wanderfulminds

When you wonder, your mind wanders, and you realize how wonderful everything is

  • Home
  • Stories & Guides
  • Facts & Tips
  • Brains & Minds
  • Languages
  • Education
  • Hire me!
  • Contact
You are here: Home / Archives for อักษรศาสตร์

บอกเล่าประสบการณ์: คณะ อักษรศาสตร์ เรียนอะไร (ต่อ)

September 4, 2016 By KaiMook McWilla Malany Leave a Comment

คณะ อักษรศาสตร์ เรียนอะไร

(สืบเนื่องจากบทความแรก คลิกอ่านที่นี่ ได้เลยค่ะ)

 

บทความนี้ เขียนโดย “อิ่ง” คนในภาพข้างล่างนะคะ ไข่มุกขอให้อิ่งช่วยบอกสั้นๆ ว่า อิ่ง ได้อะไรจากการเรียนคณะอักษรศาสตร์ แต่เพื่อนคนนี้ ยิงยาวมาเป็นบทความเลยค่ะ เลยขอมอบโพสทั้งโพส ให้เพื่อนคนเก่งคนนี้ที่ตอนนี้ หลังจากเรียนจบปริญญาตรีคณะอักษรศาสตร์ ก็ไปศึกษาต่อปริญญาโทด้านกฎหมาย ที่ไต้หวัน เรียบร้อยแล้ว

  • ปัจจุบัน “อิ่ง” เรียนที่ มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน (จีนตัวย่อ: 国立臺湾大学; จีนตัวเต็ม: 國立臺灣大學)
  • สาขา: Graduate Institute of Interdisciplinary Legal Studies (เธอแปลเองเป็นไทยว่า “สถาบันบัณฑิตกฎหมายเพื่อสหวิทยาการ”)

 

อิ่ง (อักษรฯ 79): ป.โท Graduate Institute of Interdisciplinary Legal Studies มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน

 

“ถามว่าอักษร ๔ ปี เรียนแล้วได้อะไร? 

อักษรมิใช่สายวิชาชีพ ไม่สอนคุณเดินสายไฟ คำนวนงบดุล วาดแผนผังอาคาร จะพูดว่าสิ่งที่เรียนไปไม่สามารถใช้ “แบบจับต้องได้” ในชีวิตจริงเลยก็ว่าได้ เราเรียนการใช้ภาษาและวิเคราะห์โครงสร้างภาษา เราเรียนประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ปรัชญาและศิลปะ เราเรียนรู้โดยการอ่านบทประพัทธ์ของนักประพันธ์ทั้งไทยและเทศ เราวิเคราะห์ตัวละครต่างๆ ที่เปรียบเสมือนตัวย่อของมนุษย์ในโลกแห่งความเป็นจริง ตั้งแต่การกระทำ ความคิด รวมไปถึงความรู้สึก ทักษะทางด้านภาษาถือว่าเป็นเพียงผลพลอยได้จากการอ่านอย่างหนักหน่วงของเด็กอักษรเท่านั้น

แล้ว

อักษรสอนไรล่ะ?

อักษร สอนคุณให้คิดอย่างมีวิจารณญาณ หลุดพ้นจากกรอบความคิดที่สังคมและสิ่งแวดล้อมหล่อหลอมเราขึ้นมา เปิดอกยอมรับพร้อมชื่นชมความต่างระหว่างศาสนา วัฒนธรรม ชาติพันธุ์ และทัศนคติ เรียนรู้ความต่างระหว่าง คน มนุษย์ และปัจเจกชน พิจารณา อะไรคือ ถูก อะไรคือ ผิด? ทำไมเราถึงคิดว่ามัน ถูก หรือ ผิด? อะไรคือ งาม? อะไรคือ ทราม? ทำไมเราถึงคิดว่ามัน งาม หรือ ทราม?

๔ ปีผ่านไป ถามว่าฉันรู้หรือยังว่าอะไรคือ ถูก ผิด งาม ทราม? คำตอบคือ ยังค่ะ ฉันยังไม่รู้

และอักษรก็ทำให้ฉันเข้าใจว่า ฉันไม่มีวันรู้ เนื่องจากบรรทัดฐานในใจของทุกคนไม่เหมือน ใครจะสามารถตัดพ้อได้ว่าสิ่งที่เขาทำและคิด ถูกและดีที่สุด?

