดือน เดือนละ 1,181 ยูโร ค่าตั๋วเครื่องบินไปกลับ ค่าประกันสุขภาพ โปรแกรมไปเที่ยวในฝรั่งเศสโดยเราจ่ายเงินในราคาพิเศษ ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คลิกที่นี่ และเราจะอธิบายรายละเอียดในหัวข้อที่ 3

 

เพื่อนผิงผิง (และฉัน) หน้า Eiffel: ภาพประกอบไม่ค่อยเกี่ยว อยากจะบอกผิงผิงว่า “Nous sommes fiers de toi! (We are proud of you!)” 🙂 

 

– ทุน Franco-Thai ให้เฉพาะนักศึกษาไทยไปเรียนต่อในระดับปริญญาโทหรือเอก โดยมีสองประเภทคือ

1) ทุนเต็มจำนวน ซึ่งจะได้ค่าใช้จ่ายรายเดือน เดือนละ 767 ยูโร ค่าตั๋วเครื่องบินไปกลับ และสิทธิประโยชน์อื่นๆเกี่ยวกับการหาที่พักและปะกันสังคม

2) ทุนที่ให้เฉพาะสิทธิประโยชน์เกี่ยวที่พักและประกันสังคม

ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คลิกที่นี่

– ทุน Emile-Boutmy Scholarship ให้โดย Institut d’études politiques de Paris หรือ Science Po ครอบคลุมค่าเรียนและค่าใช้จ่ายส่วนตัวในจำนวนที่แตกต่างกันไปตามระดับที่เข้าศึกษาและดุลพินิจของคณะกรรมการ ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คลิกที่นี่

– ทุน Bourse Master Île-de-France ให้นักศึกษาต่างชาติศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันที่ตั้งอยู่ในแคว้น Île-de-France โดยให้เป็นค่าใช้จ่าย 10,500 ยูโรต่อ1ปีการศึกษา เนื่องจากผู้สมัครจะต้องสมัครทุนไปพร้อมกับตอนสมัครเข้ามหาวิทยาลัยจึงต้องดูรายละเอียดการรับสมัครในเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยที่เราเลือก ดูตัวอย่างได้ที่ คลิกที่นี่ และ คลิกที่นี่

ทั้งนี้ทุน Eiffel และทุน Franco-thai ไม่ได้ครอบคลุมค่าเล่าเรียน แต่มหาวิทยาลัยจะมีนโยบายยกเว้นค่าเล่าเรียนให้กับนักเรียนทุน ซึ่งค่าธรรมเนียมการศึกษาของมหาวิทยาลัยของรัฐในฝรั่งเศสก็ไม่แพงอยู่แล้วเพราะได้เงินสนับสนุนจากรัฐ โดยในแต่ละปี กระทรวงศึกษาก็จะกำหนดค่าเทอมของแต่ละระดับการศึกษาเรียกว่า Taux des droits de scolarité dans les établissements publics d’enseignement supérieur

ในปีการศึกษา 2016-2017 กำหนดค่าธรรมเนียมการศึกษาระดับปริญญาตรีปีละ 184 ยูโร ระดับปริญญาโทปีละ 256 ยูโร และระดับปริญญาเอกปีละ 391ยูโร เป็นต้น ทั้งนี้ในสาขาเฉพาะอื่นๆเช่นสายสุขภาพและวิศวกรรมก็จะมีค่าธรรมเนียมการศึกษาที่สูงกว่า สามารถดูรายละเอียดทั้งหมดได้ที่ คลิกที่นี่ หรือในเว็บไซต์ของแต่ละมหาวิทยาลัย  โดยหลักสูตรที่เป็นภาษาอังกฤษจะมีค่าเทอมที่สูงกว่าแต่ไม่สูงเท่าประเทศอังกฤษหรืออเมริกา เช่น LL.M ที่ มหาวิทยาลัย Jean Moulin Lyon 3 กำหนดค่าธรรมเนียมการศึกษาที่ 10,000 ยูโร

นอกจากนี้ ทุนเหล่านี้ไม่ได้จำกัดว่าเราต้องไปเรียนในหลักสูตรที่ใช้ภาษาฝรั่งเศสเท่านั้น มีหลายหลักสูตรในประเทศฝรั่งเศสที่สอนเป็นภาษาอังกฤษ เช่นในสายกฎหมาย มี

  • Master 2 in International Economic Law ที่ มหาวิทยาลัย Toulouse 1 Capitole
  • LL.M in International and European Business Law ที่มหาวิทยาลัย Jean Moulin Lyon 3
  • LL.M European Business Law ที่ มหาวิทยาลัย Aix-Marseille

แต่หากเราต้องการเรียนหลักสูตรที่เป็นภาษาฝรั่งเศสและไม่ได้มีพื้นฝรั่งเศสเลยหรือมีแค่พื้นฐาน ทุนเหล่านี้ไม่ได้ให้เราเรียนภาษานานพอที่จะเข้าเรียนในหลักสูตรที่เป็นภาษาฝรั่งเศสทันที (ทุน Eiffel ให้เรียนภาษาได้สองเดือนในประเทศฝรั่งเศสก่อนเข้าเรียนตามหลักสูตร, ทุน franco-thaiให้เรียนภาษาฝรั่งเศสระยะสั้นที่สมาคมฝรั่งเศส ที่กรุงเทพ) อีกทั้งทุนเหล่านี้อิงกับการตอบรับของมหาวิทยาลัย ดังนั้นการจะสมัครเข้ามหาวิทยาลัยได้เราจะต้องส่งผลภาษาให้กับมหาวิทยาลัยก่อน ด้วยเหตุนี้เราจึงตัดสินใจไปเรียนภาษาฝรั่งเศสเองก่อนประมาณ 8 เดือน

