wanderfulminds

When you wonder, your mind wanders, and you realize how wonderful everything is

  • Home
  • Stories & Guides
  • Facts & Tips
  • Brains & Minds
  • Languages
  • Education
  • Hire me!
  • Contact
You are here: Home / Archives for Brains & Minds

โรคซึมเศร้า

August 27, 2016 By KaiMook McWilla Malany Leave a Comment

 

หลายคน (แม้กระทั่งฉันเอง ในอดีต) เข้าใจว่า โรคซึมเศร้า เกิดจาก ตัวเราเอง ที่คิดไปเอง เหมือนว่าคิดอะไรเองไม่เป็น ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ทำให้เบื่อโลก ไม่อยากอาหาร และอยากจบชีวิตตนเอง

แต่คำว่า “โรค” ก็คือ โรค ค่ะ

ภาพจาก seedpsychology

โรคซึมเศร้า เป็น ความผิดปกติทางการแพทย์ ที่ ต้อง ได้รับการรักษาที่ถูกวิธี และ ต้อง พบแพทย์/จิตแพทย์ 

โรคซึมเศร้า ต่างจาก อาการเศร้า หมอง ซึม อื่นๆ เพราะ อาการเศร้าเหล่านั้น สามารถหายไปได้ คลี่คลาย และดีขึ้นเองได้ เมื่อได้พูด ปลดปล่อย และมีคนรับฟัง เข้าใจเรา แต่ “โรคซึมเศร้า” มันหายเองไม่ได้เลย ผู้ป่วยโรคนี้นอกจากจะเกิดอาการซึมเศร้า ไร้ชีวิตชีวาแล้ว ยังมี อาการอื่นๆ แทรกซ้อนเข้ามาด้วย เช่น ไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ ควบคุมอารมณ์ ความรู้สึกไม่ได้ รู้สึกว่าอะไรๆ เปลี่ยนแปลงไปหมดทุกอย่าง ทั้ง พฤติกรรม อารมณ์ ความรู้สึก

ผู้ป่วยโรคซึมเศ้รา จะคิดมากเกินปกติ เห็นอะไรก็ ท้อแท้ และ หมดหวัง สิ้นหวัง นี่คือลักษณะอาการของ “โรค” นะคะ ควบคุมเองไม่ได้ (จะไปว่าเขา ว่าคิดมากเอง คิดเองไม่เป็น ไม่ได้ค่ะ)

อาการหลักๆ ที่เห็นได้ชัด คือ

  1. นอนหลับๆ ตื่นๆ
  2. ไม่สนใจอะไรรอบข้างทั้งนั้น
  3. เก็บตัว ไม่สนใจใคร
  4. หงุดหงิดง่าย อ่อนไหว และ ขี้ใจน้อย อย่างผิดปกติ
  5. น้ำหนัก ขึ้น หรือ ลง อย่างเห็นได้ชัด โดยไม่มีสาเหตุ
  6. เบื่ออาหาร
  7. ร่างกายอ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง
  8. รู้สึกไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไป: เปลี่ยนแปลง ทั้ง อารมณ์ และ ความคิด อะไรๆ ดูแย่ไปหมด เลวร้ายไปเสียทุกอย่าง
  9. มีอาการทางจิต เช่น คิดว่ามีคนคอยกลั่นแกล้ง มีคนจะทำร้าย มีอาการหูแว่ว


เกณฑ์การวินิจฉัย*

มีอาการดังต่อไปนี้ 5 อาการหรือมากกว่า

  1. มีอารมณ์ซึมเศร้า (ในเด็กและวัยรุ่นอาจเป็นอารมณ์หงุดหงิดก็ได้)
  2. ความสนใจหรือความเพลินใจในกิจกรรมต่างๆ แทบทั้งหมดลดลงอย่างมาก
  3. น้ำหนักลดลงหรือเพิ่มขึ้นมาก (น้ำหนักเปลี่ยนแปลงมากกว่าร้อยละ 5 ต่อเดือน) หรือมีการเบื่ออาหารหรือเจริญอาหารมาก
  4. นอนไม่หลับ หรือหลับมากไป
  5. กระวนกระวาย อยู่ไม่สุข หรือเชื่องช้าลง
  6. อ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง
  7. รู้สึกตนเองไร้ค่า
  8. สมาธิลดลง ใจลอย หรือลังเลใจไปหมด
  9. คิดเรื่องการตาย คิดอยากตาย

ทั้งนี้

  • ต้องมีอาการในข้อ 1 หรือ 2 อย่างน้อย 1 ข้อ และ
  • ต้องมีอาการเป็นอยู่นาน 2 สัปดาห์ขึ้นไป และต้องมีอาการเหล่านี้อยู่เกือบตลอดเวลา แทบทุกวัน ไม่ใช่เป็นๆ หายๆ เป็นเพียงแค่วันสองวันหายไปแล้วกลับมาเป็นใหม่

สามารถดาวน์โหลด แบบสอบถามภาวะอารมณ์เศร้า ได้ที่ คลิกที่นี่

การรักษา

รักษาได้ด้วย ยาแก้เศร้า และ/หรือ พบแพทย์ เพื่อความช่วยเหลือ ชี้แนะ ในการใช้ชีวิต และให้คำปรึกษาเรื่องการปรับตัว เปลี่ยนแปลงมุมมอง ปรับเปลี่ยนโลกทัศน์

ผู้อยู่รอบข้าง ควรคอยสังเกตุพฤติกรรม อาการ ของบุคคลใกล้เคียงเสมอ ว่ามีอาการ การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ มากน้อยเพียงใด และ นานแค่ไหน หากอาการตรงจุด ควรพบแพทย์ทันที และไม่ควรดุด่าว่ากล่าว หรือตำหนิผู้ป่วยนะคะ ควรตระหนักเสมอ ว่า “โรค” ก็คือ “โรค” ค่ะ เป็นความผิดปกติชนิดหนึ่ง รักษาได้ แต่ต้องใช้เวลา

 

 


*ข้อมูลเกณฑ์การวินิจฉัย อ้างอิง จาก รพ. รามาธิบดี 

 

Filed Under: Brains & Minds

บีบสมอง เพื่อพัฒนาการ

March 12, 2016 By KaiMook McWilla Malany 2 Comments

 

การเรียนรู้ เปลี่ยนแปลงสภาพสมองได้อย่างไร?

 

The Fix: Neural Plasticity Highlighted By Brain’s Response to Addiction

 

ความยืดหยุ่นของสมอง (brain plasticity หรือ neuroplasticity)

ความยืดหยุ่นของสมอง ในภาษาอังกฤษ ใช้คำว่า brain plasticity คำว่า plastic “พลาสติก” นี้ ไม่ได้หมายความว่าสมอง คือพลาสติก นะคะ แต่ คำว่า “พลาสติก” ณ ที่นี้ หมายถึง สภาวะยืดหยุ่น / สภาวะที่เปลี่ยนแปลงรูปร่างได้ 

ที่เค้าใช้ศัพท์กันแบบนี้ เพราะว่า สมองเราเปลี่ยนแปลงได้ ค่ะ

สมองของเรา มีความสามารถพิเศษ คือ มันสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามทักษะที่เรามี และ/หรือ ประสบการณ์ที่เรารับรู้ นั่นเป็นเพราะ สมอง ประกอบด้วยเซลล์ประสาท (neurons) หลายๆ เซลล์เชื่อมกัน (connections) เมื่อเราใช้งานสมองมากขึ้น เซลล์เหล่านี้ก็เชื่อมกันมากขึ้น หากไม่ได้ใช้สมอง หรือ สมองได้รับการใช้งานน้อยลง เซลล์สมองก็จะค่อยคลายตัว แยกออกห่างจากกันในที่สุด