อ่านถึงจุดนี้ หลายคนคงสงสัยว่า แล้วจะเรียนไปทำไม ในเมื่อในที่สุดก็ไม่มีวันรู้? ฉันตอบว่า ผลลัพธ์ไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุด กระบวนการคิดสิที่สำคัญ “I think therefore I am.” (ฉันคิด ดังนั้น ฉันจึงมีอยู่) เป็นวลีประจำใจฉัน อักษรสอนให้ฉันคิด สอนให้ฉันตั้งคำถามกับชีวิต สอนให้ฉันมองเห็นคุณค่าของชีวิต และสอนให้ฉันพิจารณาค่านิยมต่างๆที่ฉันเคยมี

ยกตัวอย่างเช่น ภายใต้กระแสวัตถุนิยมและโลกกาภิวัตน์ ทุกคนถูกออกแบบและคาดหวังให้เป็นไปตามความนิยมของสังคม เช่นสังคมไทย ผู้หญิงต้องผอม ยิ่งผอมยิ่งสวย ผอมจนต่ำกว่าค่ามาตรฐาน เพื่อผอมยอมทำร้ายร่างกาย จะมีสักกี่คนหวนกลับไปคิดว่า ทำไมต้องผอม? ผอมเพื่ออะไร? ผอมแล้วได้อะไร? แน่นอนว่าถ้าเราผอมเพื่อสุขภาพที่ดี ย่อมมีเหตุผล เราต้องการร่างกายที่แข็งแรงเพื่อดำรงชีวิตอย่างมีความสุข แต่ถ้าเราผอมจนทำร้ายร่างกายเพียงเพื่อ(เหมือนจะ)เป็นที่ยอมรับและชื่นชมในสายตาคนอื่น ฉันคิดว่า เราควรกลับมาทบทวนทัศนคิตของเราใหม่ เรามักจะใช้คำว่า หุ่นดี ในการชื่นชมรูปร่างภายนอกของคน คำว่าหุ่นทำให้ฉันนึกถึง หุ่นโชว์เสื้อ ซึ่งมีต้นแบบมาจากรูปร่างมนุษย์ เดิมมีไว้โชว์เสื้อ และแล้ว ไม่รู้เรื่มจากตั้งแต่เมื่อไหร่ หุ่นโชว์เสื้อกลับกลายเป็นต้นแบบรูปร่างของมนุษย์ ผู้ผลิตเสื้อออกแบบเสื้อตามรูปร่างของหุ่นโชว์เสื้อ หลายๆคนอยากได้หุ่นแบบหุ่นโชว์เสื้อ หุ่นแบบหุ่นโชว์เสื้อถึงจะงามและดี ทั้งๆที่ในความเป็นจริงสัดส่วนของหุ่นโชว์เสื้อผอมต่ำกว่ามาตรฐานรูปร่างมนุษย์ที่ควรจะเป็น แต่แล้ว หลายๆคนพยายามทำรูปร่างให้เหมือนหุ่นโชว์เสื้อ แทนที่จะเหมือนมนุษย์ หุ่นของหุ่นเป็นที่นิยมกว่าหุ่นของมนุษย์? ถึงจุดนี้คุณคงไม่เข้าใจโลกนี้เหมือนที่ฉันไม่เข้าใจ นี่แหละคือตัวอย่างที่เด็กอักษรเรียนและคิด

ถามว่า คิดแล้วได้อะไร? การเปลี่ยนแปลงค่านิยมสังคมไม่ใชเรื่องง่าย คิดได้แล้วทำไม? โลกนี้ยังคงเป็นเหมือนเดิมนิ ฉันตอบได้เพียงว่า เมื่อฉันคิด อย่างน้อยโลกของฉันเปลี่ยนไป เมื่อฉันได้คิด ฉันก็สามารถเลือกได้ว่าจะตามกระแสสังคมหรือไม่ เมื่อฉันได้คิด ฉันมีอิสระเลือกที่จะเป็นในสิ่งที่ฉันอย่างเป็น อักษรสอนให้ฉันคิดอย่างมีวิจารณญาณในการเลือกที่จะเป็นตัวของตัวเอง นี่หรือมิใช่สิ่งที่ทำให้มนุษย์ต่างจากสัตว์อื่น?

สรุป โลกของเด็กอักษร คือ โลกสีเทา เราไม่สามารถแบ่งทุกอย่างเป็นสองกลุ่ม ขาวหรือดำ ดีหรือเลวได้อย่างสิ้นเชิง และโลกแห่งความเป็นจริงก็เป็นเช่นนั้น อักษรสอนให้คิด สอนให้ตั้งคำถาม ถึงแม้จะไม่ได้คำตอบ แต่อย่างน้อยเมื่อเราได้คิดเราเข้าใจโลกและตัวเรามากขึ้น อักษร ๔ ปี คือการฝึกฝนให้คิดให้เป็นนั่นเอง”

 