 

อ่านต่อเกี่ยวกับการเรียนภาษาฝรั่งเศสในประเทศฝรั่งเศส คลิกที่นี่ และบทความอื่นๆ ด้านการศึกษา คลิกที่นี่

 

Filed Under: Education Tagged With: Eiffel, ทุนรัฐบาลฝรั่งเศส, นักเรียนทุน

แนะนำทุนรัฐบาลเกาหลี KGSP ระดับปริญญาโท-เอก (5)

September 28, 2016 By KaiMook McWilla Malany Leave a Comment

แนะนำทุนรัฐบาลเกาหลี KGSP ระดับปริญญาโท-เอก อีกรุ่น ปี 2015 ค่ะ จาก “ลิตเติ้ล” เพื่อนสาวอีกคนของฉัน รู้จักกันตอนไปสอบสัมภาษณ์ เติ้ลได้รับทุนนี้ด้วยการสมัครผ่านสถานทูต 

สมัครผ่านทางมหาวิทยาลัย (และความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับทุน) คลิกอ่าน 4 บทความแรก ได้ที่ลิงค์ข้างล่าง

  • แนะนำทุนรัฐบาลเกาหลี KGSP ระดับปริญญาโท-เอก (1) โดย แอ๊ม
  • แนะนำทุนรัฐบาลเกาหลี KGSP ระดับปริญญาโท-เอก (2) โดย แอ๊ม
  • แนะนำทุนรัฐบาลเกาหลี KGSP ระดับปริญญาโท-เอก (3) โดย แอ๊ม
  • แนะนำทุนรัฐบาลเกาหลี KGSP ระดับปริญญาโท-เอก (4) โดย ป็อป

มาดูกันค่ะว่า สาวหมวย แก่งนี้ จะแบ่งปันประสบการณ์อะไรให้ชาว wanderfulminds ได้อ่านกันบ้าง 🙂

แคลร์ หรือลิตเติ้ล: ทุนรัฐบาลเกาหลีปี 2015

“แนะนำตัว

อันยองฮาเซโย เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆทุกคน เราชื่อแคลร์ หรือลิตเติ้ลนะคะ นักเรียนทุนรัฐบาลเกาหลี (KGSP 2015) จบปริญญาตรีจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตอนนี้กำลังศึกษาระดับปริญญาโทอยู่ที่ Sungkwunkwan University ที่โซล เอก Political Science ค่ะ หลายคนคงทราบรายละเอียดทุนเบื้องต้นกันไปแล้ว แคลร์ขอแชร์ประสบการณ์และเทคนิคส่วนตัวเพื่อเป็นแนวทางในการสมัครนะคะ

  • รายละเอียดทุนเบื้องต้น แนะนำทุนรัฐบาลเกาหลี KGSP ระดับปริญญาโท-เอก

เทคนิคการเขียน

เขียนให้คณะกรรมสนใจและปฏิเสธเราไม่ได้ 5555 ฟังดูมั่นใจ๊ มั่นใจ แต่ความมั่นเนี่ยแหละค่ะ จะทำให้เราเขียนในสิ่งที่ตอบโจทย์เขาได้ เนื่องจากทุนนี้เป็นทุนรัฐบาลเกาหลี เราต้องทำความเข้าใจว่าจุดประสงค์หลักที่เขาให้ทุนกับนักเรียนต่างชาติทั่วโลก คือ การเผยแพร่ความเป็นประเทศเกาหลีในหลายมิติ อาทิ ศิลปะดนตรี สังคมและวัฒนธรรม อีกทั้งนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ

เราจึงควรเขียน Self Introduction ถึงจุดประสงค์ของเราให้เชื่อมโยงกับเขาด้วย เช่น แคลร์เรียนรัฐศาสตร์ เรื่องความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยและเกาหลีเป็นสิ่งแรกที่เขียนเลยค่ะ เน้นความประทับใจในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเอกที่เราจะเรียนเป็นพิเศษ จึงเป็นแรงบันดาลใจให้มาเรียนที่เกาหลี เขียนให้เขารู้ว่าเรามีความรู้เกี่ยวกับประเทศเกาหลีระดับนึงและเราจะไปเรียนที่ประเทศเขาเพื่อต้องการต่อยอดด้วยความมุ่งมั่น ที่สำคัญคือ เขียนให้กระชับ ตรงประเด็น เน้นเนื้อๆไม่เอาน้ำๆ

ส่วน Study plan นอกจากเป้าหมายที่จะศึกษาแล้ว เขียนให้เห็นถึงความกระตือรือร้นและเป็นขั้นบันได คือกำหนดไปเลยว่าปีแรกจะทำอะไร เชื่อมโยงไปถึงปีสุดท้าย หัวข้อธีสีท (thesis) หรือโปรเจค (project) จะทำเกี่ยวกับอะไร อย่างไรให้ชัดเจนในทางปฏิบัติ