สมัยก่อน ในช่วงปี 1960s (ประมาณ พ.ศ. 2500) นักวิจัยเชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงในสมองเกิดขึ้นได้ เฉพาะ ในทารกและวัยเด็ก ครั้นเด็กเหล่านี้โตขึ้น โครงสร้างสมองก็จะค่อยๆ คงที่ จนเปลี่ยนแปลง ไม่ได้อีกต่อไป … ความเชื่อนี้ เป็นความเชื่อที่สอดคล้องกับอวัยวะอื่นๆ ทั่วไปในร่างกายของเรา นำมาสู่ความคิดที่ว่า “ยิ่งโต ยิ่งเสื่อม”

แต่!!! งานวิจัยระยะหลัง กลับพบว่า “ยิ่งใช้งานสมองมากเท่าไร ความยืดหยุ่นก็มีมากเท่านั้น” ดังคำภาษาอังกฤษว่า “Use it, or Lost it” เพราะสมองเรามีความยืดหยุ่น หรือมี “พลาสติก” นั่นไงล่ะคะ

ปัจจัยทางพันธุกรรม มีอิทธิพลต่อสมองเราอย่างแน่นอน แต่นอกจาก พันธุกรรม หรือ ยีนส์ และบริเวณแวดล้อมที่เราอยู่ ประสบการณ์ที่เราใช้หรือพบเจอ ล้วนมีผลต่อโครงสร้างสมอง และความยืดหยุ่นของสมอง

 

Neuroplasticity: Functional and Structural 

ความยืดหยุ่น/การเปลี่ยนแปลงของสมอง (neuroplasticity) นอกจากจะช่วยให้สมองส่วนที่ได้รับบาดเจ็บปรับตัวและเปลี่ยนแปลงแล้ว ยังช่วยให้สมองเกิดความยืดหยุ่น เชื่อมต่อประสานเซลล์ด้วย

การเปลี่ยนแปลงในสมองพบได้ในวัยต่างๆ 3 วัย ดังนี้

  1. ในวัยแรกเกิด/วัยเด็ก: เป็นช่วงที่สมองมีการพัฒนาการ เปลี่ยนแปลงเองตามวัยและธรรมชาติ
  2. ในสมองที่ได้รับบาดเจ็บ: เซลล์ประสาทจะทำหน้าที่เชื่อมโยงเข้าหากัน ชดเชยสมองส่วนที่ขาดหาย และช่วยพยุงให้สมองทำหน้าที่ให้ได้ดีปกติ (ขอเสริมว่ายิ่งเด็ก สมองที่ได้รับบาดเจ็บยิ่งรักษาได้ง่ายขึ้น)
  3. ในวัยผู้ใหญ่: เปลี่ยนแปลงไปตามประสบการณ์และการเรียนรู้ หมายความว่าทักษะต่างๆ ในชีวิตช่วยเสริมให้เซลล์ประสาทเชื่อมโยงเข้าหากัน ไม่ว่าจะเรียนภาษา เรียนเต้น เรียนดนตรี หรือเรียนทำอาหาร อ่านหนังสือ เป็นต้น

หลายคนไม่ทราบว่า สมองที่ได้รับบาดเจ็บ สามารถฟื้นตัวกลับมาได้ ด้วยความสามารถด้านการยืดหยุ่น และการปรับตัวของสมอง ผู้ป่วยเด็กจำนวนหนึ่งบางคน ได้ผ่านการผ่าตัดสมองซีกหนึ่งออก แม้สมองซีกซ้ายจะหายไป และหลายคนคาดว่า คงจะใช้ชีวิตอย่างปกติไม่ได้ ผลลัพธ์กลับพบว่า สมองที่ยังมีอยู่ (สมองซีกขวา) ช่วยประสานให้สมองซีกที่หายไป (สมองซีกซ้าย) เชื่อมต่อกันได้ แม้ปริมาณสมองจะไม่เท่าเดิม แต่ความสามารถก็ยังไม่แย่หรือใช้การไม่ได้ไปเลยทีเดียว

กล่าวสรุป คือ เมื่อสมองถูกทำลาย สมองส่วนที่ดีจะช่วยชดเชยสมองส่วนที่ขาดหายโดยการเชื่อมต่อ (connect) และประสานให้กลับมาใหม่ (reconnect) ระหว่างเซลล์

 

สมองที่ดีอยู่แล้ว เมื่อมีการเรียนรู้และได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ เซลล์สามารถยึดเชื่อมกันเสมอ 

งานวิจัยสมองของคนขับแท็กซี่ในลอนดอน (Maguire, Woollett, & Spiers, 2006) พบว่า สมองคนขับแท็กซี่มีสมองส่วนฮิปโปแคมปัส (hippocampus) ด้านหลังที่ใหญ่กว่าปกติ เพราะสมองส่วนนี้ทำหน้าที่เกี่ยวกับข้อมูลเชิงสถานที่ (เช่น ทิศทาง แผนที่) เพราะคนขับแท็กซี่ต้องจดจำทิศทา งและรู้สถานที่ต่างๆ ทำให้สมองส่วนนี้ได้รับการกระตุ้นมากกว่าปกติ

Hippocampus: The Brain Made Simple

 

ความยืดหยุ่น และการเปลี่ยนแปลงของสมอง ยังสามารถพบได้ในสมองของผู้รู้สองภาษา (Mechelli et al., 2004) โดยเฉพาะ สมองส่วนคอเท็กซ์กลีบข้างด้านซ้าย (left inferior parietal cortex) ด้วยนะคะ

 

อ่านเพิ่มเติม เรื่องสมองกับภาษา กับบทความ

  • “รู้หลายภาษา กับ สมอง ที่ต่างกัน” คลิกที่นี่
  • “เกิดอะไรขึ้นกับสมอง เมื่อเราเรียนภาษา ตอนโต” คลิกที่นี่

 

 


บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง คลิกที่นี่

 

 

Filed Under: Brains & Minds

รู้หลาย ภาษา กับ สมอง ที่ต่างกัน

March 10, 2016 By KaiMook McWilla Malany 1 Comment

 

เป็นที่รู้กันว่า รู้สองภาษามักได้เปรียบกว่ารู้หนึ่งภาษา อย่างแน่นอน ทั้งดูหนังได้มากเรื่องกว่า อ่านหนังสือได้หลายเล่มกว่า ในภาษาที่ตนรู้ เป็นการเปิดโลกเปิดโอกาสให้กับตัวเอง ไหนจะสนทนากับใครได้กว้างขวางกว่า เดินทางไปต่างประเทศก็มีโอกาสได้เรียนรู้ และสื่อสารกับคนท้องถิ่นมากกว่า และประโยขน์จิปาถะอีกมากมายนับไม่ถ้วน

แล้วเคยสงสัยไหมคะว่า …

 

สมองของทั้งสองกลุ่มต่างกันไหม?

ระบบการทำงานต่างกันรึป่าว?

การพัฒนาการล่ะ เร็วช้าต่างกันอย่างไร?

