แนะนำการเตรียมตัวเรียนต่อปริญญาโทที่ประเทศฝรั่งเศสและทุนรัฐบาลฝรั่งเศส (Eiffel Excellence Scholarship Programme)
เนื้อหาโดยรวมของแนะนำเรียนต่อฝรั่งเศส ดังนี้
- เริ่มหาทุน
- เรียนภาษาฝรั่งเศสที่ประเทศฝรั่งเศส
- เลือกและสมัครมหาวิทยาลัยพร้อมกับขอทุน Eiffel
- เตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการอยู่ฝรั่งศสระยะยาว
- การขอลงทะเบียนและขอใบอนุญาติพักอาศัย (titre de séjour)
- การเปิดบัญชีธนาคาร
- การขอเงินช่วยค่าที่พัก(aide au logement étudiant) จาก Caf
- ประสบการณ์ในการเรียน Master 1 Droit Public ที่ Aix Marseille Université
- ประสบการณ์สมัครฝึกงานในองค์การระหว่างประเทศ
ทุนรัฐบาลฝรั่งเศส (Eiffel Excellence Scholarship Programme)
อ่านบทความก่อนหน้านี้ เรียนต่อฝรั่งเศส 1 เกี่ยวกับทุนรัฐบาลฝรั่งเศสทุนต่างๆ คลิกที่นี่ ในบทความนี้เราจะมาต่อกันที่ การเรียนภาษาฝรั่งเศสนะคะ

ฉันกับผิงผิง ที่ aix-en-provence ไปเดินป่ากัน 🙂 ขาแทบลาก
2) เรียนภาษาฝรั่งเศสที่ประเทศฝรั่งเศส
จากการหาข้อมูลในเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยที่เราอยากเข้าหลายๆแห่ง หนึ่งในเอกสารที่เป็นเงื่อนไขการสมัครในระดับปริญญาโทของนักเรียนต่างชาติคือ ผลการทดสอบภาษาฝรั่งเศส ระดับ B2 หรือ C1 ถ้าสำหรับสายกฎหมาย ถ้าตั้งใจเตรียมตัวตั้งแน่เนิ่นๆเราแนะนำให้เรียนภาษาฝรั่งเศสที่ประเทศไทยเตรียมไว้ก่อน อย่างไรก็ตามจะมีข้อจำกัดอยู่เมื่อเรียนมาถึงระดับกลาง (B2) เพราะจำนวนนักเรียนที่สมัครเรียนอาจจะมีไม่มากทำให้ไม่ได้เรียนทุกวันเข้มข้นแบบคอร์ส intensive จึงแนะนำให้ไปเรียนที่ประเทศฝรั่งเศสอยู่ดีซึ่งจะทำให้เรียนได้เร็วกว่าจากการสอบถามรุ่นพี่หลายๆ คนที่ไปเริ่มเรียนภาษาฝรั่งเศสโดยไม่มีพื้นฐานมาก่อนมักจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี (ต้องขยันมากๆ เลยน้า)
2.1) เลือกสถาบันสอนภาษา
เราขอจำแนกสถาบันสอนภาษาเป็น 2 ประเภทหลักๆ ได้แก่
- สถาบันสอนภาษาของมหาวิทยาลัย กล่าวคือ คณะอักษรศาสตร์ของมหาวิทยาลัยในประเทศฝรั่งเศสจะเปิดหลักสูตรสอนภาษาฝรั่งเศสสำหรับนักเรียนต่างชาติ ข้อดีคือราคาถูกกว่าสถาบันสอนภาษาของเอกชน และเรามีสถานะเหมือนนักศึกษาทำให้เราสามารถเข้าห้องสมุด ยืมหนังสือ และทานข้าวในโรงอาหารของมหาวิทยาลัยด้วยราคานักศึกษาได้ และสะดวกต่อการไปเข้าฟังบรรยาย งานเสวนาของมหาวิทยาลัย ฯลฯ โดยเฉพาะถ้ามหาวิทยาลัยนั้นเป็นมหาวิทยาลัยที่เราต้องการศึกษาต่ออยู่แล้ว ก็อาจจะนัดคุยกับอาจารย์ได้ ข้อเสียคือมีปิดเทอมหรือวันหยุดตามปฏิทินของมหาวิทยาลัย ทำให้เราอาจเรียนได้ไม่ต่อเนื่อง นอกจากนี้จะต้องสมัครเป็นเทอมหรือเป็นปี มีวันเปิดและปิดเทอมที่ชัดเจน ไม่สามารถสมัครมาเริ่มเรียนตอนไหนก็ได้ นักเรียนต้องช่วยเหลือตัวเองมากกว่าในเรื่องการหาที่พักและอื่นๆ และอาจมีความยืดหยุ่นน้อยกว่าในเรื่องการขอเปลี่ยนชั้นเรียน วิชาเลือก ฯลฯ เนื่องจากต้องผ่านขั้นตอน กฎระเบียบต่างๆ การสมัครและรายละเอียดสามารถเข้าไปดูในเว็บไซต์ของแต่ละสถาบันได้เลย เช่นของมหาวิทยาลัย Aix Marseille ดูรายละเอียดได้ที่ คลิกที่นี่ หรือของมหาวิทยาลัย Paris Sorbornne คลิกที่นี่
