แนะนำการเตรียมตัวเรียนต่อปริญญาโทที่ประเทศฝรั่งเศสและทุนรัฐบาลฝรั่งเศส (Eiffel Excellence Scholarship Programme)
บทความนี้ต่อจากบทความเกี่ยวกับ การเรียนภาษาฝรั่งเศสที่ประเทศฝรั่งเศส คลิกที่นี่ สำหรับข้อมูลเรื่อง การเลือกสถาบันสอนภาษา และรูปแบบที่พัก สำหรับ ประเภททุนต่างๆ เพื่อศึกษาต่อที่ประเทศฝรั่งเศส คลิกที่นี่
เนื้อหาโดยรวมของแนะนำเรียนต่อฝรั่งเศส ดังนี้
- เริ่มหาทุน
- เรียนภาษาฝรั่งเศสที่ประเทศฝรั่งเศส
- เลือกและสมัครมหาวิทยาลัยพร้อมกับขอทุน Eiffel
- การขอลงทะเบียนและขอใบอนุญาติพักอาศัย (titre de séjour)
- การขอลงทะเบียนและขอใบอนุญาติพักอาศัย (titre de séjour)
- การเปิดบัญชีธนาคาร
- การขอเงินช่วยค่าที่พัก(aide au logement étudiant) จาก Caf
- ประสบการณ์ในการเรียน Master 1 Droit Public ที่ Aix Marseille Université
- ประสบการณ์สมัครฝึกงานในองค์การระหว่างประเทศ
ทุนรัฐบาลฝรั่งเศส (Eiffel Excellence Scholarship Programme)
2.3) การเรียนภาษาฝรั่งเศส
การเรียนการสอนภาษาฝรั่งเศสที่นี่มักจะแบ่งระดับชั้นตั้งแต่ A1 ถึง C1 ซึ่งก็ซอยย่อยไปอีกเช่น A1.1 A1.2 … โดยในวันแรกที่เราไปถึงโรงเรียนเค้าจะให้ทำแบบทดสอบที่มีฟัง พูด อ่าน เขียน เราเริ่มเรียนจาก A1.4 ที่ Cavilam ห้องเรียนมีนักเรียนไม่เกิน 15 คน ซึ่งจะเป็นคอร์สเรียนภาษาหลักที่เรียนทุกวันประมาณสามชั่วโมง จากนั้นตอนบ่ายจะมีวิชาเลือกซึ่งทางสถาบันก็จะระบุว่าวิชาเลือกแต่ละวิชานักเรียนระดับไหนเรียนได้บ้าง เช่น แกรมม่า คำศัพท์ วัฒนธรรมฝรั่งเศส เตรียมสอบ Delf ระดับต่างๆ หรือภาษาฝรั่งเศสสำหรับเตรียมเข้ามหาวิทยาลัยสำหรับนักเรียนในระดับปานกลางหรือสูง (B2-C1)
อย่างที่ได้กล่าวไปว่าสถาบันเอกชนจะมีความยืดหยุ่นสูง ที่ Cavilam มีระบบว่าทุกวันพุธจะมีประชุมครูทั้งหมดและนักเรียนคนไหนที่ขอเปลี่ยนชั้นหรือครูเห็นว่าควรเปลี่ยนก็จะมีการคุยกันระหว่างครูประจำชั้นเดิมกับครูประจำชั้นที่นักเรียนอยากเปลี่ยนว่าควรอนุมัติไหม เราอยากเลื่อนระดับชั้นเร็วๆ เนื่องจากมีเวลาจำกัดที่จะต้องรีบสอบภาษาให้ทันยื่นสมัครทุนจึงพยายามเขียน essay ต่างๆ และเอาไปให้ครูประจำชั้นตรวจ และพยายามมีส่วนร่วมในห้อง เราไม่ชอบท่องไวยากรณ์และคำศัพท์ แต่ชอบเรียนรู้ภาษาที่ถูกใช้จริงๆในสังคม ซึ่งเราพบว่าปัจจุบันมีสื่อต่างๆ มากมายที่ช่วยการอ่านและฟังภาษาฝรั่งเศส
นอกจากเว็บไซต์ที่ครูแนะนำซึ่งทำมาเพื่อนักเรียนต่างชาติโดยเฉพาะโดยเน้นการเรียนรู้จากข่าวและแบ่งความยากง่ายของเนื้อหาตามระดับ เช่น tv5monde หรือ savoirs แล้ว เราก็เจอรายการ TV ที่เราชอบมากๆ แม้เราจะไม่มี TV แต่ก็สามารถดูผ่าน youtube หรือทาง internet ได้ เช่น
- C’dans l’air ที่จะเอาข่าวเหตุการณ์สำคัญมาวิเคราะห์ โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านนั้นๆ หลายๆ คนซึ่งมักความเห็นไม่ตรงกัน หรือ