ส่วน Future plan ในส่วนนี้นอกจากจะเขียนสิ่งที่จะทำในอนาคตแล้ว ควรเขียนอะไรที่เป็นการทำประโยชน์ให้กับประเทศเกาหลีด้วย อย่างน้อยเป็นการเผยแพร่ให้ประเทศเขาซึ่งถือเป็นการตอบโจทย์อย่างแท้จริง สุดท้ายคือ ผลงานและประสบการณ์ต่างๆ ที่เคยทำสำคัญกว่าเกรดเฉลี่ย เพราะประเด็นนี้จะทำให้เราโดดเด่นและแตกต่างจากคนอื่น เพราะเกรดเฉลี่ยเป็นเกณฑ์ที่ตัดสินการเรียนในห้อง แต่พื้นหลังอื่นๆจะเป็นตัวตัดสินความสามารถที่แท้จริงของเราค่ะ แคลร์เป็นคนนึงที่เกรดเฉลี่ยไม่ได้สูงมากมาย แต่ทำกิจกรรมเยอะมากกก ทั้งวิชาการและนันทการ ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ เช่น แคลร์เคยเป็นนักเรียนผู้ช่วยในการประชุมระหว่างประเทศ UNESCAP, นักร้องประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, อาสาสมัครค่ายเพื่อชุมชนในชนบท และนักเรียนแลกเปลี่ยนตอนมัธยมปลายที่ประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น

  • อ่านเพิ่มเติมรายละเอียดทุน แนะนำทุนรัฐบาลเกาหลี KGSP ระดับปริญญาโท-เอก

เทคนิคสัมภาษณ์

ที่สถาทูตสัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษนะคะ แต่ถ้าใครพูดเกาหลีได้ คณะกรรมการอาจให้สัมภาษณ์เป็นเกาหลีได้ค่ะ สิ่งที่ต้องทำสิ่งแรกคือ ตั้งสติค่ะ 55555 สติมาปัญญาเกิด เราจะสามารถตอบคำถามได้ พยายามตอบให้ตรงประเด็นที่สุด อย่าเวิ่นเว้อ ตอบให้ดูมีหลักการและที่สำคัญคือต้องเป็นตัวของตัวเอง เพราะจุดนี้จะทำให้คำตอบของเราไม่เหมือนใคร ส่วนใหญ่ก็เป็นคำถามจิตวิทยาทั่วไป ไม่ยากเท่าไหร่ แต่ควรเตรียมความรู้รอบตัวเกี่ยวกับเกาหลีไว้หน่อยก็ดีค่ะ อ่านข่าวหรือเหตุการณ์ต่างๆ ไว้บ้าง เพราะตอนที่แคลร์สัมภาษณ์โดนคำถามเกี่ยวกับข้อพิพาทเรื่องเกาะระหว่างเกาหลีกับญี่ปุ่น แต่ถ้าเป็นสายวิทย์ก็อัพเดตเทรนนวัตกรรมในขณะนั้น อีกทั้งควรจะ เตรียมตัวกับคำถามสัมภาษณ์พื้นฐานทั่วไป เช่น จุดอ่อนจุดแข็งของตัวเอง นั่งลิสเลยค่ะว่าเขาน่าจะถามอะไรแล้วฝึกพูดหน้ากระจกหรือหาคนมานั่งฟังเลยจะได้ช่วยกันคอมเมนต์คำตอบของเรา เวลาจริงมันตื่นเต้นจะได้ไม่ลนมากนัก สุดท้ายอย่าลืมยิ้มเยอะๆด้วยนะคะ 🙂

  • ตั้งสติ
  • ตอบให้ตรงประเด็น
  • เป็นตัวของตัวเอง
  • ติดตามข่าวสาร
  • รู้จุดอ่อนจุดแข็งตัวเอง
  • ฝึกซ้อมมาอย่างดี
  • ยิ้มเยอะๆ ค่ะ 🙂

คำแนะนำอื่นๆ

ในฐานะที่เป็นรุ่นพี่ขอบอกเลยว่าสำหรับคนที่ไม่มีพื้นฐานภาษาเกาหลีมาก่อน การเรียนภาษาภายในหนึ่งปีแล้วต้องสอบให้ผ่านระดับตามที่ทุนกำหนดก็ว่ายากแล้ว แต่การที่ต้องเรียนปริญญาโทเป็นภาษาเกาหลียากกว่าหลายเท่า เนื่องจากระดับภาษาที่อยู่ในข้อสอบวัดระดับกับภาษาที่ใช้จริงในมหาวิทยาลัยนั้นต่างกันมาก ยิ่งสายสังคมนั้นต้องใช้ภาษามากกว่าสายวิทย์ เพราะต้องอ่านบทความและหนังสือเป็นจำนวนมาก ศัพท์วิชาการทั้งนั้น อีกทั้งยังต้องเขียนงานส่งอีก แคลร์ไม่มีพื้นฐานภาษาเกาหลีมาก่อนเลย ถึงแม้จะผ่านระดับสี่ภายในปีแรก แต่แทบไม่ได้ช่วยให้การเรียนจริงในมหาวิทยาลัยง่ายขึ้นเลย จึงขอแนะนำว่าถ้าเพื่อนๆคนไหนไม่มีพื้นฐานภาษาเกาหลี ควรเรียนภาษาเตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้า เพราะการเรียนรู้ภาษาที่ดีและได้ผลนั้น คือการเรียนอย่างเข้าใจไม่ใช่ท่องจำ สุดท้ายก็ขอให้ทุกคนโชคดีนะค่าาาา ใครอยากปูพื้นภาษาเกาหลีหรือมีคำถามเพิ่มเติม FB : Claire thareechat”