 

ภาพจาก TEDEd: Mia Nacamulli

 

คำตอบก็คือ

สมองทางกายภาพต่างกัน จากภาพการสแกนสมอง นักวิจัยพบว่าสมองผู้รู้สองภาษามีสมองเนื้อสีเทา (gray matter) มากกว่า สมองส่วนนี้มีลักษณะเป็นลอนเป็นท่ีอยู่ของเซลล์ประสาท มีหน้าที่ควบคุมกล้ามเนื้อ พวกการมองเห็น ได้ยิน และความจำ

ด้วยเหตุนี้เองคนกลุ่มนี้จึงมีระบบสัมผัสหรือเซนส์ที่ดีกว่า มีความจำที่เริ่ดหรูกว่าผู้รู้หนึ่งภาษา (monolinguals)

แต่ไม่เพียงเท่านี้นะคะ ผู้รู้สองภาษายังเรียนภาษาอื่นๆ ได้ง่ายและดีกว่าผู้รู้หนึ่งภาษาอีกด้วย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าพื้นที่หรือปริมาณเนื้อที่ในสมองที่เชื่อมโยงกับภาษามีมากกว่าปกติ อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าระบบการทำงานของสมองต่างกันกับระบบสมองของผู้รู้ภาษาเดียว

 

หมายความว่าอย่างไร?

สมองของเราแบ่งออกเป็นสองซีกค่ะ คือ ซ้ายกับขวา

  • สมองซีกซ้ายควบคุมดูแลด้านภาษา การคิดวิเคราะห์ และการใช้เหตุผล
  • ขณะที่ซีกขวาเน้นควบคุมอารมณ์

ด้วยความที่ความยืดหยุ่นของสมองผู้รู้สองภาษาดีกว่าผู้รู้หนึ่งภาษา (เพราะมีส่วนเนื้อเยื้อสีเทามากกว่า) และการไหลเวียนของระบบในสมองเลยดีกว่าเลยทำให้สมองทั้งสองซีกของผู้รู้สองภาษาช่วยกันดูแลควบคุมด้านภาษา แต่สำหรับผู้รู้ภาษาเดียวนั้น การควบคุมของภาษามักอยู่แค่ซีกซ้ายเพียงซีกเดียว

การช่วยกันทำงานของสมองของผู้รู้สองภาษาจึงทำให้ความคิดไหลลื่นเป็นไปตามระบบมากขึ้น และสมองก็มีส่วนแบ่งเบาภาระมากขึ้น ที่สำคัญทำให้เป็นอัลไซเมอร์หรือสมองเสื่อมช้าลงอีกด้วย

 

รู้แบบนี้แล้ว

มีลูก มีหลาน ให้หมั่นเรียนภาษา

โตแล้วก็เรียนเพิ่มเติม ทนนิดทนหน่อย เพื่อความจำที่ดี

 

 


สำหรับบทความอื่นๆ เกี่ยวกับ สมอง ภาษา และความคิด คลิกที่นี่

 

 

Filed Under: Brains & Minds Tagged With: ภาษา, รู้สองภาษา, สมอง

ถนัดซ้าย ถนัดขวา กับ สมอง ที่ต่างกัน

February 9, 2016 By KaiMook McWilla Malany 4 Comments

 

คำพูดที่ว่าทักษะทางภาษาอยู่สมองซีกซ้าย ส่วนดนตรีและศิลปะอยู่สมองซีกขวา ไม่จริง 100% นะ กระบวนการสมองของเราทุกคนไม่ได้เป็นแบบนี้ทุกคน

สมองแบ่งออกเป็นสองซีก คือ สมองซีกซ้าย และ สมองซีกขวา (cerebral hemispheres) แต่ทั้งสองซีกไม่ได้เหมือนกันเสียทีเดียว แต่ละซีกทำหน้าที่ต่างกัน บางหน้าที่คาบเกี่ยวกันบ้าง แต่บางหน้าที่ก็เฉพาะเจาะจงที่สมองซีกเดียวเท่านั้น

“ทักษะการพูดและใช้ภาษา” เป็นหนึ่งในทักษะที่แยกออกมาอย่างเห็นได้ค่อนข้างชัด มีงานวิจัยและการทดลองมากมายที่พิสูจน์ให้เห็นข้อเท็จจริงนี้ (ฉันได้ไปทำการทดลองนี้กับตัวมาแล้วด้วย 😀 มีภาพด้านล่าง)

ส่วนหนึ่งของสมองซึกซ้ายมีบทบาทสำคัญด้านการผลิตภาษา (speech production) ขณะที่อีกส่วนหนึ่งของสมองซีกซ้ายเหมือนกันกลับควบคุมความเข้าใจภาษา (language comprehension) ส่วนแรกเรียกว่า “โบรคา” (Broca’s) ส่วนที่สองเรียกว่า “เวอร์นิเก” (Wernicke’s) จะเห็นว่าทักษะทางภาษาทั้งคู่ถูกควบคุมโดยสมองซีกซ้าย 

ภาพจาก BzzAgent

 

แต่ไม่ใช่ทุกคนที่มีสมองเหมือนกัน!! สมองของบางคนควบคุมทักษะทางภาษาโดยสมองซีกขวา!!

เพราะการตรวจสอบว่าสมองซีกไหนกันแน่ของเราที่ควบคุมทักษะการใช้ภาษา (speech lateralization) ไม่ได้ทำกันง่ายๆ อาจต้องเปิดกะโหลกจิ้มดูในสมอง จะให้เปิดกะโหลกทุกคนออกมาดูเพื่อทำการทดลองก็ไม่ได้ นักวิจัยจึงทำการศึกษาข้อมูลสมองของผู้ป่วยที่สมองได้รับการกระทบกระเทือนต้องได้รับการผ่าตัด

ผลการตรวจสอบพบว่า ทักษะทางภาษาถูกควบคุมโดยสมองซีกซ้ายสูงถึง 70-95% ขณะที่อีก 5-30% ถูกควบคุมโดยสมองซีกขวา (หรืออาจจะทั้งสองซีก โดยมี corpus callosum เป็นตัวเชื่อม)

ภาพ Corpus Callosum จาก multiple sclerosis

 

แต่ใครจะไปรู้ว่ามือที่เราถนัด จะซ้ายจะขวา มีความเชื่อมโยงกับสมองทั้งสองซีกด้วย

นายแพทย์ศัลยกรรมด้านระบบประสาท (neurosurgeon) ชาวฝรั่งเศสชื่อ พอล โบรคา (Paul Broca) คนเดียวกับเจ้าของชื่อส่วนของสมองซึกซ้ายที่มีบทบาทสด้านการผลิตภาษา เสนอว่า “ส่วนของสมองที่ควบคุมความสามารถทางภาษาเชื่อมโยงในทางตรงกันข้ามกับมือข้างที่เราถนัด” สมองทางภาษาของคนถนัดมือขวาอยู่ด้านซ้าย ของคนถนัดมือซ้ายอยู่ด้านขวา แต่ทั้งนี้ในงานวิจัยช่วงหลังๆ พบว่าสมองทางภาษาของคนถนัดมือซ้ายอาจอยู่ด้านขวาหรือด้านซ้ายก็ได้

คนถนัดซ้ายแล้วจริงๆ มีสมองที่ลึกลับกว่าคนถนัดขวา และหากเป็นกรณีที่สมองทั้งสองควบคุมทักษะทางภาษาแล้วละก็อาจหมายความว่า เขาคนนั้นมีข้อได้เปรียบเชิงภาษามากมาย

การควบคุมการทำงานของสมองและมือข้างที่ถนัดยังมีผลต่ออารมณ์และการควบคุมการใช้อารมณ์ของสมอง ควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายด้วย เช่น หากความคิดของเราถูกควบคุมด้วยสมองซีกซ้าย เราจะใช้มือขวาถือโทรศัพท์และคุยโทรศัพท์ด้วยหูขวา และหากความคิดของเราถูกควบคุมด้วยสมองซีกขวา เราจะใช้มือซ้ายถือโทรศัพท์และคุยโทรศัพท์ด้วยหูซ้าย

 

คลิกที่นี่สำหรับบทความอื่นๆ เกี่ยวกับ สมอง ภาษา และความคิด

—

fMRI: Emma and her brain 🙂

A photo posted by Kaimook Malany (@wanderful_minds) on Feb 9, 2016 at 3:00am PST

วันก่อนฉันไปสแกนสมองของเพื่อนมา ตรงตามนั้นด้วย เพื่อนฉันชื่อเอมม่า เป็นชาวเนเธอร์แลนด์ เอมม่าถนัดมือขวา และยกหูโทรศัพท์ด้านขวา จากข้อมูลนี้ควรสรุปได้ว่าสมองซีกซ้ายของเอมม่าควบคุมภาษาและความคิด จริงไหม?

