คณะ อักษรศาสตร์ เรียนอะไร
(สืบเนื่องจากบทความแรก คลิกอ่านที่นี่ ได้เลยค่ะ)
บทความนี้ เขียนโดย “อิ่ง” คนในภาพข้างล่างนะคะ ไข่มุกขอให้อิ่งช่วยบอกสั้นๆ ว่า อิ่ง ได้อะไรจากการเรียนคณะอักษรศาสตร์ แต่เพื่อนคนนี้ ยิงยาวมาเป็นบทความเลยค่ะ เลยขอมอบโพสทั้งโพส ให้เพื่อนคนเก่งคนนี้ที่ตอนนี้ หลังจากเรียนจบปริญญาตรีคณะอักษรศาสตร์ ก็ไปศึกษาต่อปริญญาโทด้านกฎหมาย ที่ไต้หวัน เรียบร้อยแล้ว
- ปัจจุบัน “อิ่ง” เรียนที่ มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน (จีนตัวย่อ: 国立臺湾大学; จีนตัวเต็ม: 國立臺灣大學)
- สาขา: Graduate Institute of Interdisciplinary Legal Studies (เธอแปลเองเป็นไทยว่า “สถาบันบัณฑิตกฎหมายเพื่อสหวิทยาการ”)

อิ่ง (อักษรฯ 79): ป.โท Graduate Institute of Interdisciplinary Legal Studies มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน
“ถามว่าอักษร ๔ ปี เรียนแล้วได้อะไร?
อักษรมิใช่สายวิชาชีพ ไม่สอนคุณเดินสายไฟ คำนวนงบดุล วาดแผนผังอาคาร จะพูดว่าสิ่งที่เรียนไปไม่สามารถใช้ “แบบจับต้องได้” ในชีวิตจริงเลยก็ว่าได้ เราเรียนการใช้ภาษาและวิเคราะห์โครงสร้างภาษา เราเรียนประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ปรัชญาและศิลปะ เราเรียนรู้โดยการอ่านบทประพัทธ์ของนักประพันธ์ทั้งไทยและเทศ เราวิเคราะห์ตัวละครต่างๆ ที่เปรียบเสมือนตัวย่อของมนุษย์ในโลกแห่งความเป็นจริง ตั้งแต่การกระทำ ความคิด รวมไปถึงความรู้สึก ทักษะทางด้านภาษาถือว่าเป็นเพียงผลพลอยได้จากการอ่านอย่างหนักหน่วงของเด็กอักษรเท่านั้น
แล้ว
อักษรสอนไรล่ะ?
อักษร สอนคุณให้คิดอย่างมีวิจารณญาณ หลุดพ้นจากกรอบความคิดที่สังคมและสิ่งแวดล้อมหล่อหลอมเราขึ้นมา เปิดอกยอมรับพร้อมชื่นชมความต่างระหว่างศาสนา วัฒนธรรม ชาติพันธุ์ และทัศนคติ เรียนรู้ความต่างระหว่าง คน มนุษย์ และปัจเจกชน พิจารณา อะไรคือ ถูก อะไรคือ ผิด? ทำไมเราถึงคิดว่ามัน ถูก หรือ ผิด? อะไรคือ งาม? อะไรคือ ทราม? ทำไมเราถึงคิดว่ามัน งาม หรือ ทราม?
๔ ปีผ่านไป ถามว่าฉันรู้หรือยังว่าอะไรคือ ถูก ผิด งาม ทราม? คำตอบคือ ยังค่ะ ฉันยังไม่รู้
และอักษรก็ทำให้ฉันเข้าใจว่า ฉันไม่มีวันรู้ เนื่องจากบรรทัดฐานในใจของทุกคนไม่เหมือน ใครจะสามารถตัดพ้อได้ว่าสิ่งที่เขาทำและคิด ถูกและดีที่สุด?
อ่านถึงจุดนี้ หลายคนคงสงสัยว่า แล้วจะเรียนไปทำไม ในเมื่อในที่สุดก็ไม่มีวันรู้? ฉันตอบว่า ผลลัพธ์ไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุด กระบวนการคิดสิที่สำคัญ “I think therefore I am.” (ฉันคิด ดังนั้น ฉันจึงมีอยู่) เป็นวลีประจำใจฉัน อักษรสอนให้ฉันคิด สอนให้ฉันตั้งคำถามกับชีวิต สอนให้ฉันมองเห็นคุณค่าของชีวิต และสอนให้ฉันพิจารณาค่านิยมต่างๆที่ฉันเคยมี
ยกตัวอย่างเช่น ภายใต้กระแสวัตถุนิยมและโลกกาภิวัตน์ ทุกคนถูกออกแบบและคาดหวังให้เป็นไปตามความนิยมของสังคม เช่นสังคมไทย ผู้หญิงต้องผอม ยิ่งผอมยิ่งสวย ผอมจนต่ำกว่าค่ามาตรฐาน เพื่อผอมยอมทำร้ายร่างกาย จะมีสักกี่คนหวนกลับไปคิดว่า ทำไมต้องผอม? ผอมเพื่ออะไร? ผอมแล้วได้อะไร? แน่นอนว่าถ้าเราผอมเพื่อสุขภาพที่ดี ย่อมมีเหตุผล เราต้องการร่างกายที่แข็งแรงเพื่อดำรงชีวิตอย่างมีความสุข แต่ถ้าเราผอมจนทำร้ายร่างกายเพียงเพื่อ(เหมือนจะ)เป็นที่ยอมรับและชื่นชมในสายตาคนอื่น ฉันคิดว่า เราควรกลับมาทบทวนทัศนคิตของเราใหม่ เรามักจะใช้คำว่า หุ่นดี ในการชื่นชมรูปร่างภายนอกของคน คำว่าหุ่นทำให้ฉันนึกถึง หุ่นโชว์เสื้อ ซึ่งมีต้นแบบมาจากรูปร่างมนุษย์ เดิมมีไว้โชว์เสื้อ และแล้ว ไม่รู้เรื่มจากตั้งแต่เมื่อไหร่ หุ่นโชว์เสื้อกลับกลายเป็นต้นแบบรูปร่างของมนุษย์ ผู้ผลิตเสื้อออกแบบเสื้อตามรูปร่างของหุ่นโชว์เสื้อ หลายๆคนอยากได้หุ่นแบบหุ่นโชว์เสื้อ หุ่นแบบหุ่นโชว์เสื้อถึงจะงามและดี ทั้งๆที่ในความเป็นจริงสัดส่วนของหุ่นโชว์เสื้อผอมต่ำกว่ามาตรฐานรูปร่างมนุษย์ที่ควรจะเป็น แต่แล้ว หลายๆคนพยายามทำรูปร่างให้เหมือนหุ่นโชว์เสื้อ แทนที่จะเหมือนมนุษย์ หุ่นของหุ่นเป็นที่นิยมกว่าหุ่นของมนุษย์? ถึงจุดนี้คุณคงไม่เข้าใจโลกนี้เหมือนที่ฉันไม่เข้าใจ นี่แหละคือตัวอย่างที่เด็กอักษรเรียนและคิด
ถามว่า คิดแล้วได้อะไร? การเปลี่ยนแปลงค่านิยมสังคมไม่ใชเรื่องง่าย คิดได้แล้วทำไม? โลกนี้ยังคงเป็นเหมือนเดิมนิ ฉันตอบได้เพียงว่า เมื่อฉันคิด อย่างน้อยโลกของฉันเปลี่ยนไป เมื่อฉันได้คิด ฉันก็สามารถเลือกได้ว่าจะตามกระแสสังคมหรือไม่ เมื่อฉันได้คิด ฉันมีอิสระเลือกที่จะเป็นในสิ่งที่ฉันอย่างเป็น อักษรสอนให้ฉันคิดอย่างมีวิจารณญาณในการเลือกที่จะเป็นตัวของตัวเอง นี่หรือมิใช่สิ่งที่ทำให้มนุษย์ต่างจากสัตว์อื่น?
สรุป โลกของเด็กอักษร คือ โลกสีเทา เราไม่สามารถแบ่งทุกอย่างเป็นสองกลุ่ม ขาวหรือดำ ดีหรือเลวได้อย่างสิ้นเชิง และโลกแห่งความเป็นจริงก็เป็นเช่นนั้น อักษรสอนให้คิด สอนให้ตั้งคำถาม ถึงแม้จะไม่ได้คำตอบ แต่อย่างน้อยเมื่อเราได้คิดเราเข้าใจโลกและตัวเรามากขึ้น อักษร ๔ ปี คือการฝึกฝนให้คิดให้เป็นนั่นเอง”
กลับมาโลกแห่งความเป็นจริงกันบ้าง
ถามว่า เรียนไป ๔ ปีก็แค่คิดได้ เรียนหนักกว่าคนอื่น (รุ่น ๗๙ กำหนดนิสิตอักษรต้องเก็บให้ครบ ๑๕๐หน่วยกิจ ขณะที่คณะอื่นเพียงประมาณ ๑๓๐ หน่วยกิจก็จบแบบสวยๆ) เงินเดือนเริ่มต้นก็น้อย (เท่าที่ฉันรู้มา ๑๕,๐๐๐ ถึง ๒๓,๐๐๐ บาทเอง ถ้าได้ภาษาที่สามอาจได้ถึง ๓๐,๐๐๐ บาทจากนั้นขึ้นอยู่กับความสามารถและความพยายามของบุคคล) จะเรียนไปทำไม? คุ้มหรอ? ถามฉันว่าถ้ามีเครื่องย้อนเวลากลับไปแก้ไขอดีต ฉันจะยังคงเลือกเรียนอักษรหรือไม่? ฉันตอบได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า อักษรเป็นทางเลือกเดียวและทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับฉันค่ะ ก่อนลงมือทำทุกอย่างล้วนต้องคิดก่อน ถ้าคิดไม่เป็นจะทำให้ดีได้อย่างไร? ถ้าไม่เคยคิดจะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่ทำอยู่คือสิ่งที่อยากได้? ความรู้ด้านสาขาวิชาชีพอื่นคุณเรียนได้นอกคณะอักษร นอกรั้วมหาวิทยาลัย ยิ่งสมัยนี้เทคโนโลยีก้าวไกล กูเกิ้ลบอกคุณได้ทุกอย่าง อยากรู้อะไรไม่ต้องเสียเวลาเสียเงินลงทะเบียนนั่งเรียน นอกจากนี้วิชาความรู้ของศาสตร์อื่นอาจโดนความรู้ใหม่แทนที่ตามยุคสมัย สิ่งที่เรียนอาจไม่สามารถใช้งานได้ตลอดชีพหากคุณหยุดพัฒนาตนเอง แต่กระบวนการคิด วิธีคิดต้องใช้เวลาปลูกฝัง สั่งสม หล่อหล่อมและปรับเปลี่ยน ใช้เวลาเรียนอักษร ๔ ปี ได้ทักษะคิดเป็นและคิดได้ตลอดชีวิต จะมีอะไรคุ้มไปกว่าเรียนคณะนี้?
ฉันภูมิใจที่ได้เป็นนิสิตอักษรค่ะ”
- บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง: นิสิต อักษรศาสตร์ เรียนอะไร จบมาทำอะไร
- บทความอื่นๆ ในหมวดหมู่ การศึกษา คลิกที่นี่
Leave a Reply