หลังจากประสบการณ์สมัครทุนรัฐบาลเกาหลี จาก เพื่อนสาวแอ๊ม (คลิกตอนแรกที่นี่) คราวนี้มากับอีกหนึ่งคน “ป็อป” ค่ะ ป็อป ผู้นอกจากจะป็อปสมชื่อ ยังมีความสามารถด้านวิชาการที่ป็อปไม่แพ้กัน ป็อปได้ทุนไปเรียนที่ประเทศเกาหลีรุ่นเดียวกันกับ แอ็ม ปี พ.ศ. 2016 สายวิทยาศาสตร์ จะมาบอกเล่าอะไรบ้าง อ่านกันเล้ย! –>

ป็อป: ทุนรัฐบาลเกาหลีปี 2016
“สวัสดีครับทุกคน เราชื่อ ป๊อบ นะ ได้รับการชักชวนให้มาร่วมแชร์ประสบการณ์เกี่ยวกับทุนการศึกษาของรัฐบาลเกาหลี แต่จะมาพูดถึงในส่วนของฝั่งสายวิทยาศาสตร์กันบ้าง ซึ่งเอาจริงๆแล้วทั้งขั้นตอนการเตรียมใบสมัคร หรือกระบวนการสมัครนั้นเหมือนกับที่ แอ๊ม (อ่านประสบการณืตอนแรกของแอ๊ม คลิกที่นี่) ได้เขียนอธิบายไว้และละเอียดเป็นอย่างมาก (เชื่อเถอะว่าละเอียดชนิดที่ว่าอีกนิดนึงก็เหมือนมานั่งสมัครด้วยกันแล้ว) แต่ก็มีความแตกต่างๆเล็กน้อยที่เราอยากเล่าให้ทุกคนฟัง เผื่อจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย
แต่ก่อนอื่นขอแนะนำตัวแบบสั้นๆหน่อยดีกว่า อีกทีละกันนะเราชื่อ “ป๊อบ” เป็นหนึ่งในนักเรียนทุนจากประเทศไทยที่ได้รับทุนการศึกษาจากรัฐบาลเกาหลีใต้ ปี2016 นี้ ซึ่งโดนสุ่มให้มาเรียนภาษาที่ Sunmoon university (อ่านว่า ซอนมุนเด้อ) อยู่เมืองชอนอัน ไม่ใกล้และไม่ไกลจากโซลเท่าไร และพอจบคอร์สภาษาที่นี่เราก็จะไปเรียนต่อปริญญาโทในสาขา Smart food and Drug ที่ Inje University อยู่เมืองกิมแฮซึ่งเป็นเมืองลูกของปูซานนั่นเอง ใครนั่งเครื่องมาลงปูซานก็แวะมาหาเราได้อยู่ใกล้ๆสนามบินสุดๆ เอาหล่ะก่อนจะออกทะเลมาเข้าเรื่องกันดีกว่าก็คือ จะขอพูดในสิ่งที่มันแตกต่างกันไประหว่างสายศิลป์และสายวิทย์ละกันเนอะ
ข้อแรกเลย อย่างที่น่าจะรู้กันคร่าวๆบ้างแล้วว่า การสมัครทุนนี้สามารถสมัครได้ 2 ช่องทาง คือ สายสถานทูต กับ สายมหาวิทยาลัยโดยตรง ซึ่งโควตาของปีนี้ให้ทางสายมหาวิทยาลัยคือ 9 คน ซึ่งในจำนวน 9 คนนี้ แบ่งเป็นเงื่อนไขพิเศษ 2 คน สำหรับผู้สมัครที่เลือกเรียนในสาขา Engineering และ Life Science โดยมหาวิทยาลัยที่เลือกเรียนต้องอยู่ในรายการของมหาวิทยาลัยที่เป็น Non-region ด้วยนะ ซึ่งมหาวิทยาลัยและสาขาที่เราเลือกเรียนนั้นอยู่ตามในลิสท์นี้ทั้งหมด แต่ก็ไม่สามารถตอบได้ว่าตัวเองเป็นคนที่อยู่ในกลุ่มเงื่อนไขนั้นไหม เพราะตอนประกาศผลออกมาเขาก็ไม่ได้แยกประเภทใดๆ แต่คิดว่าน่าจะเป็นทริคเล็กที่เพิ่มโอกาสในการได้ทุนไม่มากก็น้อย จริงๆการเรียนต่างจังหวัดก็ดีนะจะได้ไม่ขยันเที่ยว (เป็นงั้นไปอีก เอาเข้าจริงแล้วมันคือการปลอบใจตัวเอง 5555)