กลับมาโลกแห่งความเป็นจริงกันบ้าง

ถามว่า เรียนไป ๔ ปีก็แค่คิดได้ เรียนหนักกว่าคนอื่น (รุ่น ๗๙ กำหนดนิสิตอักษรต้องเก็บให้ครบ ๑๕๐หน่วยกิจ ขณะที่คณะอื่นเพียงประมาณ ๑๓๐ หน่วยกิจก็จบแบบสวยๆ) เงินเดือนเริ่มต้นก็น้อย (เท่าที่ฉันรู้มา ๑๕,๐๐๐ ถึง ๒๓,๐๐๐ บาทเอง ถ้าได้ภาษาที่สามอาจได้ถึง ๓๐,๐๐๐ บาทจากนั้นขึ้นอยู่กับความสามารถและความพยายามของบุคคล) จะเรียนไปทำไม? คุ้มหรอ? ถามฉันว่าถ้ามีเครื่องย้อนเวลากลับไปแก้ไขอดีต ฉันจะยังคงเลือกเรียนอักษรหรือไม่? ฉันตอบได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า อักษรเป็นทางเลือกเดียวและทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับฉันค่ะ ก่อนลงมือทำทุกอย่างล้วนต้องคิดก่อน ถ้าคิดไม่เป็นจะทำให้ดีได้อย่างไร? ถ้าไม่เคยคิดจะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่ทำอยู่คือสิ่งที่อยากได้? ความรู้ด้านสาขาวิชาชีพอื่นคุณเรียนได้นอกคณะอักษร นอกรั้วมหาวิทยาลัย ยิ่งสมัยนี้เทคโนโลยีก้าวไกล กูเกิ้ลบอกคุณได้ทุกอย่าง อยากรู้อะไรไม่ต้องเสียเวลาเสียเงินลงทะเบียนนั่งเรียน นอกจากนี้วิชาความรู้ของศาสตร์อื่นอาจโดนความรู้ใหม่แทนที่ตามยุคสมัย สิ่งที่เรียนอาจไม่สามารถใช้งานได้ตลอดชีพหากคุณหยุดพัฒนาตนเอง แต่กระบวนการคิด วิธีคิดต้องใช้เวลาปลูกฝัง สั่งสม หล่อหล่อมและปรับเปลี่ยน ใช้เวลาเรียนอักษร ๔ ปี ได้ทักษะคิดเป็นและคิดได้ตลอดชีวิต จะมีอะไรคุ้มไปกว่าเรียนคณะนี้?

ฉันภูมิใจที่ได้เป็นนิสิตอักษรค่ะ” 

 


  • บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง: นิสิต อักษรศาสตร์ เรียนอะไร จบมาทำอะไร
  • บทความอื่นๆ ในหมวดหมู่ การศึกษา คลิกที่นี่

 

 

Filed Under: Education Tagged With: อักษรศาสตร์

คณะ อักษรศาสตร์ เรียนอะไร จบมาทำอะไร

August 27, 2016 By KaiMook McWilla Malany 2 Comments

 

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เทรนด์เรียนอักษรศาสตร์ ยังมาแรงไม่ขาดสาย เด็กสายศิลป์หลายคนอยากเข้าอักษรฯ แต่กระนั้น ก็ยังไม่รู้เลยว่า อักษรศาสตร์ คืออะไร เรียนอะไร กันแน่ พ่อแม่ผู้ปกครองที่อยากให้ลูกหลานเข้าคณะอักษรฯ หลายคนก็ยังมีความเข้าใจผิดๆ กันอยู่ว่า “อักษรฯ เรียนภาษา” “อยากเก่งภาษาต้องเข้าอักษรฯ”

ในฐานะนิสิตเก่าคณะนี้ อักษรศาสตร์ ไม่ได้ เรียนแค่ภาษา นะคะ เราเรียนอย่างอื่นด้วย อักษรศาสตร์ เป็นสายมนุษยศาสตร์ มีสาขาเอกโทอื่นมากมายที่ไม่เกี่ยวกับการเรียนภาษาเลย ไม่ว่าจะเป็น ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ปรัชญา วรรณคดีเปรียบเทียบ บรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์

ส่วนสาขาเอกหรือโทภาษา ทั้ง ภาษาตะวันตก อย่าง ฝรั่งเศส สเปน เยอรมัน อิตาลี หรือ ภาษาตะวันออก อย่าง จีน ญี่ปุ่น เกาหลี บาลี-สันสกฤต ก็ไม่ได้เรียนแต่ภาษาเท่านั้น แต่เรียนวรรณกรรม วรรณคดี สังคม ประวัติศาสตร์ ปรัชญาและอื่นๆ ของประเทศและภูมิภาคเหล่านั้นด้วย โดยรวมแล้ว อักษรศาสตร์เรียนเพื่อเข้าใจความเป็นมนุษย์ และการอยู่บนโลก เรียนให้เห็นโลก เป็นการเปิดโลกทัศน์และมุมมองให้กว้างขึ้น คิดวิเคราะห์เป็น (หรือที่เรียกว่าคิดมาก 55)  เพราะนี่คือ หลักการหลักๆ ของสายมนุษยศาสตร์