ผลการตรวจสมอง (ใช้วิธี Functional Magnetic Resonance Imaging (fMRI)) ตรวจสอบการไหลเวียนของเลือด พบว่า “สมองซีกซ้ายของเธอมีบทบาทด้านภาษาและความคิด” จริงๆ ด้วยค่ะ

ไปตรวจครั้งนี้เลยได้รู้ทีเดียวเลยว่าสุขภาพสมองของเพื่อนเอมม่าคนนี้สมบูรณ์ดีมาก ไม่เป็นมะเร็ง ไม่มีเนื้องอก หายห่วง 🙂

 

Filed Under: Brains & Minds

ไม่อยากเป็นอัลไซเมอร์ ต้อง …

February 6, 2016 By KaiMook McWilla Malany Leave a Comment

ภาพจาก NCTV Food

งานวิจัยหลายงานที่ผ่านมาได้ศึกษาระบบสมอง/ความจำของมนุษย์เพื่อพยายามเข้าใจเกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์ให้มากขึ้น หนึ่งในงานวิจัย (ของ Ellen Bialystok) ได้ศึกษาผู้ป่วยอัลไซเมอร์จำนวน 450 คน ที่เป็นผู้รู้สองภาษา (bilingual) พบว่า “ทักษะภาษาที่สองของพวกเขาช่วยชะลออาการความจำเสื่อมได้สูงถึง 4-5 ปีเมื่อเทียบกับผู้ป่วยอัลไซเมอร์ทั่วไป” จากการวิจัยพบว่าผู้รู้สองภาษามีอาการหลงลืมช้ากว่าผู้รู้ภาษาเดียวเกือบห้าปี!!

นั่นหมายความว่าแม้การรู้ภาษาที่สองไม่ได้ช่วย “ป้องกัน” ความจำเสื่อม แต่หากบุคคลนั้นมีแนวโน้มจะเป็นอัลไซเมอร์แล้ว อาการของโรคจะปรากฏช้าลง หรือความรู้ทางภาษาจะช่วย “ชะลอ” ให้เป็นอัลไซเมอร์ช้าลงนั่นเอง

รู้ภาษาที่สองช่วยชะลอความจำเสื่อม

ทำไม?

กุญแจสำคัญคือกระบวนการเก็บข้อมูลในคลังสมอง การรู้มากกว่าหนึ่งภาษาแสดงให้เห็นว่าสมองของเราต้องทำงานมากกว่าปกติ ทำให้มีความยืดหยุ่นสูง เช่นเดียวกับร่างกายมนุษย์ที่หากออกกำลังกายก็แข็งแรง/มีสุขภาพดี การใช้สมองมากๆ ก็คือการบริหารสมองเช่นกัน เมื่อสมองถูกใช้งานมากๆ เส้นประสาทก็มีการเชื่อมต่อกันมากขึ้น (neural connections) เมื่อเส้นประสาทเชื่อมต่อกันมากขึ้นเข้าก็ยากต่อการเสื่อมตัว (เพราะความจำเสื่อมเกิดจากเซลล์ประสาทเสื่อมตัว เลยทำให้อาการความจำเสื่อมเกิดขึ้นช้าลง)

ข่าวดี?

งานวิจัยอื่นๆ ยังพบว่าการรู้ภาษา ณ ที่นี้ ไม่จำเป็นต้องรู้ตั้งแต่เกิด แต่รู้ภาษาที่สองตอนโตก็ได้ เพราะว่าสมองของเรามีกลไกการทำงานที่เหมือนกัน

รู้แบบนี้แล้ว มีแรงเรียนภาษาเพิ่มขึ้นหรือยังคะ 🙂

 

คลิกที่นี่สำหรับบทความอื่นๆ เกี่ยวกับ สมอง ภาษา และความคิด

 


ภาษาวันละนิด Mitä kuuluu? (มิ ตา กู้ หลู่) ภาษาฟินแลนด์ แปลว่า สบายดีไหม 😀

 

Filed Under: Brains & Minds

อยากฉลาด หัวดี กินอะไรดี

January 23, 2016 By KaiMook McWilla Malany Leave a Comment

ภาพจาก JeffreySterlingMD

อาหาร มีความจำเป็น ต่อร่างกายเสมอ เพราะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เราดำรงชีวิตอยู่ได้ แต่ จะกินอะไรก็ได้ หรือ ที่เรียกว่ากินตามใจปาก ก็คงไม่เป็นอะไรมาก หากเพียงต้องการให้อิ่ม และมีความสุข แต่ … หากอยากมีสุขภาพดีด้วย ก็คงต้องกินอาหารที่ดี มีประโยชน์ และออกกำลังกายด้วยบ้าง จริงไหมคะ

  • ถ้าอยากมี สมอง ที่ดีล่ะ ต้องทาน อาหารบำรุงสมอง อะไรบ้าง
  • แล้วถ้าอยากมี ความจำดีเริศ ด้วย มีอะไรบ้าง ที่ทานได้
  • สั้นๆ กระชับ นะคะ มี 5 อย่างหลักๆ ที่ปฏิบัติตามได้ง่ายๆ คือ

1. ธัญพืช 

เครื่องจัก ที่ไร้น้ำมัน ไร้พลังงาน ก็ขับเคลื่อนไม่ได้ ร่างกายก็เช่นกันค่ะ หากไร้อาหารที่ให้พลังงานต่อสมอง ความคิดก็ไม่โลดแล่น … ระบบการทำงานของสมองก็ไม่ดี สมองเราจะมีสมาธิ โฟกัสได้ดี ก็ต่อเมื่อได้รับพลังงานที่เพียงพอ จากกลูโคสที่ไหลผ่านทางกระแสเลือด

กลูโคสในธัญพืชจะค่อยๆ ถูกปล่อยเข้าไปในกระแสเลือด ทำให้เราตื่นตัว หากอยากตื่นตัวมีสมาธิที่ดี “ยืดอก พกถุงถั่ว” กันได้นะคะ หยิบถั่ว กินธัญพืช วันละกำมือ แทนขนมขบเคี้ยวอื่นๆ อร่อยดีและมีประโยน์ไม่น้อย ดีต่อร่างกายมากๆ เลยล่ะค่ะ 🙂

2. ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่

ไม่ขอพูดอะไรมาก สามประโยชน์หลักง่ายๆ ของเบอร์รี่ที่จะทำให้คุณต้องซื้อกิน คือ

  • ทำให้ความจำดี
  • มีความคิดฉับไวเฉียบคม
  • ชะลอความจำเสื่อม

ฉันขอยังไม่ลงรายละเอียดตรงนี้มาก เพราะบทความนี้เพียงแค่เสนอภาพรวมของอาหารที่มีประโยชน์ต่อความจำ และสมองเท่านั้น ติดามสรุปข้อมูลงานวิจัยที่อ่านง่ายมีสาระว่า “ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ดีต่อสมองอย่างไร” ได้ที่นี่ (กำลังเขียน อดใจรอนิดนึงนะคะ)

3. ดาร์กช็อกโกแลต

ทานช็อกโกแลต ไม่ได้ทำให้อ้วนเสมอไปอย่างที่หลายคนคิดนะคะ แต่ต้องเลือกทานให้เป็น ทานในปริมาณที่พอเหมาะ ซึ่งช็อกโกแลตที่ดีที่สุด คือ ดาร์คช็อกโกแลต เพราะถือว่าเป็นช็อกโกแลตแท้ ไม่มีน้ำตาล ไม่มีนม แต่ ทั้งนี้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับจำนวน อัตราส่วน ที่ผู้ผลิตช็อกโกแลต ยี่ห้อนั้นๆ ทำขึ้นมาด้วย

ให้สังเกตุที่เปอร์เซนต์ค่ะ ตัวเลขเปอร์เซนต์สูง หมายถึง มีน้ำตาลน้อย เช่น หากบนฉลากเขียนว่า

  • ดาร์กช็อกโกแลต 90 เปอร์เซนต์ หมายความว่ามีปริมาณช็อกโกแลตแท้ไม่ได้ผสมอะไร 90 เปอร์เซนต์
  • ดาร์กช็อกโกแลต 90 เปอร์เซนต์ จึงมีปริมาณน้ำตาลน้อยกว่า ดาร์กช็อกโกแลต 72 เปอร์เซนต์ อยู่ 18 เปอร์เซนต์

ยิ่งสูงยิ่งดี ท่องไว้นะคะ (แต่อาจจะขมหน่อยนึง)

ดาร์กช็อกโกแลตดีมีประโยชน์ เพราะมีสารที่เรียกว่า “ฟลาโวนอยด์ (flavonoid)” ช่วยลดความดันโลหิด และช่วยป้องกันการอุดตันของแส้นเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนได้ดี เมื่อการไหลเวียนของเลือดคล่องตัว จึงทำให้มีเลือดไปเลี้ยงร่างกาย และสมอง ได้สะดวกง่ายดายขึ้น

4. มะเขือเทศ

มะเขือเทศ มีสารที่เรียกว่า “ไลโคปีน (lycopene)” ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระอย่างหนึ่ง นอกจากมะเขือเทศจะช่วยชะลอริ้วรอย การแก่ตัวแล้ว ไลโคปีน ยังเป็นสารที่ช่วยป้องกันการก่อตัวของโรคอัลไซเมอร์ หรือ ความจำเสื่อมด้วย

เพราะเหตุนี้ มะเขือเทศจึงเป็นอาหารหนึ่ง ที่ช่วยพัฒนาสมอง และเสริมสร้างความจำที่ดี

5. ปลา

ข้อนี้ยังไงก็หนีไม่พ้นค่ะ เชื่อว่าใครๆ ก็คงคุ้นเคยกับประโยคที่ว่า “กินปลาแล้วฉลาด” แต่ไม่ใช่ทำให้ฉลาดอย่างเดียวน่ะสิคะ เพราะปลาเนี่ย ก็ช่วยป้องกันการก่อตัวของอัลไซเมอร์และความจำเสื่อมได้เช่นกัน

 


คลิกที่นี่สำหรับบทความอื่นๆ เกี่ยวกับ สมอง ภาษา และความคิด

 

 

Filed Under: Brains & Minds

“อยากจำกลับลืม อยากลืมกลับจำ”

November 15, 2015 By KaiMook McWilla Malany 1 Comment

ข้อแถลงไข “อยากจำกลับลืม อยากลืมกลับจำ” กับกลไกการทำงานของสมอง 

 

Observer: Association for Psychological Science

 

หลายคนมีปัญหาท่องศัพท์ ท่องยังไงก็จำไม่ได้ บางที ท่องแล้วจำได้ อีกสองนาที ห้านาที ก็ลืม หรือ บางทีคิดว่าจำได้แน่นอน ตื่นขึ้นมาก็ลืม จำไม่ได้อีกละ?!!!?!

“ทำไมนะ สมองเราเป็นอะไร ทำไมมันต้วมเตี้ยมจำอะไรช้าเหลือเกิน เรื่องที่ไม่อยากจำนี่กลับจำได้จำดี” คุณอาจสงสัย

คุณไม่ได้โง่นะคะ

แต่คำตอบของมันอยู่ที่ ระบบกลไกความจำสมอง ต่างหาก

หากแบ่งความจำออก ตามระยะเวลาที่ความจำนั้นๆ คงอยู่กับเรา สามารถแบ่งออกได้ 3 แบบ คือ

  1. ความจำชั่วขณะ (immediate memory)
  2. ความจำระยะสั้น (short term memory) 
  3. ความจำระยะยาว (long term memory)

ความจำชนิดแรก คงอยู่กับเราเพียงเศษเสี้ยววินาที เป็นเพียงการรับรู้ผ่านๆ เท่านั้น น้อยมากจนฉันคิดว่า อย่าจำแนกมันเป็นความจำเลย ลักษณะของความจำชนิดนี้ คือ การมองเห็น ได้ยิน สัมผัส  เช่น ภาพที่เราเห็นอยู่ตรงหน้า อาจจะตอนข้ามถนน ขับรถสวนกับคันอื่น หรือ เดินผ่านใครสักคน จะสังเกตุได้ว่าส่วนใหญ่เราจำไม่ได้หรอกค่ะ ว่ารถที่เพิ่งผ่านไปรุ่นไหน ยี่ห้ออะไร มีอะไรอยู่ตรงหน้าเราหรือเปล่า หรือคนที่เพิ่งผ่านหน้าเราไปใส่เสื้อสีอะไร นั่นเป็นเพราะเราไม่ได้ให้ความสำคัญกับมัน

แบบที่สอง คงอยู่เป็นเวลาประมาณครึ่งนาทีได้ ในความเป็นจริงแล้ว ความจำชนิดนี้ก็ยังถือว่าสั้นอยู่ดี มันพอช่วยให้เราจำได้เพียงชั่วประเดี๋ยว เช่น จำหมายเลขโทรศัพท์ ที่เพิ่งมีคนบอกเรามา (โดยปกติสมองส่วนที่ควบคุมความจำระยะสั้นเอื้อให้เราจำตัวเลขได้ประมาณ 7 หลัก ไม่งั้น มีมึน! ด้วยเหตุนี้ เลขโทรศัพท์ส่วนใหญ่ จึงมีแค่ 7 หลัก ยังไงล่ะคะ แบ่งออกเป็น 3-4 หรือ xxx-xxxx เพื่อ เอื้อต่อการประมวลผล ในสมอง หากเลขมีมากกว่า 7 อาจแบ่งเป็น 3-3-4 หรือ xxx-xxx-xxxx เหมือนเลขโทรศัพท์ กับ หมายเลขประเทศ)