หรือทิ้งคอมเมนต์ไว้ใต้บทความนี้ได้เลยค่ะ 😀

Filed Under: Education Tagged With: ทุนรัฐบาลเกาหลี

แนะนำทุนรัฐบาลเกาหลี KGSP ระดับปริญญาโท-เอก (4): โดยรุ่นพี่สายวิทย์

September 23, 2016 By KaiMook McWilla Malany Leave a Comment

 

หลังจากประสบการณ์สมัครทุนรัฐบาลเกาหลี จาก เพื่อนสาวแอ๊ม (คลิกตอนแรกที่นี่) คราวนี้มากับอีกหนึ่งคน “ป็อป” ค่ะ ป็อป ผู้นอกจากจะป็อปสมชื่อ ยังมีความสามารถด้านวิชาการที่ป็อปไม่แพ้กัน ป็อปได้ทุนไปเรียนที่ประเทศเกาหลีรุ่นเดียวกันกับ แอ็ม ปี พ.ศ. 2016 สายวิทยาศาสตร์ จะมาบอกเล่าอะไรบ้าง อ่านกันเล้ย! –>

 

ป็อป: ทุนรัฐบาลเกาหลีปี 2016

“สวัสดีครับทุกคน เราชื่อ ป๊อบ นะ ได้รับการชักชวนให้มาร่วมแชร์ประสบการณ์เกี่ยวกับทุนการศึกษาของรัฐบาลเกาหลี แต่จะมาพูดถึงในส่วนของฝั่งสายวิทยาศาสตร์กันบ้าง ซึ่งเอาจริงๆแล้วทั้งขั้นตอนการเตรียมใบสมัคร หรือกระบวนการสมัครนั้นเหมือนกับที่ แอ๊ม (อ่านประสบการณืตอนแรกของแอ๊ม คลิกที่นี่) ได้เขียนอธิบายไว้และละเอียดเป็นอย่างมาก (เชื่อเถอะว่าละเอียดชนิดที่ว่าอีกนิดนึงก็เหมือนมานั่งสมัครด้วยกันแล้ว) แต่ก็มีความแตกต่างๆเล็กน้อยที่เราอยากเล่าให้ทุกคนฟัง เผื่อจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย

แต่ก่อนอื่นขอแนะนำตัวแบบสั้นๆหน่อยดีกว่า อีกทีละกันนะเราชื่อ “ป๊อบ” เป็นหนึ่งในนักเรียนทุนจากประเทศไทยที่ได้รับทุนการศึกษาจากรัฐบาลเกาหลีใต้ ปี2016 นี้ ซึ่งโดนสุ่มให้มาเรียนภาษาที่ Sunmoon university (อ่านว่า ซอนมุนเด้อ) อยู่เมืองชอนอัน ไม่ใกล้และไม่ไกลจากโซลเท่าไร และพอจบคอร์สภาษาที่นี่เราก็จะไปเรียนต่อปริญญาโทในสาขา Smart food and Drug ที่ Inje University อยู่เมืองกิมแฮซึ่งเป็นเมืองลูกของปูซานนั่นเอง ใครนั่งเครื่องมาลงปูซานก็แวะมาหาเราได้อยู่ใกล้ๆสนามบินสุดๆ เอาหล่ะก่อนจะออกทะเลมาเข้าเรื่องกันดีกว่าก็คือ จะขอพูดในสิ่งที่มันแตกต่างกันไประหว่างสายศิลป์และสายวิทย์ละกันเนอะ

ข้อแรกเลย อย่างที่น่าจะรู้กันคร่าวๆบ้างแล้วว่า การสมัครทุนนี้สามารถสมัครได้ 2 ช่องทาง คือ สายสถานทูต กับ สายมหาวิทยาลัยโดยตรง ซึ่งโควตาของปีนี้ให้ทางสายมหาวิทยาลัยคือ 9 คน ซึ่งในจำนวน 9 คนนี้ แบ่งเป็นเงื่อนไขพิเศษ 2 คน สำหรับผู้สมัครที่เลือกเรียนในสาขา Engineering และ Life Science โดยมหาวิทยาลัยที่เลือกเรียนต้องอยู่ในรายการของมหาวิทยาลัยที่เป็น Non-region ด้วยนะ ซึ่งมหาวิทยาลัยและสาขาที่เราเลือกเรียนนั้นอยู่ตามในลิสท์นี้ทั้งหมด แต่ก็ไม่สามารถตอบได้ว่าตัวเองเป็นคนที่อยู่ในกลุ่มเงื่อนไขนั้นไหม เพราะตอนประกาศผลออกมาเขาก็ไม่ได้แยกประเภทใดๆ แต่คิดว่าน่าจะเป็นทริคเล็กที่เพิ่มโอกาสในการได้ทุนไม่มากก็น้อย จริงๆการเรียนต่างจังหวัดก็ดีนะจะได้ไม่ขยันเที่ยว (เป็นงั้นไปอีก เอาเข้าจริงแล้วมันคือการปลอบใจตัวเอง 5555)