- Des paroles et des actes ที่มักเชิญนักการเมืองมาพูดคุย โจมตีและ debate กันถึงนโยบายต่างๆของเค้า (เหมือนเชิญมาให้โดนรุม)
- สำหรับคนที่ชอบทางสายรัฐศาตร์หรือกฎหมาย เราแนะนำช่องของ Assemblée nationale คลิกที่นี่ ซึ่งโปรแกรมที่หลากหลายมาก ทั้งข่าวการเมือง สารคดี ดีเบต และวีดีโอการอภิปรายเกี่ยวกับกฎหมายใหม่ในสภาฯ ของฝรั่งเศส หรือเว็บขององค์กรรัฐที่สำคัญอื่นๆก็มีช่องลักษณะนี้ให้ดูผ่านเว็บไซต์ได้เหมือนกัน เช่น คลิกที่นี่ หรือโหลด application สำนักข่าวต่างๆมา
- ที่เล่ามาแบบนี้ไม่ใช่ว่าคนที่ไม่ได้สนใจทางด้านสังคมศาตร์จะเสียเปรียบเพราะฝรั่งเศสมีสื่อที่มีเนื้อหาหลากหลายมาก แค่พิมพ์ใน youtube เกี่ยวกับเรื่องที่เราสนใจ จะเป็นดีเบต ทฤษฎีอะไรสักอย่าง หรือสารคดีประวัติศาสตร์ วิทยาศาตร์ก็หาเจอได้ไม่ยาก ให้เริ่มจากฟังหรืออ่านเรื่องที่เราสนใจจะทำให้เราเรียนภาษาอย่างสนุก
- สำหรับคนที่เรียนภาษาฝรั่งเศสในระดับกลางค่อนข้างสูงแล้ว หรือสอบภาษาเสร็จแล้ว ก็ไม่ควรประมาท และควรเริ่มอ่านและฟังเนื้อหาในสายที่ตัวเองจะศึกษาต่อเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม โดยลองจดเลคเชอร์ดูและเรียนรู้ว่าจดแบบไหนถึงจะจดทัน เช่นใช้คำย่อ แหล่งที่ดีมากๆคือ itune U ของ apple, Coursera, youtube, หรือตามเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยที่มักจะอัดวีดีโอของ conference ต่างๆไว้ สำหรับหนังสือเรียนก็เริ่มอ่านได้ โดยเลือกอ่านแบบที่ง่ายๆก่อนเช่นในสายกฎหมายก็อ่านของ momento ซึ่งจะเป็นเล่มเล็กๆ เน้นสรุปใจความ ตรงข้ามกับ Dalloz précis ที่จะเล่มหนาๆ ละเอียด เห็นแล้วจะท้อได้
2.4) การสอบ DELF, DALF, TCF
ถึงแม้ว่าสถาบันสอนภาษามักจะออก certification ว่าเราเรียนกับเค้าถึงระดับชั้นไหน มหาวิทยาลัยส่วนมากก็ยังต้องการผลการทดสอบภาษา/ใบรับรองภาษา Delf/Dalf/TCF อยู่ดี ซึ่งเราจะต้องวางแผนการสอบล่วงหน้าเพื่อสอบในช่วงเวลาที่เราพร้อมและจะได้ผลทันเอาไปใช้สมัครมหาวิทยาลัยและทุนโดยต้องตรวจสอบว่าสถาบันที่เราเรียนอยู่เปิดสอบช่วงเดือนไหนบ้าง ใช้เวลานานเท่าไหร่กว่าจะรู้ผลและได้ใบรับรอง และถ้าสถาบันที่เราเรียนอยู่ไม่เปิดสอบช่วงที่เราพร้อม เราจะไปสอบที่สถาบันไหนอีกได้บ้าง สิ่งเหล่านี้สำคัญเพราะแต่ละที่ก็มีปฏิทินการสอบ ความถี่ของการจัดสอบ และระยะเวลาการตรวจที่แตกต่างกัน สำหรับการสอบนั้น มีข้อสอบสองประเภทที่มหาวิทยาลัยฝรั่งเศสรองรับ
- Delf (A1-B2), Dalf (C1-C2 ) มีทั้งสี่รูปแบบ คือ ฟัง พูด อ่าน เขียน (แต่ละส่วนเต็ม 25 คะแนน) สามารถดูรายละเอียดและตัวอย่างข้อสอบได้ที่ คลิกที่นี่ เราเลือกระดับที่จะสอบ และ ถ้าได้คะแนนเกิน 50 จาก 100 โดยไม่มีส่วนไหนต่ำกว่า 5 ก็จะได้ Diplôme ซึ่งไม่มีวันหมดอายุ สามารถใช้ได้ตลอดชีพ ทั้งนี้ถ้าสอบผ่านระดับไหนแล้วจะสอบระดับเดิมไม่ได้อีก คะแนนที่สอบผ่านใน Diplôme จะติดตัวเราตลอดไป ดังนั้นเราแนะนำว่าก่อนสอบให้ลองทำข้อสอบเก่าดู ให้รู้สึกมั่นใจในระดับนึงแล้วค่อยไปสอบ แต่ถ้ามีเวลาจำกัดก็ไม่ต้องเครียดเพราะมหาวิทยาลัยฝรั่งเศสไม่ได้ให้ความสำคัญกับคะแนนภาษามากถ้าเราได้Diplômeที่เค้ากำหนดแล้ว การมี Diplôme ดังกล่าวถือเป็นเงื่อนไขหรือกุญแจเปิดทางที่จะทำให้เค้าพิจารณาคุณสมบัติอื่นๆของเรานั่นเอง ไม่ได้หมายความว่าใครได้คะแนนภาษาเยอะกว่าก็จะมีสิทธิได้รับคัดเลือกมากกว่าคนที่ได้คะแนนน้อยกว่า อนึ่ง เรารู้สึกว่าการเรียนและแบบฝึกหัดที่ได้ทำในห้องเรียนจะสอดคล้องกับการเตรียมตัวสอบ Delf/Dalf มากกว่า TCF ค่าสอบ DELF DALF จะอยู่ที่ประมาณ 80-140 ยูโร ขึ้นอยู่กับระดับที่สอบ ยิ่งระดับสูงค่าสอบก็จะแพงขึ้น นอกจากนี้แต่ละศูนย์สอบก็จะกำหนดค่าสอบเอง ซึ่งสถาบันสอนภาษามักจะเป็นศูนย์สอบด้วยอยู่แล้ว และโดยมากจะคิดค่าสอบนักเรียนที่เรียนกับสถาบันถูกกว่าผู้สอบที่ไม่ได้เป็นนักเรียนของสถาบัน
- TCF ซึ่งจะเป็นข้อสอบปรนัยทั้งหมด ทำกับคอมพิวเตอร์ มีเฉพาะฟัง อ่าน และการใช้ภาษา (ไวยากรณ์และคำศัพท์) ถ้าอยากสอบพูดและ/หรือเขียน (Épreuves complémentaires) ก็ต้องสมัครและเสียเงินเพิ่ม มหาวิทยาลัยบางแห่งก็จะกำหนดชัดเจนว่าให้สอบเขียนเพิ่ม บางที่ไม่ได้บอกว่าเราก็อาจจะถามมหาวิทยาลัยก็ได้ สิ่งที่ TCF ต่างจากข้อสอบ Delf/Dalf คือเราไม่ต้องเลือกระดับที่จะสอบ (เหมือน IELTS/TOEFL) เพราะข้อสอบจะเหมือนกันคือไล่ระดับความยากตั้งแต่ A1 – C2 ในชุดเดียวและเราก็จะรู้ผลวันนั้นเลยโดยในผลสอบจะระบุระดับเราในแต่ละส่วน และระดับโดยรวม โดยผลนี้มีอายุสองปี ค่าสอบ TCF หลักจะอยู่ที่ประมาณ 110 ยูโรและ TCF ส่วนเขียนหรือพูดที่แยกต่างหากจะอยู่ที่50ยูโรในแต่ละส่วน ทั้งนี้ค่าสอบขึ้นอยู่กัยศูนย์สอบแต่ละศูนย์ด้วย ดูรายละเอียดและตัวอย่างข้อสอบได้ที่ คลิกที่นี่
- หากต้องการจะสอบที่ประเทศไทย สามารถสมัครสอบได้ที่สมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพฯ ค่าสอบจะอยู่ที่ 2,000-4,500บาทแล้วแต่ระดับ ทุกปีจะมีกำหนดตารางสอบ ปี 2560 ทางสมาคมฯเปิดสอบสามรอบ คือเดือนกุมภาพันธ์ มิถุนายน และพฤศจิกายน โดยผู้สนใจต้องสมัครสอบล่วงหน้าประมาณสองเดือน สามาถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คลิกที่นี่
- เราเคยสอบ Delf B1, B2, Dalf C1, และ TCF แต่ละข้อสอบก็มีความเฉพาะแตกต่างกันไป สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือเน้นการใช้ภาษาจริงๆ สอบ ให้เราคิด วิเคราะห์ และถ่ายทอดออกมาให้คนเข้าใจ เช่นข้อสอบส่วนเขียนและพูดของ Delf B2 และ Dalf C1 จะมีบทความเล็กๆ มาให้เราอ่านก่อนและเราต้องพูด/เขียนเกี่ยวกับบทความนั้น ก็จะมี pattern ที่เราใช้ตอนสอบและเป็นพื้นฐานของการเรียนในมหาวิทยาลัยด้วยคือ
ในส่วนของ Introduction
- เราเริ่มจากอธิบายบทความนั้นคร่าวๆ ว่าเป็นบทความประเภทไหน พูดถึงอะไร คนเขียนมีมุมมองอย่างไร บริบทของเรื่องนั้นเป็นอย่างไร (เช่น il s’agit d’un article intitulé… par… sur le site…..qui parle de…..)