และ แบบสุดท้าย คงอยู่ได้นานเป็นเดือนเป็นปี เช่น เรื่องราวต่างๆ ที่เราจำได้ดีและสามารถดึงกลับมาเล่ามาคิดได้ตลอดเวลา เพราะมัน ฝังลงไปในสมอง เรียบร้อยเป็นความจำระยะยาวแล้วแล้ว

คีเวิร์ดตรงนี้ คือ ฝัง ค่ะ

คำถามต่อมาคือ จะทำให้ ความจำเหล่านี้ ฝังลึกลงไป เป็นความจำระยะยาว ได้อย่างไร

อันนี้ เราต้องทำความเข้าใจก่อนค่ะว่าสมองมนุษย์เก็บความจำแต่ละแบบในส่วนที่ต่างกัน การทำงานของสมองและการสร้างความจำเลยต่างกันออกไปด้วย นั่นคือ … (ขออธิบายแบบพื้นฐานเอาง่ายๆ เลยนะ)

ความจำแบบแรกกับแบบระยะสั้น จะถูกจัดเก็บใน คอร์เท็กซ์ ขณะที่แบบสุดท้าย หรือความจำระยะยาว ถูกจัดเก็บที่ ฮิปโปแคมปัส (หากเคยอ่านบทความอื่นๆ ในส่วน Brains&Minds ของฉัน คงคุ้นเคยดีนะคะว่าฮิปโปแคมปัสมีความสัมพันธ์กับความจำโดยตรง)

กระบวนการ ของความจำ และสมองมีหลักการง่ายๆ คร่าวๆ คือเมื่อเรื่องราวต่างๆ ผ่านเข้ามา มันจะเข้าไปอยู่ที่คอร์เท็กซ์ จากนั้นก็ค่อยๆ ถูกลำเลียงไปที่ฮิปโปแคมปัส ซึ่งมีโปรตีนที่คอยช่วยให้เซลล์ประสาทประสานงานร่วมกันเพื่อสร้างความทรงจำ แต่ความจำนั้นจะไม่ถูกจัดเก็บหาก

  • 1) ไม่กล้าแกร่งหรือมีอิทธิพลมากพอ หรือ
  • 2) ไม่ได้นำมาใช้บ่อยๆ

(ด้วยเหตุนี้เอง ความจำพวกเหตุการณ์สะเทือนใจต่างๆ ที่เราอยากลืมเราจึงลืมมันไม่ได้ พออยากลืมก็เสมือนเราย้อนกลับไปคิดถึงมัน ดึงมันออกมาใช้เป็นการย้อนคิด กลายเป็นว่าเรากำลังทบทวนเหตุการณ์นั้นๆ เพราะความจำนั้นๆ มัน “กล้าแกร่ง” ยังไงล่ะค่ะ

ดังนั้นจะไปว่าคนที่กำลังโศกเศร้า ไม่ให้คิดเรื่องนู่นนั่นนี่มาก ก็คงไม่ได้ เพราะ เขาและเธอ มัวแต่ย้อนคิดเรื่องราวต่างๆ ยิ่งทำให้มันติดตรึงเข้าไปในระบบสมองกว่าเก่า สิ่งเดียวที่ทำได้คือหาอย่างอื่น กิจกรรมอื่นมาให้คิด ให้ทำแทน)

จากนั้นเมื่อความจำได้เข้าไปอยู่ในฮิปโปแคมปัสแล้ว

  • มันอาจจะกลับไปสู่คอร์เท็กซ์อีกครั้ง กลายเป็นคลังความจำถาวร หรือความจำระยะยาว หรือ
  • อาจจะหายไปเลย หากไม่มีการทบทวน หรือนำกลับมาใช้อีก

ด้วยกระบวนการดังกล่าว เวลาเรียนอะไรใหม่ๆ ไม่ว่าจะเรียนภาษา หรืออ่านตำราอะไรก็ดี อ่านครั้งแรกอาจรู้สึกผ่านๆ จำไม่ได้ อ่านครั้งต่อมา บางทีเราอาจรู้สึกว่าจำได้แล้ว แต่สักพักก็ลืม บางที อาจจำได้นานพอสมควร แต่ผ่านไปวันสองวันกลับลืมอีกครั้ง นั่นเป็นเพราะสมองของเรายังไม่ได้นำความจำนั้นไปจัดกลับที่แหล่งความจำถาวร

การเรียนภาษา อาจลืมในช่วงแรกๆ แต่หากท่องจำไปเรื่อยๆ อ่านบ่อยๆ ฝึกบ่อยๆ พอความจำคงที่ได้ผ่านการทบทวนแล้วมันจะฝังรากลึกอยู่ในคลังความจำระยะยาวในสมองเราเองค่ะ

จากนั้นแล้วไม่ว่าเราจะอยากลืมแค่ไหน เราก็จะไม่ลืมมัน ย้อนทวนนิดหน่อย มันจะกลายเป็นมิตรแท้ที่ตามอยู่คู่คุณไปทุกที่ ไม่ทิ้งให้คุณอยู่ตัวคนเดียวแน่นอน 🙂

 

คลิกที่นี่สำหรับบทความอื่นๆ เกี่ยวกับ สมอง ภาษา และความคิด

 


*บทความนี้เขียนให้คุณป๊าป๊า ที่มักถามคำศัพท์เดิมฉันตลอด 555 

 

 

Filed Under: Brains & Minds Tagged With: กลไกสมอง

สมอง ภาษา ที่มาที่ไป

October 26, 2015 By KaiMook McWilla Malany 2 Comments

เกริ่นนำ

 

ภาพนี้สำคัญมากนะคะ ในหลายบทความที่ฉันเขียนส่วนต่างๆ ของสมองจะโยงกลับมาที่นี่ (ภาพโดย Lou Carlozo)

 

ก่อนจะไปเริ่มอ่าน เรื่องลี้ลับของ สมองกับภาษา และความคิดมนุษย์ ขอบอกนิดนึงนะคะ ว่าเนื้อหาที่เขียนส่วนใหญ่ในนี้มีการอ้างอิงมาจาก หนังสือ และบทความทางวิชาการ ที่ล้วนแต่มีเนื้อหา ที่เป็นวิชาการเอามากๆๆๆ เลยล่ะค่ะ

แต่ฉันพยายามเขียน ให้เป็นวิชาการน้อยที่สุด และสอดแทรกความรู้ ที่สำคัญ และตรงประเด็นมากที่สุด คำศัพท์วิชาการอาจมีแทรกบ้าง เพราะฉันเชื่อว่ามันเป็น พื้นฐานที่จำเป็นจริงๆ ต่อความเข้าใจภาพรวม ของบทความนั้นๆ และจะเป็นประโยชน์ต่อหัวข้ออื่นๆ ถัดไป ที่ฉันจะเขียน เพราะแทบทุกบทความ ที่ฉันได้ร่างลงในเว็บนี้ มีความเชื่อมโยงกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง 🙂

 

(ภาพโดย Chudomir Tsankov)

 

แม้การค้นพบเรื่องราวน่าทึ่ง ของสมองเกิดขึ้นมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา  แต่สมอง ยังเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์ลี้ลับอยู่มาก นักวิทยาศาสตร์ นักจิตวิทยา นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง และแพทย์ยังคงต้องค้นคว้าและเรียนรู้เรื่องนี้กันต่อไป

ฉัน ก็เป็นหนึ่งในนั้น ที่ยังต้อง ศึกษา ค้นคว้า และ คอยหาความรู้เพิ่มเติม อีกมากมาย ตลอดเวลา

