wanderfulminds

When you wonder, your mind wanders, and you realize how wonderful everything is

  • Home
  • Stories & Guides
  • Facts & Tips
  • Brains & Minds
  • Languages
  • Education
  • Hire me!
  • Contact
You are here: Home / Education / เรียนต่อฝรั่งเศส 4

เรียนต่อฝรั่งเศส 4

March 22, 2017 By KaiMook McWilla Malany Leave a Comment

แนะนำการเตรียมตัวเรียนต่อปริญญาโทที่ประเทศฝรั่งเศสและทุนรัฐบาลฝรั่งเศส (Eiffel Excellence Scholarship Programme)

ผ่านกันมาแล้ว 3 หัวข้อเรื่องเกี่ยวกับการเรียนต่อที่ประเทศฝรั่งเศส

  1. เริ่มหาทุน คลิกที่นี่
  2. เรียนภาษาฝรั่งเศสที่ประเทศฝรั่งเศส (มีสองตอน คือ คลิกที่นี่ และ คลิกที่นี่)
  3. เลือกและสมัครมหาวิทยาลัยพร้อมกับขอทุน Eiffel 
  4. การขอลงทะเบียนและขอใบอนุญาติพักอาศัย (titre de séjour)
  5. ประสบการณ์ในการเรียน Master 1 Droit Public ที่ Aix Marseille Université
  6. ประสบการณ์สมัครฝึกงานในองค์การระหว่างประเทศ

จากนี้ เราจะมาดูรายละเอียดเรื่อง การเลือกและสมัครมหาวิทยาลัยพร้อมกับขอทุน Eiffel

 

ผิงผิง: ทุน Eiffel ปี 2016

 

3) เลือกและสมัครมหาวิทยาลัยพร้อมกับขอทุน Eiffel

เมื่อดูจากเว็บไซต์จะเห็นว่า ทุน Eiffel เปิดรับสมัครช่วงเดือนตุลาคม-เดือนมกราคม แต่นั่นไม่ใช่ deadline สมัครทุนของเรา แต่เป็นของมหาวิทยาลัยที่จะต้องคัดเลือกและส่งชื่อเราไปเป็น candidate ต่างหาก โดยเราเลือกมหาวิทยาลัยได้แห่งเดียวเท่านั้น ถ้ามีมหาวิทยาลัยมากกว่า 1 แห่งส่งชื่อเราไป เราจะโดนตัดสิทธิ์ทันที

ดังนั้นเราจะต้องศึกษาจากแต่ละเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยว่าถ้าจะขอทุน Eiffel ด้วยจะต้องยื่นเอกสารอะไรไปบ้าง ที่ไหน อย่างไร ภายในวันไหน ซึ่งอย่าลืมว่าทุนนี้ให้เฉพาะบางสาขาเท่านั้น ดังนั้นถ้าในเว็บไซต์มหาวิทยาลัยไม่ได้บอกว่าต้องติดต่อใคร ให้ส่งอีเมลล์ถามแผนกต่างประเทศของมหาวิทยาลัย (Direction des relations internationales) หรือผู้รับผิดชอบหลักสูตรที่เราอยากเรียน (Responsable de la formation) โดยทั่วไปแล้วมหาวิทยาลัยหลายที่จะกำหนด deadline สำหรับผู้สมัครที่จะขอทุน Eiffel ด้วยไว้ที่เดือนพฤศจิกายน ซึ่งจะเร็วกว่าช่วงรับสมัครปรกติเกือบครึ่งปี