หมายเหตุ: แต่เราไม่ได้ชี้ทางให้ทุกคนเลือกมหาวิทยาลัยต่างจังหวัดแต่อย่างใดนะ เราแค่แนะนำซึ่งยังไงเวลาก่อนจะเลือกสมัครมหาวิทยาลัยใดๆ ก็ควรที่จะชั่งน้ำหนักปัจจัยต่างๆดูก่อน ค้นหาข้อมูลดูก่อนว่ามันเป็นอย่างไร และที่สำคัญมากถึงมากที่สุดก็คือ ควรติดต่อกับอาจารย์ทางฝั่งเกาหลีในมหาวิทยาลัยที่เราสนใจดูก่อน ว่าเขายินดีที่จะต้อนรับเราไหมและเราโอเคกับเขาไหม ซึ่งก็ประเมินกันคร่าวๆผ่านตัวอักษรที่คุยกันในอีเมล์นี่แหละ เพราะการไปเรียนต่อป.โท สิ่งที่สำคัญสุดๆอีกอย่างหนึ่งที่เราคิดคือ อาจารย์ที่ปรึกษา ถ้าเรากับที่ปรึกษาเข้ากันได้ คุยกันรู้เรื่อง ความคิดเห็นไปในทิศทางที่คล้ายๆกัน เราว่าการเรียนให้จบมันจะเรียบง่ายขึ้นเป็นอย่างมากเลย ซึ่งส่วนตัวที่เลือกเรียนที่ Inje University เพราะเมื่อสองปีก่อนเราเคยมาเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่นี่ และปีที่แล้วก็ได้มาฝึกงานที่นี่ด้วยเหมือนกัน จึงรู้สึกผูกพันและก็มั่นใจว่าถ้าเลือกเรียนที่นี่ยังไงก็ราบรื่น มีความสุขแน่ๆ (หวังว่าจะเป็นอย่างนั้นแหละเนอะทุกคน แหะๆ)
- สายวิทย์กับสายศิลป์ต่างกันอย่างไร?
มาที่ ข้อต่อไปที่เห็นว่าแตกต่างกัน (อาจจะดูต่างกันไม่มากแต่ก็แอบต่างอยู่นะ) คือ ในเรื่องของเงินทุนในการสนับสนุนในการตีพิมพ์งานวิจัย ก็คือในส่วนของสาย Liberal art and Social science จะได้ 500,000 วอน ส่วนในสาย Engineering, Science and Technology จะได้ 800,000 วอน ซึ่งรายละเอียดยังไม่ทราบมากนัก แต่ความแตกต่างก็น่าจะประมาณนี้

ป็อป: ทุนรัฐบาลเกาหลีปี 2016
มาถึงเรื่องของคำแนะนำสำหรับการสมัครทุนนี้ โดยทุนรัฐบาลเกาหลีใต้นี้ หัวใจสำคัญๆเลย คือ
- Statement of purpose มันเป็นอะไรที่สำคัญมากจริงๆทุกคนและท้าทายมากด้วยที่จะอธิบายข้อความลงไปใน 1 หน้ากระดาษ A4 แล้วทำให้กรรมการที่ไม่เคยรู้จักเรามาก่อนได้รู้จักตัวตนของเรา และสนใจเรา ซึ่งที่อยากจะแนะนำคือก่อนที่จะเริ่มเขียนลองลิสต์รายการดูก่อนก็ได้ว่าสิ่งใดที่เราอยากบอกเขา และมาจัดอันดับดูว่าข้อไหนที่จะทำให้กรรมการได้รู้จักเราและจะสนใจเรามากที่สุด และก็ใส่ความเป็นตัวเองลงไปอย่าไปเลียนแบบคนอื่นเลยเชื่อเรา ถ้าเป็นไปได้แอบเขียนหยอดในสิ่งที่มันดูเกี่ยวข้องกับประเทศเกาหลีและการเรียนของเราดุ เราคิดว่ามันก็น่าจะทำให้กรรมการสนใจเราไม่มากก็น้อยนะ อย่างของเราเรียนสายอาหารและโภชนาการ เรามีก็แอบหยอดไปประมาณว่า เราเคยดูซีรี่ย์เรื่องแดจังกึม ซึ่งในเรื่องแดจังกึมทำอาหารก็เก่งและใช้อาหารช่วยเยียวยาผู้คนที่เจ็บป่วยด้วย ซึ่งมันตรงกับสาขาที่เราเรียนพอดีแถมได้อวยเขาไปด้วยไรงี้