- บอก problématique (เช่น On peut de demander/ La question est de savoir si/comment/pouquoi/quelles sont les causes/conséquences……) ซึ่งไม่มีถูกผิด เกิดจากการวิเคราะห์ของเราว่าอะไรคือประเด็นคำถามจากบทความที่เราอ่าน ทำไมเราต้องถกกันเรื่องนี้ ซึ่งเป็นคำถามที่ต้องมาวิเคราะห์หาคำตอบ
- บอก plan หรือโครงสร้างของสิ่งที่เราจะพูดหรือเขียนซึ่งเป็นความคิดเห็นของเราเอง (เช่น Mon exposé comprend 3 parties. En première lieu, je présenterai…. Ensuite, j’aborderai….) ซึ่ง plan นี้ก็คือการวางโครงสร้างของแต่ละประเด็นซึ่งประกอบด้วยคำอธิบาย ยกตัวอย่าง เปรียบเทียบเพื่อที่จะไปตอบ problématique ที่เราตั้งไว้ตอนแรกนั่นเอง โดยเราอาจแบ่งได้หลายแบบโดยคำนึงถึงหลายๆแง่มุมเช่นเศรษฐกิจ การเมือง สังคม สิ่งแวดล้อม / causes – conséquences หรืออะไรก็ได้แล้วแต่หัวข้อ เช่น หัวข้อ L’uberisation de la société (sharing economy) เราอาจแบ่งหัวข้อที่จะพูดโดยนึกถึงมุมของผู้สร้าง platform, ผู้บริโภค, ผู้ประกอบการแบบดั้งเดิม, มุมมองในทางกฎหมายแข่งขันทางการค้าหรือกฎหมายแรงงาน
ในส่วน Development
- ก็พูดหรือเขียนตาม plan ที่วางไว้โดยใส่คำเชื่อมให้รู้เวลาจะเปลี่ยนหัวข้อ (transition) เช่น เราอาจพูดว่า Après avoir examiné les causes de …, venons maitenant à la deuxième partie qui concerne … เพื่อให้ง่ายต่อกรรมการในการติดตามสิ่งที่เราพูด
ในส่วน Conclusion
- นอกจะสรุปสิ่งที่เราพูดหรือเขียนไปแล้ว ทางที่ดีควรจะพูดเปิดประเด็นที่อยู่นอกขอบเขตของบทความที่เค้าให้มาแต่เป็นประเด็นที่ต่อยอดไปอีกเพื่อให้เกิดการ debate หรืออภิปรายกันต่อไป โดยเฉพาะในส่วนพูดถ้าเราเปิดประเด็นในรูปแบบคำถามตอนสุดท้ายแล้ว กรรมการอาจจะเลือกถกกับเราเรื่องนั้นต่อ เช่นถ้าเราเพิ่งพูดแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่อง same sex marriage ตอนจบเราอาจทิ้งคำถามไว้เกี่ยวการ trend ของ open relationship
สุดท้ายนี้ถ้าใครสอบไม่ผ่านระดับที่มหาวิทยาลัยกำหนดไว้ เช่นในสายกฎหมายกำหนดไว้ที่ C1 แต่เรามีแค่ B2 ก็แนะนำให้ลองสมัครไปก่อนและบอกทางมหาวิทยาลัยว่ากำลังเรียนภาษาฝรั่งเศสอยู่ จะส่งผลสอบ C1 ตามไปให้ทีหลังเราเห็นรุ่นพี่หลายคนก็ได้รับการตอบรับจากมหาวิทยาลัยแม้จะไม่ได้ระดับภาษาตามที่กำหนดไว้ตอนสมัคร
การเขียน Letter of Motivation (Motivation Letter) และ/หรือ Statement of Purpose คลิกที่นี่
บทความต่อไป คลิกที่นี่ สำหรับ การเลือกและสมัครมหาวิทยาลัยพร้อมกับขอทุน Eiffel
Leave a Reply