ในขณะที่ทุน franco-thai ต้องการให้เราสมัครกับมหาวิทยาลัยก่อนเหมือนกันและค่อยมาสมัครทุนผ่านทางเว็บไซต์โดยมี deadline ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ แต่จะแตกต่างกันที่มหาวิทยาลัยไม่ได้มีส่วนในการคัดเลือกให้ทุนกับเรา หลายๆ แห่งอาจจะไม่รู้จักทุน franco-thai เราจึงสมัครไปได้หลายๆ ที่โดยอธิบายให้มหาวิทยาลัยเข้าใจว่าเราจะสมัครทุน franco-thai ซึ่งทำให้เราต้องขอสมัครก่อนระยะเวลารับสมัครปรกติ เค้าเค้าพิจารณาคัดเลือกเราก่อนผู้สมัครรายอื่นๆ ไม่ได้ก็ให้เค้าออกใบรับรองระบุว่าเราได้ส่งใบสมัครมาที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้แล้ว แล้วเราก็เอาใบรับรองหรืออย่างน้อยก็อีเมลล์ไปยื่นกับทุน franco-thai ซึ่งถ้าเราได้ทุนจริงๆ การให้ทุนก็จะอยู่ใต้เงื่อนไขว่าเราต้องได้รับการตอบรับจากมหาวิทยาลัยอย่างเป็นทางการ

3.1) เลือกหลักสูตรและมหาวิทยาลัย

รายละเอียดหลักสูตรของสาขาต่างๆดูได้ในเว็บไซต์ของแต่ละมหาวิทยาลัย หรือดู catalogue ว่ามีมหาวิทยาลัยไหนที่เปิดหลักสูตรที่เราอยากเรียนได้ที่เว็บไซต์ campusfrance ควรดูให้ละเอียดเพราะแม้จะชื่อหลักสูตรเดียวกันแต่มหาวิทยาลัยแต่ละที่ก็วางโครงสร้างหลักสูตร จำนวนวิชา จำนวนชั่วโมง ความกว้าง ความลึกของหลักสูตรแตกต่างกันไป นอกจากนี้ควรคำนึงถึงเมืองที่มหาวิทยาลัยนั้นตั้งอยู่ด้วยซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคนว่าชอบอยู่เมืองใหญ่หรือเมืองเล็ก ค่าครองชีพประมาณเท่าไหร่

 

ไข่มุก หน้าพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ (Louvre) – ไม่เกี่ยวกับทุนค่ะ โชว์ความติงตองและความยืดหยุ่น  55

หลายๆคนอาจจะสงสัยว่า เลือกเรียนตั้งแต่ Master 1 (2 ปี) หรือ เข้าMaster 2 (1 ปี) เลยดี?

เนื่องจากทุน Eiffel ให้เราเลือกได้ว่าจะสมัครเรียนปริญญาโทระดับไหนก็จะได้เงินทุนตามระยะเวลานั้น เราจึงขออธิบายว่า โดยปรกติแล้ว หลักสูตรปริญญาตรีของประเทศฝรั่งเศส (Licence) มีระยะเวลาสามปี และหลักสูตรปริญญาโท (Master) มีระยะเวลาสองปี ดังนั้นนักเรียนไทยซึ่งเรียนปริญญาตรีที่ประเทศไทยมาสี่ปีแล้ว ได้จำนวนหน่วยกิตมากกว่านักเรียนที่จบปริญญาตรีที่ประเทศฝรั่งเศสซึ่งมักจะสมัครเข้าเรียน Master 2 กล่าวคือปริญญาโทในปีที่สองได้เลย หรืออยากจะเรียนตั้งแต่ Master 1 ก่อนก็ได้

ทั้งนี้ Master 1 จะเป็นการเรียนเน้นทางสาขาแล้วแต่ยังไม่เฉพาะมากเท่า Master 2 เช่น Master 1 มีสาขา Droit Public (กฎหมายมหาชน) พอขึ้น Master 2 ก็จะแบ่งเฉพาะออกไปอีกเช่น Droit Public des Affaires, Droit Public Approfondi, ฯลฯ

นอกจากนี้ Master 1 จะเน้นเรียนเป็นห้องเลคเชอร์ใหญ่ๆ (cours magistraux) และมีคาบสัมนาเป็นกลุ่มย่อยๆ ที่จะมีการเก็บคะแนนจากการมีส่วนร่วมและส่งงาน (travaux dirigés) ก่อนจบหลักสูตรอาจให้เลือกระหว่างฝึกงานช่วงสั้นๆ หรือเขียนรายงานในหัวที่เลือกเองประมาณสี่สิบหน้า ในขณะที่ Master 2 จะเรียนห้องละไม่มากนัก ไม่มี TD เน้นทำรายงาน และทำ mémoire ตอนจบหลักสูตรประมาณ 100 หน้า