หมายเหตุ: แต่เราไม่ได้ชี้ทางให้ทุกคนเลือกมหาวิทยาลัยต่างจังหวัดแต่อย่างใดนะ เราแค่แนะนำซึ่งยังไงเวลาก่อนจะเลือกสมัครมหาวิทยาลัยใดๆ ก็ควรที่จะชั่งน้ำหนักปัจจัยต่างๆดูก่อน ค้นหาข้อมูลดูก่อนว่ามันเป็นอย่างไร และที่สำคัญมากถึงมากที่สุดก็คือ ควรติดต่อกับอาจารย์ทางฝั่งเกาหลีในมหาวิทยาลัยที่เราสนใจดูก่อน ว่าเขายินดีที่จะต้อนรับเราไหมและเราโอเคกับเขาไหม ซึ่งก็ประเมินกันคร่าวๆผ่านตัวอักษรที่คุยกันในอีเมล์นี่แหละ เพราะการไปเรียนต่อป.โท สิ่งที่สำคัญสุดๆอีกอย่างหนึ่งที่เราคิดคือ อาจารย์ที่ปรึกษา ถ้าเรากับที่ปรึกษาเข้ากันได้ คุยกันรู้เรื่อง ความคิดเห็นไปในทิศทางที่คล้ายๆกัน เราว่าการเรียนให้จบมันจะเรียบง่ายขึ้นเป็นอย่างมากเลย ซึ่งส่วนตัวที่เลือกเรียนที่ Inje University เพราะเมื่อสองปีก่อนเราเคยมาเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่นี่ และปีที่แล้วก็ได้มาฝึกงานที่นี่ด้วยเหมือนกัน จึงรู้สึกผูกพันและก็มั่นใจว่าถ้าเลือกเรียนที่นี่ยังไงก็ราบรื่น มีความสุขแน่ๆ (หวังว่าจะเป็นอย่างนั้นแหละเนอะทุกคน แหะๆ)

  • สายวิทย์กับสายศิลป์ต่างกันอย่างไร?

มาที่ ข้อต่อไปที่เห็นว่าแตกต่างกัน (อาจจะดูต่างกันไม่มากแต่ก็แอบต่างอยู่นะ) คือ ในเรื่องของเงินทุนในการสนับสนุนในการตีพิมพ์งานวิจัย ก็คือในส่วนของสาย Liberal art and Social science จะได้ 500,000 วอน ส่วนในสาย Engineering, Science and Technology จะได้ 800,000 วอน ซึ่งรายละเอียดยังไม่ทราบมากนัก แต่ความแตกต่างก็น่าจะประมาณนี้

ป็อป: ทุนรัฐบาลเกาหลีปี 2016

มาถึงเรื่องของคำแนะนำสำหรับการสมัครทุนนี้ โดยทุนรัฐบาลเกาหลีใต้นี้ หัวใจสำคัญๆเลย คือ

  • Statement of purpose มันเป็นอะไรที่สำคัญมากจริงๆทุกคนและท้าทายมากด้วยที่จะอธิบายข้อความลงไปใน 1 หน้ากระดาษ A4 แล้วทำให้กรรมการที่ไม่เคยรู้จักเรามาก่อนได้รู้จักตัวตนของเรา และสนใจเรา ซึ่งที่อยากจะแนะนำคือก่อนที่จะเริ่มเขียนลองลิสต์รายการดูก่อนก็ได้ว่าสิ่งใดที่เราอยากบอกเขา และมาจัดอันดับดูว่าข้อไหนที่จะทำให้กรรมการได้รู้จักเราและจะสนใจเรามากที่สุด และก็ใส่ความเป็นตัวเองลงไปอย่าไปเลียนแบบคนอื่นเลยเชื่อเรา ถ้าเป็นไปได้แอบเขียนหยอดในสิ่งที่มันดูเกี่ยวข้องกับประเทศเกาหลีและการเรียนของเราดุ เราคิดว่ามันก็น่าจะทำให้กรรมการสนใจเราไม่มากก็น้อยนะ อย่างของเราเรียนสายอาหารและโภชนาการ เรามีก็แอบหยอดไปประมาณว่า เราเคยดูซีรี่ย์เรื่องแดจังกึม ซึ่งในเรื่องแดจังกึมทำอาหารก็เก่งและใช้อาหารช่วยเยียวยาผู้คนที่เจ็บป่วยด้วย ซึ่งมันตรงกับสาขาที่เราเรียนพอดีแถมได้อวยเขาไปด้วยไรงี้
  • Study plan ในส่วนของ Study plan เราไม่ได้แค่เขียนแผนการเรียนหรือหัวข้องานวิจัยที่สนใจอย่างเดียวแต่เราเขียนถึงการที่เราจะพัฒนาตัวเองในด้านภาษาเกาหลียังไง และก็บอกว่าจะทำกิจกรรมเพื่อพัฒนาสังคมและเผยแพร่ความเป็นไทยให้คนเกาหลีได้รับรู้ด้วย ซึ่งข้อนี้ใครจะแอบเอาไอเดียไปต่อยอดก็ไม่ว่ากันน้า
  • Future plan ก็อารมณ์คล้าย study plan นี่แหละ แต่หลักสำคัญเลยคือเป็นตัวของตัวเองนะอย่าลืม และที่สำคัญมากๆอีกควรเอาให้เพื่อน อาจารย์ หรือคนรู้จักอ่านดูว่าเขาเข้าใจไหมในสิ่งที่เราเขียนลงไป อย่างของเราได้พี่ที่สนิทกันช่วยตรวจทานและแนะนำแก้ไขให้เลยออกมาเป็นรูปร่างที่ดีขึ้น
  • เอกสารอื่นๆ เช่นพวกเอกสารทางการศึกษา และเอกสารในการยืนยันสัญชาติ ก็ไม่ควรที่จะละเลยนะ เพราะเอาจริงๆแล้วขั้นตอนตรงนี้ก็มีความยุ่งยากพอควร ต้องมาแปลเอกสารเป็นภาษาอังกฤษและให้ทางสถานทูตรับรองอีก ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้เตรียมตัวไว้แต่เนิ่นๆเลยดีกว่า

