
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เทรนด์เรียนอักษรศาสตร์ ยังมาแรงไม่ขาดสาย เด็กสายศิลป์หลายคนอยากเข้าอักษรฯ แต่กระนั้น ก็ยังไม่รู้เลยว่า อักษรศาสตร์ คืออะไร เรียนอะไร กันแน่ พ่อแม่ผู้ปกครองที่อยากให้ลูกหลานเข้าคณะอักษรฯ หลายคนก็ยังมีความเข้าใจผิดๆ กันอยู่ว่า “อักษรฯ เรียนภาษา” “อยากเก่งภาษาต้องเข้าอักษรฯ”
ในฐานะนิสิตเก่าคณะนี้ อักษรศาสตร์ ไม่ได้ เรียนแค่ภาษา นะคะ เราเรียนอย่างอื่นด้วย อักษรศาสตร์ เป็นสายมนุษยศาสตร์ มีสาขาเอกโทอื่นมากมายที่ไม่เกี่ยวกับการเรียนภาษาเลย ไม่ว่าจะเป็น ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ปรัชญา วรรณคดีเปรียบเทียบ บรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์
ส่วนสาขาเอกหรือโทภาษา ทั้ง ภาษาตะวันตก อย่าง ฝรั่งเศส สเปน เยอรมัน อิตาลี หรือ ภาษาตะวันออก อย่าง จีน ญี่ปุ่น เกาหลี บาลี-สันสกฤต ก็ไม่ได้เรียนแต่ภาษาเท่านั้น แต่เรียนวรรณกรรม วรรณคดี สังคม ประวัติศาสตร์ ปรัชญาและอื่นๆ ของประเทศและภูมิภาคเหล่านั้นด้วย โดยรวมแล้ว อักษรศาสตร์เรียนเพื่อเข้าใจความเป็นมนุษย์ และการอยู่บนโลก เรียนให้เห็นโลก เป็นการเปิดโลกทัศน์และมุมมองให้กว้างขึ้น คิดวิเคราะห์เป็น (หรือที่เรียกว่าคิดมาก 55) เพราะนี่คือ หลักการหลักๆ ของสายมนุษยศาสตร์
อาจจะฟังดูเข้าใจยากสักหน่อย ว่าที่เรียนคืออะไรกันแน่ คำว่า “การเรียนให้เข้าใจมนุษย์” มันดูจับต้องไม่ได้ ดูล้ำ แลดูลึก เอาไปทำกินไม่ได้ … เข้าใจไป แล้วทำอะไรได้หรือ … หลายคนอาจสงสัย แต่นี่แหละถูกแล้ว อักษรฯ ไม่ใช่สายอาชีพ ความรู้ที่ได้ และเส้นทางในอนาคต คือ เส้นทางแห่งการประยุกต์ วิเคราะห์ จับนู่นจับนี่ที่เรียนมาประสานกันเอง นำเอาความรู้และประสบการณ์ 4 ปี ที่สั่งสมมา รวบรวมเป็นองค์ความรู้เฉพาะตัว กลายเป็นเอกลักษณ์ของใครของมัน
หากจะเรียนไปเพื่อให้จบมามีตำแหน่งหน้าที่การงานที่เป๊ะ รู้เลยว่าไปไหน ทำอะไรต่อ ก็คงไม่ใช่คณะนี้ ไม่ต้องเรียนอักษรศาสตร์ เพราะนั่นคือความเข้าใจผิดๆ ถ้าคิดว่าจะเข้ามาเรียนเพื่อาชีพที่แน่นอน ไม่ต้องเข้ามาหรอกค่ะ เรียนสาขาอื่นดีกว่า (ฟังดูห้วนๆ และไร้ความรู้สึก แต่นี่ คือความจริงล้วนๆ ค่ะ)
เพราะเหตุนี้เองค่ะ ความไม่ตรงสายอาชีพ และเส้นทางอนาคตที่ไม่แน่นอน ทำให้นิสิตอักษรฯ ที่เพิ่งเรียนจบ แทบทุกคน “เคว้ง” จนเป็นที่ร่ำลือกันนักหนาในคณะด้วยกันว่า หากถามว่า “จบมาทำอะไรต่อ” ก็ไม่ต่างกับ “ตายแล้วไปไหน” เพราะเราหลายคนก็ … ไม่รู้เหมือนกัน … ว่าจะไปไหนต่อ หรือ เลือกเส้นทางไหนดี มันคือความมมืดแปดด้าน หันไปไหนก็หาอาชีพที่รองรับแน่นอนไม่เจอ
แ ต่
ไ ม่ ใ ช่ ว่ า ไ ม่ มี
เพราะ เส้นทางสายอาชีพนิสิตคณะนี้มีมากโข ต่างคนต่างไปหลากที่หลากสาขาให้แปลกแหวกแนว

บุ๊ค (อักษรฯ 79): ล่ามภาษาจีน
“อักษรฯทำให้เราได้คิดและมองเห็นโลกหลายๆใบจากที่เคยเห็น ในขณะเดียวกัน เมื่อเรากลายเป็นส่วนหนึ่งของอักษรฯ เราก็จะถูกมองและคาดหวังในหลายๆมุมด้วยเช่นกัน”