เราเลือกเรียนตั้งแต่ Master 1 ซึ่งเรียนหนักมาก เรียน 12 วิชาในหนึ่งปี และมี TD 4 วิชา แต่ข้อดีคือหาเพื่อนได้ง่ายเพราะมักมีนักเรียนฝรั่งเศสหลายๆคนที่ย้ายจากเมืองอื่นมาเรียน Master1 มหาวิทยาลัยเดียวกับเรา เมื่อต่างคนต่างใหม่จึงอยากจะทำความรู้จัก ช่วยกันเรียน ไปเที่ยวรอบๆเมืองด้วยกัน ข้อดีอีกอย่างหนึ่งคือเราจะมีประสบการณ์เกี่ยวกับการเรียนในระบบฝรั่งเศสอย่างเข้มข้น ผ่านแบบฝึกหัดและข้อสอบมาหลากหลายทำให้เตรียมความพร้อมได้ดีสำหรับการเรียน Master 2 ในปีถัดไป (ไว้เดี๋ยวเขียนในหัวข้อประสบการณ์ตอนผิงเรียนMaster1น้า ผิงก็ต้องหาเพิ่มเหมือนกันเพราะกำลังจะสมัครMaster 2:))

3.2) เอกสารประกอบการสมัคร

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าแต่ละมหาวิทยาลัยจะกำหนดเองว่าใช้เอกสารอะไรบ้างในการสมัคร โดยมากแล้วเอกสารที่ใช้ก็คือ

  • transcript และใบจบการศึกษาพร้อมระบุลำดับที่,
  • จำหมายแนะนำตัว,
  • จดหมายแนะนำจากอาจารย์หรือที่ทำงาน,
  • ผลสอบภาษาฝรั่งเศส

ซึ่งเอกสารเกี่ยวกับหลักฐานการศึกษาต้องแปลเป็นภาษาฝรั่งเศส เราให้สมาคมฝรั่งเศสแปลหน้าละ 500 บาท ส่วนถ้าจะสมัครหลักสูตรภาษาฝรั่งเศส จดหมายแนะนำตัวหรือ Lettre de motivation ก็ต้องเขียนเป็นภาษาฝรั่งเศส โดยไม่ควรเกินสองหน้า โดยมีหลักการเขียนไม่ต่างจากที่คนอื่นๆ แนะนำไว้

การเขียน Letter of Motivation (Motivation Letter) และ/หรือ Statement of Purpose คลิกที่นี่

กล่าวคือต้องตอบให้ได้ว่า

  • ทำไมอยากมาเรียนที่ฝรั่งเศส ที่มหาวิทยาลัยนี้ หลักสูตรนี้ สาขานี้ (ตรงนี้เราควรศึกษาดูว่ามหาวิทยาลัยนี้โดดเด่นในสาขาที่เราจะสมัครอย่างไร มีอาจารย์ท่านไหนที่มีงานเขียนหรืองานวิจัยตรงกับเรื่องที่เราสนใจ)
  • เรียนจบแล้วจะเอาไปทำอะไร
  • ทำไมการได้ทุนถึงสำคัญกับเรา

ควรเขียนให้ชัดเจน เช่น เราเขียนว่าชอบหลักสูตร M1 กฎหมายมหาชนที่มหาวิทยาลัย Aix-Marseille เพราะหลักสูตรมีความยืดหยุ่นและผสมผสานหลายสาขาวิชาเข้าด้วยกัน เราก็จะยกตัวอย่างว่า เราสามารถเลือกวิชาในสาขากฎหมายระหว่างประเทศได้ เช่น… ซึ่งทำให้เราเห็นภาพรวมของกฎหมายสิทธิมนุษยชนไม่ใช่แค่ในระดับภายในประเทศ แต่รวมถึงตามกลไกของสหภาพยุโรปและในระดับระหว่างประเทศด้วย เป็นต้น