ข้อแนะนำเพิ่มเติม สำหรับคนที่อ่านถึงตรงนี้แล้วปีหน้า และได้เป็นหนึ่งในผู้ที่ผ่านการคัดเลือกรอบแรก สิ่งที่ต้องไปทำคือการตรวจร่างกายซึ่งมีความเฉพาะและตรวจเยอะมากหลายสิ่งอย่าง สิ่งที่เราจะแนะนำคือ ไปตรวจโรงพยาบาลที่ผ่านการรับรองจากสถาทูตเป็นอันดีที่สุด เพราะเมื่อผ่านการคัดเลือกรอบสองแล้ว ตอนไปยื่นขอวีซ่าจะมีการเรียกขอผลตรวจร่างกายเรื่องโรควัณโรคอยู่ ซึ่งถ้ารอบแรกไปตรวจโรงพยาบาลที่สถานทูตไม่รับรอง ก็จะต้องไปทำการตรวจอีกรอบน้า (แบบพี่ๆเด็กทุนรอบเดียวกันนี่แหละ 55555 วุ่นวายกันหลายคนเลย ) อย่างของเราไปตรวจที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ก็คือเรียบร้อยดีไม่มีปัญหา และบริการดีด้วย ไว้ด้วยแหละ

สุดท้ายก็อยากจะขอบคุณทุกคนที่อ่านจนจบ ขอบคุณเจ้าของกระทู้มากนะครับที่ให้โอกาสได้มาแชร์ประสบการณ์นี้ ตามปณิธานที่เราเคยตั้งใจไว้ว่าถ้าเราได้ทุนเราก็จะแชร์ประสบการณ์ให้คนที่สนใจรุ่นต่อๆไปมีแนวทาง และหวังว่าจะได้เจอกันสำหรับคนที่สนใจทุนรัฐบาลเกาหลีใต้ และมาเป็นครอบครัว Thai KGSP กันนะ”

 


  • อ่านบทความอื่นๆ เกี่ยวกับ การศึกษาและข้อมูลทุน คลิกที่นี่

 

Filed Under: Education Tagged With: ทุน, ทุนรัฐบาลเกาหลี, นักเรียนทุน

แนะนำทุนรัฐบาลเกาหลี KGSP ระดับปริญญาโท-เอก (3)

September 11, 2016 By KaiMook McWilla Malany 10 Comments

แนะนำทุนรัฐบาลเกาหลี KGSP ระดับปริญญาโท-เอก

  • แนะนำทุน วิธีการสมัครทุน (ตอนที่ 1: คลิกที่นี่)
  • การขอเอกสาร/รับรองเอกสาร, Letter of Introduction, Statement of Purpose และ ส่วนอื่นๆ ในเอกสารประกอบการสมัคร (ตอนที่ 2: คลิกที่นี่)

ในตอนนี้ บทความที่เรื่อง หัวข้อ “แนะนำทุนรัฐบาลเกาหลี KGSP ระดับปริญญาโท-เอก” ครอบคลุมเรื่อง

  • Recommendation Letter
  • เคล็ดลับการเขียนใบสมัคร
  • การสอบสัมภาษณ์

 

แอ๊ม: ทุนรัฐบาลเกาหลีปี 2016

Recommendation Letter

เอกสารนี้เป็นอีกอย่างที่สำคัญไม่แพ้กัน การเลือกหาอาจารย์ที่เหมาะสมจะเขียนจดหมายแนะนำตัวให้เราเป็นอะไรที่ยากและต้องคิดเยอะมาก ในประกาศขอจดหมาย 1 ฉบับ แต่เราแอบแนบไปสองฉบับ ฉบับนึงจากอาจารย์ในเมเจอร์ตัวเอง อีกฉบับจากอาจารย์เกาหลี เพราะเราต้องการให้เขาเห็นว่าเรามีความสนใจที่กว้างนะ สนใจทั้งเกาหลีและเมเจอร์ตัวเองจริงๆ แนะนำว่า เต็มที่จะแนบได้คือ 2 ฉบับนะคะ เพราะถ้าสามจะเยอะเกินไป และอาจจะโดนครหาได้ว่าทำผิดกฎ (แฮ่ แค่นี้ก็ผิดกฎแล้วเน๊อะ)

