แนะนำทุนรัฐบาลเกาหลี KGSP ระดับปริญญาโท-เอก
หลังจาก กลยุทธิ์เด็ดการสมัครทุนรัฐบาลเกาหลี แนะนำทุนคร่าวๆ แบบเน้นลึกตรงประเด็น วิธีการสมัครทุน (ตอนที่ 1: คลิกที่นี่) แล้ว ใน ภาค 2 บทความนี้: แนะนำทุนรัฐบาลเกาหลี KGSP ระดับปริญญาโท-เอก (2) เราจะมาดูกันว่า
- การขอเอกสาร รับรองเอกสาร ควรทำอย่างไร
- วิธีการเขียน Letter of Introduction
- วิธีการเขียน Statement of Purpose
- (อ่านเคล็ดลับ การเขียน Statement of Purpose และ Motivation Letter: คลิกที่นี่)
- ส่วนอื่นๆ ในเอกสารประกอบการสมัครล่ะ ควรเขียนแบบไหนดีนะ

แอ๊ม: ทุนรัฐบาลเกาหลีปี 2016
การทำใบสมัครทุนเกาหลีมี การขอเอกสารและจำเป็นต้องแปลและรับรองเอกสาร หลายตัวมาก ตรงนี้ แนะนำให้อ่านประกาศรับสมัครให้ละเอียด เราอ่านหลายรอบมาก ดูให้ชัดว่าต้องแปลและรับรองเอกสารยังไงบ้าง ติดต่อกับสถานทูตหรือมหาวิทยาลัยที่ตัวเองสมัครเพื่อยืนยันด้วยก็ดีว่า ต้องให้ใครรับรองเอกสารบ้าง เพราะสถานทูตและมหาวิทยาลัย (ซึ่งมีหลายมหาวิทยาลัยมาก) มีเงื่อนไขในการรับรองเอกสารที่เข้มงวดแตกต่างกันออกไป ติดต่อได้ทั้งทางโทรศัพท์และอีเมลเลยค่ะ อย่ากลัวหรือเกรงใจที่จะถาม เราจำเป็นต้องละเอียดกับทุกขั้นตอนจริงๆ เจ้าหน้าที่ที่รับหน้าที่ค่อนข้างจะเข้าใจดี แต่ย้ำอีกครั้งเลยว่าเราเองก็ต้องอ่านเองให้ละเอียดก่อน เพราะในประกาศบอกไว้ค่อนข้างละเอียดมากอยู่แล้ว บางคนยังอ่านไม่ละเอียดแล้วถามย้ำ นี่อาจจะทำให้เจ้าหน้าที่หงุดหงิดได้ เราเองก็ยังแอบหงุดหงิดเองเวลาคนมาถาม ทั้งที่ถ้าอ่านจะเจอแน่ๆ ฮ่าๆๆ ต่อไปจะเป็นส่วนที่ทุกคนน่าจะสนใจที่สุดส่วนนึงค่ะ และเป็นหัวใจหลักในการที่ทางโครงการจะพิจารณาว่าจะให้ทุนหรือไม่ให้ทุนเราดีเลยล่ะ Letter of Introduction กับ Statement of Purpose
วิธีการเขียน Letter of introduction และ Statement of Purpose (SOP)
(เคล็ดลับการเขียน อ่านเพิ่มเติมได้ คลิกที่นี่)
สำหรับทุนรัฐบาลเกาหลี ส่วนสำคัญที่จะมีผลในการได้ทุนอยู่ที่ Letter of Introduction และ SOP เลย รุ่นพี่ทุนที่เรารู้จักบอกว่า มหาวิทยาลัยจะสนใจเราได้หรือไม่ ขึ้นกับ Letter of Introduction และ Study Plan ส่วนตัวรัฐบาลจะสนใจ SOP มากกว่า ยังไงก็ต้องทำให้ดีสุดชีวิตทั้งคู่แบบไม่มีข้อแม้ ทั้งสองอย่างนี้ต้องเป็นภาษาอังกฤษหรือเกาหลีเท่านั้นค่ะ
ส่วนของ Letter of Introduction มีรายละเอียดบอกไว้คร่าวๆ แล้วว่าเราต้องเขียนอะไรบ้าง เล่าเรื่องชีวิตของเรา พื้นหลังการศึกษา ประสบการณ์ทำงานที่คิดว่าเกี่ยวข้องกับโครงการ แรงบันดาลใจที่ทำให้เราสมัครทุนและเหตุผลที่เราต้องไปเรียนที่เกาหลี โดยทั้งหมดนี้ต้องอยู่ในพื้นที่ 1 หน้ากระดาษเอสี่ มีการกำหนดขนาดและรูปแบบตัวอักษรมาชัดเจน นั่นหมายความว่า