สำหรับผู้เชี่ยวชาญทั้งหลาย เนื้อหาบางอย่างที่ฉันเขียน อาจดูไม่ครอบคลุมหรือครบถ้วนนัก นั่นเป็นเพราะ

  • เป้าหมายของบทความทั้งหมดที่เขียนขึ้นมาคือต้องการให้ผู้อ่านทั่วไปเข้าใจภาพรวมของระบบการทำงานของสมอง
  • โดยหวังว่า จะเป็น แรงกระตุ้นให้ผู้อ่านทุกท่านได้มีความรู้เพิ่มเติม
  • และ มี แรงจูงใจ ที่จะศึกษา หาความรู้เพิ่มเติม เกี่ยวกับ อวัยวะสุดแสนจะวิเศษนี้ของมนุษย์
  • ในขณะเดียวกัน ในยุคแห่งโลกที่ไร้ขอบเขตนี้ ฉันมีความประสงค์ อยาก ผลักดัน ให้ทุกคน หันมาตั้งใจเรียนภาษา ไม่รู้สึกย่อท้อต่อความลำบาก จากการเรียนภาษา ไม่ว่าจะเป็นการฟัง พูด อ่าน เขียน ท่องศัพท์ หรือการเรียนไวยากรณ์ จนท้อแท้ และหมดกำลังใจไป

เพราะฉันเชื่อว่าหากเราเข้าใจระบบที่มาที่ไปของกลไกสมอง เราจะรู้ว่า แท้จริงแล้ว

  • การเรียนภาษา และการฟื้นฟูทักษะทางภาษา แท้จริงแล้ว ไม่ยากเลย
  • การบำรุงรักษาสมอง ใ้ห้มีความยืดหยุ่น ต่อการเรียนรู้ ย่อมเป็นไปได้เสมอ และ
  • การป้องกัน การเกิดโรคทางสมอง ที่มีผล ต่อ ภาษา หรือ การรักษาเยียวยา โรคเหล่านั้น ย่อมมีหนทาง

การประยุกต์ข้อมูลให้เข้ากับชีวิตประจำวัน และ การหาความสัมพันธ์ของศาสตร์ด้านสมอง (ระบบปริชาน) กับเรื่องของภาษาหลายส่วนเกิดจาก รวบรวม เชื่อมโยง คิด วิเคราะห์ และตีความ จากข้อมูลที่ฉันมีและได้ศึกษาเอง นะคะ

หากมีข้อสงสัยหรือสนใจรู้เรื่องใดเพิ่มเติม ติดต่อมาได้เสมอที่ช่องคอมเมนต์ข้างล่างท้ายบทความได้เลย

ท้ายที่สุด …

ฉันมีอะไรมากมายล้นหัวที่อยากจะแบ่งปัน หวังว่าที่เขียนกลั่นออกมาทั้งหมด จะเข้าใจง่าย และเป็นประโยชน์ ไม่มากก็น้อยต่อผู้อ่าน ทุกท่าน ทุกวัย ค่ะ บางบทความอาจอ่านดูงงๆ บ้าง แต่จะคอยกลับมาแก้ไข เพิ่มเติม ข้อมูล ให้เสมอนะคะ

 

หวังว่าจะสนุกไปด้วยกันค่ะ 😀

ไข่มุก (ผู้เขียน)

 

คลิกที่นี่ สำหรับบทความอื่นๆ เกี่ยวกับ สมอง ภาษา และความคิด

 


 

** ภาพทั้งหมด บางส่วน มาจากกูเกิล บางส่วน มาจากหนังสือ และ บทความงานวิจัย ที่มีการเขียนอ้างอิงประกอบใต้ภาพ และ บางส่วน คือภาพที่ฉันทำ และถ่ายขึ้นมาเอง ภาพและข้อมูลทั้งหมดเป็น ลิขสิทธิ์ ของเจ้าของเว็บไซต์ https://wanderfulminds.com หากพบว่า มีการละเมิดฝ่าฝืน หรือ นำไปเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาติ จะดำเนินคดีตามกฎหมาย อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ลิขสิทธิ์และคำสงวนสิทธิ์ หรือคลิกที่ privacy 

 

Filed Under: Brains & Minds Tagged With: กลไกสมอง

เกิดอะไรขึ้นกับสมองเมื่อเราเรียนภาษาตอนโต

October 22, 2015 By KaiMook McWilla Malany 2 Comments

 

(ภาพโดย Chudomir Tsankov)

 

เป็นที่รู้กันดี ว่า เรียนภาษาตอนเด็ก ง่าย กว่าเรียนตอนโต ในทางจิตวิทยาอาจเป็นเพราะ เราไม่ต้องคิดอะไรมาก เรียนรู้ไปตามธรรมชาติ โดยเฉพาะหากใครเป็นรู้สองภาษา (bilingual) มาตั้งแต่เกิดแล้ว อะไรๆ ก็ง่ายไปหมด เหมือนการใช้ภาษามันมาโดยธรรมชาติยังไงยังงั้น

แต่คำถามที่เกิดขึ้น คือ

แล้วถ้าเรียนภาษาตอนโตล่ะ
ทำไมยากจัง
เกิดอะไรขึ้นกับสมองกันแน่นะ

คำตอบคือ ก็เพราะพัฒนาการสมองของเด็กกับผู้ใหญ่ ต่าง กัน น่ะสิคะ

งานวิจัยหนึ่งของประเทศสวีเดน ศึกษาเกี่ยวกับ การเจริญเติบโต หรือ ขนาดของสมองของผู้ใหญ่ ที่เรียนภาษาใหม่ที่พวกเขาไม่เคยรู้มาก่อนเลยในชีวิต เทียบกับ กลุ่มการทดลอง สอง กลุ่ม คือ

  1. กลุ่มทหารที่ต้องเป็นล่าม/นักแปล กับ
  2. กลุ่มนักเรียนแพทย์

ทั้งสองกลุ่มเรียนหนักเหมือนกัน แต่ หนักกันไปคนละด้าน นักเรียนล่ามทหาร หนักไปทางการฝึกร่างกาย กับการเรียนภาษา พวกเขาต้องเรียนภาษานั้นๆ ให้คล่องแคล่ว ทั้งที่ไม่เคยเรียนมาก่อนในชีวิต เรียนให้ได้ภายใน 10 เดือน โดยต้องเริ่มเรียนภาษาจากการเริ่มนับหนึ่งใหม่ (หรือ ไม่มีพื้นความรู้ภาษานั้นๆ มาก่อนเลย)

ลองคิดดูซิคะ ว่ายากแค่ไหน เรียนภาษาในห้องเรียน ในประเทศตัวเอง ไม่ได้มีโอกาสไปใช้ชีวิตในประเทศที่พูดภาษานั้นๆ เลย เพียงไม่ถึงหนึงปี ก็ต้องรู้ทุกอย่าง ต้องเขียนได้ และพูดคล่องให้เหมือนเจ้าของภาษา

ขณะที่ อีกกลุ่มของนักเรียนแพทย์ ก็เรียนหนักเหมือนกัน แต่ หนักไปด้านอื่น คือ ทางวิชาการ กายภาพ ร่างกาย โรคและการวินิจฉัยต่างๆ

ผลจากภาพสแกนสมอง ที่สแกน ก่อน และ หลัง การทดลองพบว่า ขนาดสมองของนักเรียนทหารที่เรียนภาษาใหญ่ขึ้น อย่างเห็นได้ชัด ขณะที่ สมองของอีกกลุ่ม (นักศึกษาแพทย์) มีขนาดเท่าเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