ทริค

เราจะสรุปทริคเป็นข้อๆ แบบสั้นๆ เร็วๆ สำหรับเอกสารให้ก่อนนะคะ

  1. พิมพ์ใบสมัคร ห้ามเขียน เพราะยังไงตัวพิมพ์ก็อ่านง่ายกว่าลายมือเราแน่ๆ
  2. ถ้าทำได้ แนบเรซูเม่และพอร์ทโฟลิโอแบบย่อๆ ของตัวเองไปให้เขาด้วย เราแนบแทบทุกอย่างที่เกี่ยวกับเมเจอร์ตัวเองและเกาหลีไปเผื่อ ยอมเสียตังค์ค่าแปลใบเกียรติบัตรไปอีกหนึ่งใบ เพื่อให้เขารู้ว่าเรามีผลงานอะไรบ้าง
  3. ถ้าเป็นกิจกรรมที่ไม่มีเกียรติบัตร ให้แนบรูปและเขียนคำบรรยายไปแทนได้ค่ะ
  4. จัดเรียงลำดับเอกสารให้เรียบร้อย หนีบคลิปไปด้วยให้เป็นระเบียบ ทำให้อ่านง่าย สะอาด เรียบร้อยที่สุด ให้รู้สึกได้ว่าเราใส่ใจนะ
  5. อย่าลืมเขียนเลขและชื่อเอกสารกำกับหัวมุมตามประกาศให้เรียบร้อยด้วย
  6. สำหรับคนที่ส่งเอกสารทางไปรษณีย์ ต้องส่งลงทะเบียนนะคะอย่างน้อย เพราะเราจำเป็นต้องติดตามเอกสารของเราได้ และแน่ใจว่าจะไม่หาย พยายามติดตามสถานะให้ดีและอีเมลยืนยันกับปลายทาง เมื่อสถานะปรากฏว่าได้รับเอกสารเรียบร้อยแล้วด้วยค่ะ

จบตรงนี้ สามารถนั่งรอลุ้นไปสัมภาษณ์กันต่อได้เลย

ทริคสำหรับช่วงสอบสัมภาษณ์

ส่วนของการสอบสัมภาษณ์ เราไม่มีประสบการณ์สำหรับช่องทางสถานทูตจริงๆ ถ้ายังไงต้องขอโทษด้วยนะคะที่จะแนะนำได้ละเอียดจริงๆ จะเป็นช่องทางมหาวิทยาลัยมากกว่า เมื่อเรารอทางมหาวิทยาลัยยืนยันการสอบสัมภาษณ์ ก็ได้เวลาเตรียมตัวสอบสัมภาษณ์กัน

ส่วนใหญ่มหาวิทยาลัยจะส่งอีเมลมายืนยันว่าเราผ่านการพิจารณา ได้สอบสัมภ
าษณ์ช่วงก่อนหน้าจะสัมภาษณ์ประมาณ 2 – 3 วัน เหมือนพอมีเวลาให้เราเตรียมตัว เตรียมใจและตื่นเต้นได้นิดนึง ส่วนใหญ่จะบอกมาด้วยว่าจะสัมภาษณ์เป็นเกาหลีหรืออังกฤษ เราได้อีเมลตอนเราอยู่บนรถไฟใต้ดิน กลับบ้านปุ๊บนี่รีบเปิดคอมฯ มาเขียนสคริปก่อน ฮ่าๆๆ เป็นคนต้องมีสคริปไว้ให้อุ่นใจ วิธีการสัมภาษณ์ของมหาวิทยาลัยจะมีฮิตๆ อยู่ 2 แบบ คือ โทรเข้าโทรศัพท์ หรือสไกป์ค่ะ ของเราไม่รู้โชคดีหรือโชคร้าย แต่เราได้สไกป์ ทำให้รู้ว่า ดูสคริปที่เขียนไว้ไม่ได้นะ

ถ้าทำได้ เราแนะนำให้ซ้อมสัมภาษณ์กับใครซักคน พอดีเรามีเพื่อนที่ว่างอยู่พอดี เลยมาช่วยเป็นคู่ซ้อมให้ประมาณสามสี่รอบ นั่งเก็งคำถามที่คิดว่าน่าจะถูกถาม ตั้งแต่ถามทั่วไป เป็นใคร ชื่ออะไร เรื่องการปรับตัวจนถึงหัวข้อวิจัย ซ้อมครบแล้วเลยมั่นใจขึ้น พร้อมเจอของจริง

ในวันสัมภาษณ์จริงๆ นี่เราแทบจะปิดบ้านเลย บอกทุกคนว่าขออยู่ในห้องตัวเอง ไม่ให้ใครมาเรียกจนกว่าจะออกไปเอง นอนเร็ว ตื่นเช้า อาบน้ำ กินข้าว แต่งตัวใส่ชุดนิสิตเรียบร้อย นั่งรอ (ตอนนั้นสัมภาษณ์ตอนเช้าค่ะ ทับเวลาเรียนด้วย เราเลยขออาจารย์ที่คณะว่าจะเข้าสาย) มีการเทสต์เสียงก่อนนิดหน่อย จากนั้นก็ถึงคิวเราสัมภาษณ์ ตอนโดนสัมภาษณ์คือ รู้สึกว่าทุกอย่างผ่านไปเร็วมาก สคริปที่เขียนไว้ไม่ได้พูดตามเลย เพราะมีเซอร์ไพร์สที่อาจารย์ที่สัมภาษณ์เรา ดันสัมภาษณ์เราเป็นภาษาเกาหลี ตกใจแทบสิ้นสติ แต่ก็ค่อยๆ ถูๆ ไถๆ ไปเท่าที่สกิลภาษาเกาหลีขั้นต้นของตัวเองจะอำนวย เราพูดประโยคแรกเป็นเกาหลี แล้วค่อยอธิบายรายละเอียดเป็นภาษาอังกฤษ ทำให้เขารู้สึกว่าเราพยายามที่สุดแล้วไปก่อน อีกอย่างคือ ร่าเริงแจ่มใสและเป็นตัวของตัวเอง ค่อยๆพูด พูดให้ชัดเจน ไม่ต้องคิดมากว่าเราต้องรัวเร็วใส่กรรมการ