ทุกเซนติเมตรในกระดาษแผ่นนี้มีความหมายมาก พยายามดึงความเป็นตัวเองออกมา แล้วเขียนในแบบของตัวเอง ต้องทำให้เขารู้จักเราดีที่สุดในพื้นที่หนึ่งหน้ากระดาษนี้ ต้องวางแผนและคิดดีๆ เลยล่ะค่ะ เราเขียนหลายวันมาก จำได้ว่าลองร่างเป็นภาษาไทย เอาไปให้อาจารย์ดูหนนึง อ่านจบ อาจารย์บอกว่าให้เขียนใหม่ ไม่ใช่ให้แก้นะ ให้เขียนใหม่ เรานี่น้ำตาจะไหล ฮ่าๆๆ นั่งคิดอยู่หลายวัน กว่าจะหาวิธีเล่าเรื่องของตัวเองออกมาได้ เขียนเป็นภาษาอังกฤษเสร็จปุ๊บ จากนั้นเราก็ให้เพื่อนช่วยอ่านทวนแก้แกรมม่าภาษาอังกฤษให้สวยงามอีกที ก่อนให้อาจารย์คอนเฟิร์มให้อีกรอบ
ด้วยความที่พื้นที่เป็นเงินเป็นทอง ข้อมูลอะไรที่มีอยู่ส่วนอื่นอยู่แล้วในใบสมัครส่วนอื่น เช่น ชื่ออะไร เป็นใคร เรียนอยู่ที่ไหน เราแนะนำให้ตัดออก เพราะพื้นที่น้อย แต่ให้เข้าประเด็นเร็วๆ ตรงไปตรงมา ไม่เขียนประโยคยาวเกินไป ห้ามเข้าใจยาก ลองจินตนาการว่า กรรมการต้องอ่านใบสมัครคนเป็นร้อยเป็นพันคน เขาขี้เกียจถอดรหัสหรืออ่านอะไรที่มีแต่น้ำท่วมทุ่งแน่ๆ พยายามทำให้สั้น กระชับ เข้าใจง่าย ตรงเป้าหมาย เขียนให้เขาเห็นถึงความตั้งใจ ความมุ่งมั่น ความพยายามที่ซ่อนอยู่ของเรา วางโครงเรื่องให้ดีว่าย่อหน้าไหน จะเขียนถึงประเด็นไหน แล้วเล่าให้ตรงประเด็น เราขอยกตัวอย่างโครงร่างของเราคร่าวๆ ค่ะ
ตัวอย่าง Letter of Introduction
- ย่อหน้าแรก เราเขียนว่า ความสนใจในประเทศเกาหลีของเราเกิดจากอะไร
- ย่อหน้าที่สอง เราเขียนว่า ในมหาวิทยาลัย นอกจากเรียนแล้ว เราทำอะไรบ้าง (ไม่แนะนำให้เสนอเรื่องเรียน เพราะมีส่วนของเกรดให้กรอกอยู่แล้ว) เราเลือกเขียนทั้งกิจกรรมที่เกี่ยวกับวิชาเอกของเราและที่เกี่ยวกับเกาหลี (พอดีเราทำงานชมรมเกาหลีมาบ้างด้วยเหมือนกัน)
- ย่อหน้าที่สาม เราเขียนถึงประสบการณ์ที่เราเคยไปแลกเปลี่ยน เพื่อให้เขารู้ว่าเราจะสามารถไปอยู่ข้างนอกได้อย่างปลอดภัย สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมนานาชาติได้ (ตอนนี้ชีวิตก็นานาชาติมาก เพราะเป็นคนไทยทุนระดับปริญญาโทคนเดียวที่ถูกส่งมาเรียนภาษาที่นี่ ฮ่าๆๆ)
- ย่อหน้าที่สี่ เราเขียนถึงประสบการณ์ทำงานพาร์ทไทม์ของเรา (เราเคยเป็นผู้ช่วยวิจัยอาจารย์ตอนเรียนปริญญาตรีค่ะ เราเลยให้รายละเอียดถึงงานที่เราเคยทำไปย่อๆ)
- ย่อหน้าสุดท้าย เราเขียนถึงเหตุผลที่ขอทุนและที่ต้องไปเรียนเกาหลีไป
อ๋อ รวมๆ ทุกอย่างเราเขียนหมดเลยว่า ประสบการณ์ที่เราเจอ หล่อหลอมให้เราเป็นคนแบบไหน ยังไง เขาจะได้เห็นทั้งเรื่องราวชีวิตของเราและความเป็นตัวเราได้พร้อมๆ กัน
ทุกคนอาจจะคิดว่า เอ๊ย เขียนแบบนี้เลยน่าจะได้ทุน เราไม่แนะนำให้เขียนตามโครงร่างของคนอื่นเลยค่ะ เพราะถ้าเราไม่ได้เป็นตัวของตัวเอง เวลาเขียนออกมา ความรู้สึกมันจะไม่แรงพอที่จะส่งถึงคนอ่านได้ แนะนำให้หาแนวการเขียนของตัวเอง และเขียนออกมาให้เป็นตัวเองที่สุดค่ะ 😀