- Study plan ในส่วนของ Study plan เราไม่ได้แค่เขียนแผนการเรียนหรือหัวข้องานวิจัยที่สนใจอย่างเดียวแต่เราเขียนถึงการที่เราจะพัฒนาตัวเองในด้านภาษาเกาหลียังไง และก็บอกว่าจะทำกิจกรรมเพื่อพัฒนาสังคมและเผยแพร่ความเป็นไทยให้คนเกาหลีได้รับรู้ด้วย ซึ่งข้อนี้ใครจะแอบเอาไอเดียไปต่อยอดก็ไม่ว่ากันน้า
- Future plan ก็อารมณ์คล้าย study plan นี่แหละ แต่หลักสำคัญเลยคือเป็นตัวของตัวเองนะอย่าลืม และที่สำคัญมากๆอีกควรเอาให้เพื่อน อาจารย์ หรือคนรู้จักอ่านดูว่าเขาเข้าใจไหมในสิ่งที่เราเขียนลงไป อย่างของเราได้พี่ที่สนิทกันช่วยตรวจทานและแนะนำแก้ไขให้เลยออกมาเป็นรูปร่างที่ดีขึ้น
- เอกสารอื่นๆ เช่นพวกเอกสารทางการศึกษา และเอกสารในการยืนยันสัญชาติ ก็ไม่ควรที่จะละเลยนะ เพราะเอาจริงๆแล้วขั้นตอนตรงนี้ก็มีความยุ่งยากพอควร ต้องมาแปลเอกสารเป็นภาษาอังกฤษและให้ทางสถานทูตรับรองอีก ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้เตรียมตัวไว้แต่เนิ่นๆเลยดีกว่า
ข้อแนะนำเพิ่มเติม สำหรับคนที่อ่านถึงตรงนี้แล้วปีหน้า และได้เป็นหนึ่งในผู้ที่ผ่านการคัดเลือกรอบแรก สิ่งที่ต้องไปทำคือการตรวจร่างกายซึ่งมีความเฉพาะและตรวจเยอะมากหลายสิ่งอย่าง สิ่งที่เราจะแนะนำคือ ไปตรวจโรงพยาบาลที่ผ่านการรับรองจากสถาทูตเป็นอันดีที่สุด เพราะเมื่อผ่านการคัดเลือกรอบสองแล้ว ตอนไปยื่นขอวีซ่าจะมีการเรียกขอผลตรวจร่างกายเรื่องโรควัณโรคอยู่ ซึ่งถ้ารอบแรกไปตรวจโรงพยาบาลที่สถานทูตไม่รับรอง ก็จะต้องไปทำการตรวจอีกรอบน้า (แบบพี่ๆเด็กทุนรอบเดียวกันนี่แหละ 55555 วุ่นวายกันหลายคนเลย ) อย่างของเราไปตรวจที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ก็คือเรียบร้อยดีไม่มีปัญหา และบริการดีด้วย ไว้ด้วยแหละ
สุดท้ายก็อยากจะขอบคุณทุกคนที่อ่านจนจบ ขอบคุณเจ้าของกระทู้มากนะครับที่ให้โอกาสได้มาแชร์ประสบการณ์นี้ ตามปณิธานที่เราเคยตั้งใจไว้ว่าถ้าเราได้ทุนเราก็จะแชร์ประสบการณ์ให้คนที่สนใจรุ่นต่อๆไปมีแนวทาง และหวังว่าจะได้เจอกันสำหรับคนที่สนใจทุนรัฐบาลเกาหลีใต้ และมาเป็นครอบครัว Thai KGSP กันนะ”
- อ่านบทความอื่นๆ เกี่ยวกับ การศึกษาและข้อมูลทุน คลิกที่นี่
Leave a Reply