หลังจากนั้น มหาวิทยาลัยจะส่งอีเมลมาหาเราว่า เราผ่านรอบสัมภาษณ์และมหาวิทยาลัยส่งชื่อเราไปเป็นตัวแทนมหาวิทยาลัยให้รัฐบาลเลือกต่อไปในรอบสอง ถ้าได้รับอีเมลแล้ว ที่เหลือที่ทำได้คือ สวดมนต์และเตรียมใจเผื่ออย่างเดียวค่ะ ฮ่าๆๆ เพราะรอบสองของรัฐบาล คัดเลือกจากเอกสารอย่างเดียว ไม่มีการเรียกสัมภาษณ์ รู้ผลอีกทีคือตอนผลออกเลย ถ้าผ่านรอบสอง คอนเฟิร์มได้เยอะแล้วว่ามีลุ้นได้ทุนแน่นอนค่ะ (สำหรับช่องทางมหาวิทยาลัย ส่วนของช่องสถานทูต ต้องไปเจอกับการสัมภาษณ์ของแต่ละมหาวิทยาลัยอีกทีเน๊อะ)

เป็นกำลังใจให้ทุกคนนะคะ 😀

เล่าหมดเปลือกมากแล้ว ไม่เคยพิมพ์เยอะและละเอียดขนาดนี้ ฮ่าๆๆ ยังไงเราหวังว่า ประสบการณ์ของเราจะเป็นประโยชน์กับคนอื่นที่แว่บมาอ่านแล้วสนใจบ้างไม่มากก็น้อยนะคะ เราเชื่อว่าเวลาเราอยากได้อะไร เราต้องลงทุนด้วยอะไรบางอย่างเสมอ ไม่ว่าจะแรงกายหรือแรงใจ มันจะเหนื่อยมากและท้อมากระหว่างที่ทำ รู้สึกไม่มั่นคงด้วยว่าทำไปแล้วจะได้ ซึ่งก็จริง เพราะคนที่ได้ทุนไม่ใช่คนส่วนใหญ่ แต่เป็นคนส่วนน้อย เราเองเคยสมัครทุนนี้รอบปริญญาตรีแล้วไม่ได้มาก่อนเหมือนกัน ตอนนั้นก็เสียใจมาก แต่สุดท้ายก็เอาใบสมัครตัวเองมาลองดูใหม่ เราเลยมาพิจารณาจุดอ่อนตัวเองได้ เอามาแก้แล้วเขียนใหม่ รู้สึกเหนื่อยกับการพยายามมาหลายรอบ หลายหนเหมือนกัน เรารู้ว่า การพยายามมันเหนื่อย แต่ถ้าเราพยายามอย่างน้อยมันก็ทำให้เรามีโอกาสได้อย่างน้อย 1 เปอร์เซ็นต์ เราเป็นกำลังใจให้ทุกคนในการพยายามทำให้โอกาส 1 เปอร์เซ็นต์นั้นเป็นจริงนะคะ 🙂

มีอะไร สามารถส่งมาถามได้ จะพยายามแหวกเวลาและกองการบ้านมาตอบ

ปล. สุดท้ายจริงๆ ขอบคุณที่อ่านมาจนถึงตอนจบค่ะ”

 


อ่าน บทความการศึกษาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง คลิกที่นี่

  • แนะนำทุนรัฐบาลเกาหลี KGSP ระดับปริญญาโท-เอก 1 คลิกที่นี่
  • แนะนำทุนรัฐบาลเกาหลี KGSP ระดับปริญญาโท-เอก 2 คลิกที่นี่
  • หากมีคำถาม หรือ ข้อสงสัยใดๆ ทิ้งคอมเมนต์ไว้ใต้โพสได้เลยนะคะ ? 
  • เพื่อนทุนเกาหลีในเครือ จะมาตอบให้ด้วยความเต็มใจ ไม่มีกั๊ก ค่า

 

Filed Under: Education Tagged With: ทุน, ทุนรัฐบาลเกาหลี

  • 1
  • 2
  • Next Page »

KAIMOOK MALANY

ฉันโตมากับการไม่อยู่เป็นหลักแหล่ง ฉันสู้ ดิ้นรน ปรับตัว เป็นฉันในวันนี้ ที่ยิ้มเก่ง ช่างพูด กล้าถาม ชื่นชอบการพบปะผู้คน รักการเรียนรู้ หลงรักการผจญภัย และอยู่อย่างสันโดษได้ นอกจากจะเพราะครอบครัวที่รักและคอยให้การสนับสนุนฉันแล้ว ส่วนหนึ่งยังเป็นเพราะตัวฉันที่ไม่ชอบอยู่นิ่ง (wander) สิ่งที่ฉันได้เจอ ศึกษาค้นคว้าและเรียนรู้เป็นความน่าหลงใหล (wonderful) ที่ฉันอยากจะแลกเปลี่ยนแบ่งปัน ทุกอย่างที่เขียนขึ้นกลั่นออกมาจากใจฉันเองค่ะ (minds)

Join the Social Conversation

  • Facebook
  • Instagram
  • Pinterest

Copyright © 2015-2019 · Squiddy Productions · This site powered on interstellar cognitions · Privacy