- สถาบันสอนภาษาของเอกชน ข้อดีคือเรียนเข้มข้น ไม่ค่อยมีวันหยุด สมัครเริ่มเรียนตอนไหนกี่เดือนก็ได้ จำนวนนักเรียนต่อห้องค่อนข้างน้อย มีบริการต่างๆ เช่นหาที่พักให้ทั้งแบบ host family หรือหอพักในเมือง มีบริการรับ-ส่งจากสนามบิน ให้คำปรึกษาเรื่องขอทำหรือต่อ titre de sejour (ใบอนุญาติพักนักในประเทศฝรั่งเศส) มีโปรแกรมพาไปทัศนศึกษาและกิจกรรมนอกห้องเรียนหลากหลาย มีความยืดหยุ่นเกี่ยวกับความต้องการของนักเรียนแต่ละคน ข้อเสียคือราคาแพงกว่าสถาบันของสอนภาษาของมหาวิทยาลัย (คิดค่าเรียนเป็นรายสัปดาห์ โดยยิ่งเรียนนานราคาเฉลี่ยต่อสัปดาห์จะถูกลง) และถ้าเป็นเมืองเล็กๆ ไม่ได้มีมหาวิทยาลัยอยู่ ก็อาจจะไม่มีโอกาสได้พบปะทำกิจกรรมกับนักศึกษาฝรั่งเศส สถาบันที่มีชื่อเสียง เช่น Institut de Touraine คลิกที่นี่ และ Cavilam คลิกที่นี่ ทั้งนี้ให้เลือกหลักสูตร intensive โดยดูให้มีจำนวนชั่วโมงเรียน 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ขึ้นไป มิฉะนั้นอาจมีปัญหาในการขอวีซ่านักเรียนระยะยาวได้
ผู้ที่กำลังตัดสินใจอยู่ควรคำนึกถึงปัจจัยๆ ต่างๆ ข้างต้นในการเลือกสถาบัน เช่น เดือนที่อยากเริ่มไปเรียนตรงกับช่วงเปิดเทอมของมหาวิทยาลัยไหม ดูขนาดและลักษณะ บรรยากาศของเมืองที่เราอยากไปอยู่ หรือถ้าคนที่ไม่มีพื้นฐานภาษาฝรั่งเศส ไม่รู้จักคนไทยที่จะช่วยเหลือ หรือไม่อยากต้องเหนื่อยกับการช่วยเหลือตัวเองมากๆ เรื่องการหาที่อยู่ไปล่วงหน้าก็อาจจะเหมาะกับการเรียนสถาบันของเอกชน หรืออาจจะเรียนทั้งสองแบบก็ได้ เช่น เรียนในสถาบันเอกชนช่วงแรกก่อน และค่อยไปเรียนต่อในสถาบันของมหาวิทยาลัย สุดท้ายเราก็เลือกสมัครเรียนที่ Cavilam เป็นระยะเวลาแปดเดือน เพราะเราไปอยู่คนเดียวครั้งแรกก็อยากอยู่เมืองเล็กๆอย่าง Vichy ที่สงบเงียบ มีสวนสาธารณะมาก ผู้คนใจดีและพูดแต่ภาษาฝรั่งเศส (แต่บางคนก็ชอบอยู่เมืองใหญ่มากกว่าเพราะมีกิจกรรมเยอะซึ่งช่วยในการฝึกภาษาได้เหมือนกัน เช่น เข้าพิพธภัณฑ์ ดูการแสดง นิทรรศการต่างๆ)
2.2) เลือกรูปแบบที่พัก
เราขอแบ่งรูปแบบที่พักเป็นสองประเภทหลักๆ ได่แก่
- พักกับครอบครัวชาวฝรั่งเศสหรือที่เรียกว่า famille d’acceuil ซึ่งสถาบันภาษาจะติดต่อหาครอบครัวอุปถัมภ์ให้เรา โดยเราอาจระบุความต้องการได้นิดหน่อยเช่นไม่ต้องการอยู่กับครอบครัวที่สูบบุหรี่ หรือมีสัตว์เลี้ยง ฯลฯ และเลือกได้ว่าจะอยู่แบบมีห้องนอน ห้องน้ำส่วนตัว หรือแชร์ห้องนอนได้ และจะกินข้าวที่บ้านแค่มื้อเช้า หรือมื้อเย็นด้วยซึ่งราคาก็จะแตกต่างกันไป แต่โดยภาพรวมแล้วจะแพงกว่าการอยู่เช่าห้องเองค่อนข้างมาก การอยู่รูปแบบนี้ก็เหมือนเสี่ยงดวงว่าจะได้เจอครอบครัวแบบไหน เข้ากับเราได้ไหม รวมถึงตัวเราเองด้วยว่าพร้อมจะปรับแค่ไหน โดยหลักแล้ว ข้อดีคือเราจะได้ใช้ภาษาฝรั่งเศสกับชาวฝรั่งเศสในชีวิตประจำวัน ได้เรียนรู้วัฒนธรรม