สำหรับจดหมายรับรองหลายมหาวิทยาลัยอนุญาติให้เป็นภาษาอังกฤษได้

นอกจากเอกสารที่เค้ากำหนด เราก็ส่งเอกสารอื่นประกอบไปด้วย เช่น ตัวอย่างงานเขียนเชิงวิชาการเป็นภาษาอังกฤษ CV ซึ่งเขียนเป็นภาษาฝรั่งเศสและมีรูปแบบเฉพาะ โดยสามารถหาตัวอย่างได้ในอินเตอร์เน็ต ทั้งนี้ให้ลองหาตัวอย่างในสาขาเดียวกับเรา เช่นเราดูจาก CV ของอาจารย์หลายๆ ท่านที่อยู่ในเว็บคณะนิติศาสตร์ แน่นอนเราไม่ได้มีประวัติยาวๆ เหมือนเค้าแต่เราก็จะเห็นคำศัพท์ทางกฎหมายต่างๆที่เราอาจนำมาปรับใช้ได้ CV ก็ไม่ควรเกินสองหน้า

และ ควรมี keyword อธิบายสั้นๆเกี่ยวกับประสบการณ์ทำงานหรือกิจกรรมที่เราทำ เช่นแทนที่จะเขียนแค่ว่าเราเคยทำ moot court กฎหมายระหว่างประเทศ ก็ใส่ keywords หรือคำบรรยายสั้นๆว่า moot court นั้นมีประเด็นเกี่ยวกับ justice transitionnelle, disparition forcée หรือในส่วนประสบการณ์ทำงานเราบอกว่าเคยเป็น junior research assistant เราก็จะบอกไปด้วยว่าหัวข้อวิจัยคืออะไร และเรามีบทบาทอะไร แค่ไหนในงานวิจัยชิ้นนี้

เมื่อเราส่งเอกสารให้มหาวิทยาลัยครบถ้วน มหาวิทยาลัยก็จะพิจารณาใบสมัครของนักเรียนต่างชาติทั้งหมดที่สมัครสาขาเดียวกันกับเราและขอทุน Eiffel ด้วย

หากเราได้รับคัดเลือก มหาวิทยาลัยก็จะแจ้งให้เราทราบว่าเค้าจะส่งเราไปเป็น Candidate ให้คณะกรรมการทุน Eiffel คัดเลือกอีกที ซึ่งช่วงนี้เค้าก็จะมีเอกสารให้เรากรอกเพิ่มเติม โดยถ้าเราต้องการจะเรียนภาษาก่อนเข้าเรียน เราก็ต้องขอให้มหาวิทยาลัยระบุไปด้วย และทุน Eiffel ก็จะขยายระยะเวลาให้ทุนเราเพิ่มอีกสองเดือนในช่วงเรียนภาษา จากนั้นภายในเดือนมีนาคม ก็จะมีการประกาศผลทุนทางเว็บไซต์และทางอีเมลล์ของผู้สมัคร

 

 

Filed Under: Education Tagged With: Eiffel, ทุนรัฐบาลฝรั่งเศส, นักเรียนทุน

Leave a Reply Cancel reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

KAIMOOK MALANY

ฉันโตมากับการไม่อยู่เป็นหลักแหล่ง ฉันสู้ ดิ้นรน ปรับตัว เป็นฉันในวันนี้ ที่ยิ้มเก่ง ช่างพูด กล้าถาม ชื่นชอบการพบปะผู้คน รักการเรียนรู้ หลงรักการผจญภัย และอยู่อย่างสันโดษได้ นอกจากจะเพราะครอบครัวที่รักและคอยให้การสนับสนุนฉันแล้ว ส่วนหนึ่งยังเป็นเพราะตัวฉันที่ไม่ชอบอยู่นิ่ง (wander) สิ่งที่ฉันได้เจอ ศึกษาค้นคว้าและเรียนรู้เป็นความน่าหลงใหล (wonderful) ที่ฉันอยากจะแลกเปลี่ยนแบ่งปัน ทุกอย่างที่เขียนขึ้นกลั่นออกมาจากใจฉันเองค่ะ (minds)

Join the Social Conversation

  • Facebook
  • Instagram
  • Pinterest

Copyright © 2015-2019 · Squiddy Productions · This site powered on interstellar cognitions · Privacy