จิรา (อักษรฯ 79): “จบมาก็สวยไปวันๆ อะค่ะ”*
เนื่องจากไม่ใช่สายอาชีพ เหมือนหมอที่จบมาก็เป็นหมอ พยาบาลเป็นพยาบาล กฏหมายก็ทำงานแวดวงกฎหมาย ทนาย อัยการทำงานบริษัทกฎหมาย เราจึงมีเส้นทางในอนาคตมากมาย หากมองในแง่ดี คือ เรามีทางเลือก อยากไปไหนก็ไป ทำงานอะไรก็ทำ เลือกอะไรก็ได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องอยู่บนพื้นฐานของเหตุผลนะ ไม่ใช่ว่า เออ จบมาจะเป็นพยาบาล แบบนี้ก็ไม่ใช่ละ แต่ถ้าชอบจริงๆ สนใจๆ จริงๆ มันก็มีลู่ทางไป อย่างตัวฉันเองตอนนี้ก็เรียนสาขาประยุกต์เกี่ยวกับ สมองกับภาษา เรียกว่า ภาษาศาสตร์คลินิก/ประสาทวิทยา ศึกษาหมดเลยพวกโครงสร้างสมอง สถิติ โรคอัลไซเมอร์ ออทิสติก อเฟเซีย ฯลฯ เพื่อนฉันต่อ ด้านกฎหมาย อสังหาริมทรัพย์ การตลาด ก็มีเยอะแยะ ทำงานบริษัทกฎหมาย ทำงานในแวดวงธุรกิจ ก็มีถมเถ เป็น ครู ล่าม แปลเอกสาร ทำงานธนาคาร ทำงานตามสำนักพิมพ์ เป็นนักข่าวก็ได้ เป็นแอร์ หรือเป็นเลขาฯ ก็ดี เข้ากระทรวง ต่างๆ ก็ยังได้เลยค่ะ เพื่อนที่เรียนต่อ แพทย์ ก็มีเหมือนกัน รุ่นฉันเนี่ยแหละ

อิ่ง (อักษรฯ 79): ป.โท Graduate Institute of Interdisciplinary Legal Studies มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน
“อักษรมิใช่สายวิชาชีพ ไม่สอนคุณเดินสายไฟ คำนวนงบดุล วาดแผนผังอาคาร จะพูดว่าสิ่งที่เรียนไปไม่สามารถใช้ “แบบจับต้องได้” ในชีวิตจริงเลยก็ว่าได้ เราเรียนการใช้ภาษาและวิเคราะห์โครงสร้างภาษา เราเรียนประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ปรัชญาและศิลปะ เราเรียนรู้โดยการ … (อ่านต่อ คลิกที่นี่)”
ความ “เคว้ง” บางครั้งเกิดจากความไม่มั่นใจตัวเองว่าจะทำงานได้หรือไม่ได้ เพราะไม่ได้เรียนเฉพาะทางนั้นๆ มา บางครั้งความ “เคว้ง” ก็เกิดจากหัวหน้า/เพื่อนร่วมงานในบริษัทต่างๆ ที่ยังมีความเข้าใจผิดว่านิสิตคณะนี้รู้แต่เรื่องภาษาจนไม่เห็นความสามารถและทักษะที่แท้จริงของเรา และบางครั้ง ความ “เคว้ง” เกิดจากการมีทางเลือกมากมายที่ทำให้เราที่ยังหาตัวเองไม่เจอ ไม่รู้ว่าชอบอะไร อยากทำอะไร เลือกงานไม่ได้ ไปไม่ถูก
ท้ายสุด ฉันอยากบอกว่า หากเรียนอักษรฯ แล้วจะกลัวว่าจบมาไม่มีอะไรทำ หรือไม่มีงานรองรับ อันนี้ขอยืนยันว่าไม่ต้องกลัวค่ะ คณะนี้สอนอะไรให้เราหลายๆ อย่าง สิ่งสำคัญที่ได้มานอกจากความรู้คือ “ความคิด” คณะนี้สอนให้เรา คิดได้ คิดเป็น วิเคราะห์เป็น มันเป็นทักษะที่จะติดตัวเราตลอดไป เอาไปไหนก็ได้ ประยุกต์ใช้ได้หมด (ฟังดูเหมือนเยินยอคณะสีเทาแห่งนี้ แต่หากได้มาเรียนแล้ว แม้จะเคว้งกับเส้นทางอาชีพแค่ไหน ความคิดที่ติดตัวยังไงก็เป็นอาวุธติดตัวคุณไปจนวันตาย)
อย่ากลัวเลยค่ะ
ถ้าอยากเรียนแล้วก็เข้ามา
มี ท า ง เ ลื อ ก แ น่ น อ น
จากใจศิษย์เก่าคนหนึ่ง 🙂
*ขำๆ นะคะ แกล้งเพื่อน 😛
อ่าน บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง คลิกที่นี่
ไปเป็นสจ๊วตได้ป่าวครับ
เป็นได้ค่าา แน่นอน