ทั้งเรื่องอาหารและเรื่องอื่นๆ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าเค้าสนิทกับเรามากแค่ไหน ถ้าสนิทกันมากเราก็จะเป็นเหมือนสมาชิกในครอบครัวเค้า (นึกถึงนักเรียนแลกเปลี่ยน) ได้ไปรวมญาติ/ไปเที่ยวกับเค้า ได้คุยแลกเปลี่ยนกัน เค้าอาจยินดีตรวจการบ้าน ช่วยเหลือเราในเรื่องต่างๆ แต่ถ้าเข้ากันไม่ได้ หรือดันได้ครอบครัวที่ไม่มีเวลาให้เรา ไม่ได้ตั้งใจต้อนรับเด็กต่างชาติ เราก็อาจจะเป็นเหมือนแค่ผู้เช่าห้องในบ้านเค้าหรือถึงขั้นทะเลาะกันก็ได้ ทั้งนี้ ทางสถาบันสอนภาษาก็จะมีแผนกที่คอยดูแลเรื่องที่พัก ความเป็นอยู่ที่เราสามารถไปคุยถึงปัญหาต่างๆ ขอเปลี่ยนครอบครัวอุปถัมภ์หรือเปลี่ยนที่พักได้ เราแนะนำว่าถ้าสมัครไปอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์ให้ส่งอีเมลล์คุยกับครอบครัวอุปถัมภ์ล่วงหน้า (ควรส่งเป็นภาษาฝรั่งเศส ใช้คำง่ายๆ ก็ได้ google translate ก็ได้) เพื่อแนะนำตัว ถามเค้าในสิ่งที่เราไม่มั่นใจ เช่น เราต้องเอา….ไปไหม เราใช้อุปกรณ์….ในบ้านได้ไหม
- เช่าห้องพักเอกชน ที่พักรูปแบบนี้จะยุ่งยากกว่าในตอนแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าสถาบันสอนภาษาไม่ได้หาให้ เราก็จะต้องติดต่อกับเจ้าของหอพักโดยตรง ซึ่งมักจะพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ และถ้าเมื่อเห็นเราเป็นคนต่างชาติก็อาจจะขอให้เราหาผู้ค้ำประกันชาวฝรั่งเศสด้วย นอกจากนี้อาจจะมีค่ามัดจำ ค่าส่วนกลาง และอาจให้เราติดต่อจ่ายค่าน้ำค่าไฟเองแยกต่างหาก ซึ่งหอพักจะมีหลายแบบถ้าเป็นห้องนอนอย่างเดียวจะเรียกว่า chambre ก็จะราคาถูกกว่า studio ซึ่งจะมีมุมทำครัวและห้องน้ำในตัว ส่วนค่าเช่าก็ขึ้นอยู่กับค่าครองชีพของเมืองที่อยู่ นอกจากนี้เรายังขอเงินช่วยค่าที่พักจาก Caf ได้อีกด้วย (ดูรายละเอียดได้ในหัวข้อเฉพาะ)
เราเลือกอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์ในช่วงสามเดือนแรก เราอยู่กับหญิงวัยกลางคนคนหนึ่งซึ่งไม่ได้ทำงานแล้ว เรากับเค้าพาหมาไปเดินเล่นและพูดคุยกับกลุ่มเพื่อนวัยกลางคนของเค้าที่สวนทุกวัน เสาร์อาทิตย์เค้าก็พาเราไปบ้านเพื่อนเค้าบ้างหรือลูกๆเค้ามาหาที่บ้าน เราก็ได้ลองทำอาหารไทยให้เค้าทานบ้าง หลักจากสามเดือนซึ่งเราเริ่มใช้ภาษาฝรั่งเศสในการสื่อสารช่วยเหลือตัวเองได้แล้วก็ย้ายไปเช่า studio เพราะอยากอิสระ ประหยัดค่าใช้จ่ายด้วยการทำอาหารเอง และชวนเพื่อนๆ มาที่ห้องได้เต็มที่ เนื่องจากเราอยู่เมืองนั้นอยู่แล้วจึงได้ไปขอดูห้องกับเจ้าของหอพักโดยตรง ได้ดูทำเล ลองเดินจากหอมาโรงเรียน รู้จักเพื่อนที่อยู่หอนั้น ทำให้ทุกอย่างราบรื่นดี และเราก็สนิทกับเจ้าของหอไปในที่สุดเนื่องจากเค้าอาศัยอยู่ชั้นล่างในตึกเดียวกันจึงเอ็นดู ชวนเรามาตกแต่งบ้านในช่วงคริสมาสต์กับหลานของเค้า พาเราไปเที่ยวๆรอบๆ เมือง
ขอจบกันเท่านี้ก่อน ในส่วนที่ 2 การเรียนภาษาฝรั่งเศส ยังไม่จบเพียงเท่านี้ ในบทความหน้าเราจะมาดูกันเรื่อง ภาษาฝรั่งเศสระดับต่างๆ A1, A2, B1, … C2 และ การสอบ DELF, DALF, TCF คลิกที่นี่
Leave a Reply