ตัวอย่าง Statement of Purpose
ต่อไปในส่วนของ Statement of Purpose ของทุนรัฐบาลเกาหลีนั้น จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนย่อย คือ Study Plan และ Future Plan เราจะขอแบ่งเล่าเป็นสองย่อหน้าเลยนะคะ
- Study Plan ส่วนนี้ตรงตัว เราต้องเขียนถึงเป้าหมายที่เราจะศึกษา ถ้ามีหัวข้อกว้างๆ เกี่ยวกับสิ่งที่เราสนใจด้วยแล้วจะดีมาก และให้รายละเอียดเท่าที่จะทำได้ ความจริงตรงนี้เปลี่ยนได้ แต่ถ้ามีแล้ว จะทำให้เราดูมีความมุ่งมั่นและเตรียมตัวมาดีขึ้นอีกนิดนึง เราเองเขียนถึงหัวข้อที่เราสนใจและบอกเหตุผลว่าทำไมเราถึงอยากทำเรื่องนี้ เรื่องนี้สำคัญยังไง ถ้าเป็นสายวิทยาศาสตร์อาจจะเขียนแผนเข้าแลปอะไรทำนองนี้คร่าวๆ แนบไปด้วยก็ได้ค่ะ ของเราสายสังคม เลยเน้นอ้างอิงงานวิจัยหรือผลสำรวจองค์กรเพื่อให้ดูมีการทำรีเสิร์ชเพิ่มอีกนิดนึง แนะนำเสริมได้อีกนิด คือให้ไปนั่งเปิดจากเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยและเมเจอร์ที่เราจะไปเรียน ดูว่ามีคอร์สอะไร เพื่อให้เอามาเขียนเสริมได้ด้วยว่าเราอยากเรียนวิชาอะไรบ้าง เพื่อสร้างฐานความรู้ให้เราไปต่อยอดต่อได้ยังไง จะทำให้เราดูใส่ใจมากขึ้นอีกระดับนึงด้วย ของเราเอง นอกจากข้างบนที่พูดไปแล้ว เราใส่ถึงกิจกรรมสัมมนาวิชาการที่เราจะเข้าร่วม อะไรแบบนี้ไปด้วย แสดงให้เห็นว่าเราใส่ใจไม่เฉพาะแค่ในห้องเรียนอย่างเดียว เราอัพเดตโลกรอบตัวด้วย
- Future Plan ตรงนื้คือแผนการว่า หลังเรียนจบแล้ว เรามีแผนจะทำอะไรต่อ ตรงนี้เรามองว่าเป็นจุดขายอีกจุดนึงที่จะทำให้รัฐบาลเลือกว่าจะทุนหรือไม่ให้ทุนเรา เพราะการให้ทุนคือการเอาเงินภาษีของประชาชนเกาหลีมาจ่ายให้เราเรียน เขาจะดูว่าสุดท้ายแล้ว การลงทุนของเขาในครั้งนี้จะทำให้เขาอะไรได้กลับมา เราไม่แนะนำให้เขียนอวยเกาหลีมากสุดๆ จนไม่สนใจประเทศแม่ สุดท้ายแล้วยังไงกรรมการก็รู้ค่ะ เขียนบนพื้นฐานของความจริงและความเป็นไปได้จะดีที่สุดเน๊อะ ใดๆ ต้องทำให้เขารู้สึกว่าการลงทุนครั้งนี้จะวิน-วินกันทั้งสองฝั่ง นั่นน่าจะดีที่สุดค่ะ ส่วนตัวเราเขียนแผนระยะสั้นและระยะยาว มีการอธิบายรายละเอียดของแผนระยะสั้นคร่าวๆ ให้เห็นภาพด้วยว่า เราจะทำอะไรกับช่วงนั้นบ้าง และมันจะช่วยเกาหลีและไทยได้ยังไงในเวลาเดียวกัน
ส่วนนี้ถ้ามีเยอะ อยากเขียนยาว สามารถเขียนเพิ่มในกระดาษอื่นได้อีก 1 แผ่นค่ะ แต่อย่างที่บอก ควรตรงประเด็นที่สุดเท่าที่จะทำได้นะคะ 😀
ในส่วนของ Letter of Recommendation, เคล็ดลับต่างๆ และ บทสัมภาษณ์ คลิกที่นี่ ค่ะ
- หากมีคำถาม หรือ ข้อสงสัยใดๆ ทิ้งคอมเมนต์ไว้ใต้โพสได้เลยนะคะ ?
- เพื่อนทุนเกาหลีในเครือ จะมาตอบให้ด้วยความเต็มใจ ไม่มีกั๊ก ค่า
Leave a Reply