สมองส่วนที่ใหญ่กว่าเก่า ของนักเรียนทหารมี 2 ส่วนด้วยกัน คือ ฮิปโปแคมปัส กับ คอเท็กซ์ (เปลือกสมอง)

  • ฮิปโปแคมปัสเนี่ย มีความสัมพันธ์ กับภาษาด้านความจำ เป็นความจำระยะสั้น ความจำระยะยาว ในหัวของเรา
  • ส่วนคอร์เท็กซ์ เกี่ยวพันธ์กับการใช้ภาษา ด้านเสียง การออกเสียง การรับรู้เสียง หรือเสียงสะท้อนของเสียง ส่วนที่เห็นได้ชัดเลย แยกย่อยออกมาได้ตามภาพที่ปรากฎ คือ

Mårtensson et al

  • รอยนูนกลีบหน้าผากส่วนหน้าตรงกลาง (Middle Frontal Gyrus)
  • รอยนูนกลีบหน้าผากส่วนหน้าด้านล่าง (Inferior Frontal Gyrus)
  • รอยนูนกลีบหน้าผากส่วนข้างด้านบน (Superior Temporal Gyrus)

(ฉันไม่แน่ใจเหมือนกันนะคะว่าภาษาไทยเรียกแบบนี้รึป่าว อันนี้ต้องขออภัยจริงๆ หากผู้รู้ท่านใดทราบช่วยชี้แนะด้วย)

การทดลองนี้ชี้ให้เห็น เรื่องมหัศจรรย์ของสมองเรา หลายอย่างมาก ขอชี้แจงเพียงเล็กน้อยเท่านั้นนะคะ ไม่ขอไม่ลงลึกมาก เช่น

  • สมองเราเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาไม่ว่าจะโต (หรือแก่) แค่ไหนก็ยังมีพัฒนาการและมีความยืดหยุ่นอยู่
  • ภาษามีอิทธิพลและช่วยชะลอการเสื่อมของสมองได้แน่นอน ไม่ว่าจะอัลไซเมอร์หรือสมองเสื่อม เห็นได้จากการทดลองนี้ที่เทียบการเรียนภาษากับการเรียนด้านอื่นๆ

ดังนั้น มาเรียนภาษาวันละนิด ท่องศัพท์วันละคำ ป้องกันภาวะหลงลืมกันดีกว่าค่ะ 😀

 

คลิกที่นี่สำหรับบทความอื่นๆ เกี่ยวกับ สมอง ภาษา และความคิด

 

Filed Under: Brains & Minds Tagged With: กลไกสมอง

ภาวะพูดไม่ออก “มันติดอยู่ที่ปาก” (Tip-of-the-tongue)

October 18, 2015 By KaiMook McWilla Malany Leave a Comment

(ภาพจากกูเกิล)

 

เคยสงสัยไหมคะว่าทำไมบางทีเวลาจะพูดแล้วพูดไม่ออก รู้แน่ชัดว่าจะพูดอะไรแต่ดึงคำมาพูดออกมาไม่ได้ รู้สึกเหมือน “มันติดอยู่ที่ปาก” (Tip-of-the-tongue)

ลักษณะทั่วไปของอาการแบบนี้คือเราให้คำนิยามได้ อธิบายได้แน่ชัดว่าจะพูดอะไร แต่กลับนึกคำนั้นไม่ออก แต่พอมีคนพูดคำศัพท์นั้นขึ้นมา เราก็ตอบว่า “ใช่ๆ คำนั้นแหละ”

เป็นเพราะอะไรกันแน่นะ

คำตอบคือ หากไม่ได้เป็นบ่อยจนสังเกตุเห็นได้ชัด มันเป็นอาการปกติค่ะ เป็นเรื่องการควานหาคำศัพท์ในสมองที่เราอาจหลงลืมบ้างเป็นธรรมดา แต่ถ้าเป็นบ่อยมากเกินปกติ ต้องย้ำนะคะว่าบ่อยมาก คราวนี้ล่ะเริ่มน่ากลัวแล้ว คำอธิบายมี 2 กรณี คือ

  • Anomic Aphasic หรือ ภาวะหลงลืมภาษาชนิดหนึ่งที่มักเกิดกับคำศัพท์ กลุ่มคำนาม (คน สัตว์ สิ่งของ) หรือกลุ่มคำกริยา (ส่วนใหญ่เกิดกับคำนาม) กรณีนี้เกิดจากผู้ป่วยที่เคยมีภาวะเส้นเลือดในสมองแตก/ตีบ (stroke) หรือเกิดอุบัติเหตุทางสมองมาก่อน ถ้าสแกนสมองจะเห็นว่ามีรอยโรค (lesion) ในสมองด้วย ภาษาบ้านๆ คือ รอยแผลที่สมอง
  • Primary Progressive Aphasia Syndrome อันนี้เป็นภาวะหลงลีมภาษาเช่นกันค่ะ อาการคล้ายกันกับข้อข้างบนเลย แต่เป็นผลจากระยะยาว ค่อยๆ เกิดขึ้นวันละนิดวันละน้อย เกิดจากการเสื่อมของสมองเอง คล้ายๆ กับอัลไซเมอร์หรือสมองเสื่อมนั่นแหละค่ะ

ถามว่าป้องกันได้ไหม

ถ้าเป็นลักษณะนึกคำไม่ออกแบบทั่วไป ไม่ได้เกี่ยวข้องกับโรคทางสมองแต่อย่างใดแล้ว อันนี้คงทำอะไรไม่ได้ค่ะ คงต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องปกติ

 

(ภาพจากกูเกิล)

 

แต่หากเกิดจากสมองเสื่อม (กรณีที่ 2) ป้องกันได้โดยการทานผัก ผลไม้  โดยเฉพาะพวกเบอร์รี่ทั้งหลาย ทานปลาเยอะๆ พวกแซลมอน และทานอาหารให้ครบห้าหมู่ ออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพอ

ถ้าไม่ได้มีอาการเยอะเกินปกติ ไม่ต้องห่วงนะคะ เป็นเรื่องธรรมด๊า ธรรมดา

 

คลิกที่นี่สำหรับบทความอื่นๆ เกี่ยวกับ สมอง ภาษา และความคิด

 

Filed Under: Brains & Minds Tagged With: กลไกสมอง, อาหารบำรุงสมอง

KAIMOOK MALANY

ฉันโตมากับการไม่อยู่เป็นหลักแหล่ง ฉันสู้ ดิ้นรน ปรับตัว เป็นฉันในวันนี้ ที่ยิ้มเก่ง ช่างพูด กล้าถาม ชื่นชอบการพบปะผู้คน รักการเรียนรู้ หลงรักการผจญภัย และอยู่อย่างสันโดษได้ นอกจากจะเพราะครอบครัวที่รักและคอยให้การสนับสนุนฉันแล้ว ส่วนหนึ่งยังเป็นเพราะตัวฉันที่ไม่ชอบอยู่นิ่ง (wander) สิ่งที่ฉันได้เจอ ศึกษาค้นคว้าและเรียนรู้เป็นความน่าหลงใหล (wonderful) ที่ฉันอยากจะแลกเปลี่ยนแบ่งปัน ทุกอย่างที่เขียนขึ้นกลั่นออกมาจากใจฉันเองค่ะ (minds)

Join the Social Conversation

  • Facebook
  • Instagram
  • Pinterest

Copyright © 2015-2019 · Squiddy Productions · This site powered on interstellar cognitions · Privacy