อาจจะฟังดูเข้าใจยากสักหน่อย ว่าที่เรียนคืออะไรกันแน่ คำว่า “การเรียนให้เข้าใจมนุษย์” มันดูจับต้องไม่ได้ ดูล้ำ แลดูลึก เอาไปทำกินไม่ได้ … เข้าใจไป แล้วทำอะไรได้หรือ … หลายคนอาจสงสัย แต่นี่แหละถูกแล้ว อักษรฯ ไม่ใช่สายอาชีพ ความรู้ที่ได้ และเส้นทางในอนาคต คือ เส้นทางแห่งการประยุกต์ วิเคราะห์ จับนู่นจับนี่ที่เรียนมาประสานกันเอง นำเอาความรู้และประสบการณ์ 4 ปี ที่สั่งสมมา รวบรวมเป็นองค์ความรู้เฉพาะตัว กลายเป็นเอกลักษณ์ของใครของมัน

หากจะเรียนไปเพื่อให้จบมามีตำแหน่งหน้าที่การงานที่เป๊ะ รู้เลยว่าไปไหน ทำอะไรต่อ ก็คงไม่ใช่คณะนี้ ไม่ต้องเรียนอักษรศาสตร์ เพราะนั่นคือความเข้าใจผิดๆ ถ้าคิดว่าจะเข้ามาเรียนเพื่อาชีพที่แน่นอน ไม่ต้องเข้ามาหรอกค่ะ เรียนสาขาอื่นดีกว่า (ฟังดูห้วนๆ และไร้ความรู้สึก แต่นี่ คือความจริงล้วนๆ ค่ะ)

เพราะเหตุนี้เองค่ะ ความไม่ตรงสายอาชีพ และเส้นทางอนาคตที่ไม่แน่นอน ทำให้นิสิตอักษรฯ ที่เพิ่งเรียนจบ แทบทุกคน “เคว้ง” จนเป็นที่ร่ำลือกันนักหนาในคณะด้วยกันว่า หากถามว่า “จบมาทำอะไรต่อ” ก็ไม่ต่างกับ “ตายแล้วไปไหน” เพราะเราหลายคนก็ … ไม่รู้เหมือนกัน … ว่าจะไปไหนต่อ หรือ เลือกเส้นทางไหนดี มันคือความมมืดแปดด้าน หันไปไหนก็หาอาชีพที่รองรับแน่นอนไม่เจอ

แ ต่

ไ ม่ ใ ช่ ว่ า ไ ม่ มี  

เพราะ เส้นทางสายอาชีพนิสิตคณะนี้มีมากโข ต่างคนต่างไปหลากที่หลากสาขาให้แปลกแหวกแนว

บุ๊ค (อักษรฯ 79): ล่ามภาษาจีน

“อักษรฯทำให้เราได้คิดและมองเห็นโลกหลายๆใบจากที่เคยเห็น ในขณะเดียวกัน เมื่อเรากลายเป็นส่วนหนึ่งของอักษรฯ เราก็จะถูกมองและคาดหวังในหลายๆมุมด้วยเช่นกัน”

จิรา (อักษรฯ 79): “จบมาก็สวยไปวันๆ อะค่ะ”*

เนื่องจากไม่ใช่สายอาชีพ เหมือนหมอที่จบมาก็เป็นหมอ พยาบาลเป็นพยาบาล กฏหมายก็ทำงานแวดวงกฎหมาย ทนาย อัยการทำงานบริษัทกฎหมาย เราจึงมีเส้นทางในอนาคตมากมาย หากมองในแง่ดี คือ เรามีทางเลือก อยากไปไหนก็ไป ทำงานอะไรก็ทำ เลือกอะไรก็ได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องอยู่บนพื้นฐานของเหตุผลนะ ไม่ใช่ว่า เออ จบมาจะเป็นพยาบาล แบบนี้ก็ไม่ใช่ละ แต่ถ้าชอบจริงๆ สนใจๆ จริงๆ มันก็มีลู่ทางไป อย่างตัวฉันเองตอนนี้ก็เรียนสาขาประยุกต์เกี่ยวกับ สมองกับภาษา เรียกว่า ภาษาศาสตร์คลินิก/ประสาทวิทยา ศึกษาหมดเลยพวกโครงสร้างสมอง สถิติ โรคอัลไซเมอร์ ออทิสติก อเฟเซีย ฯลฯ เพื่อนฉันต่อ ด้านกฎหมาย อสังหาริมทรัพย์ การตลาด ก็มีเยอะแยะ ทำงานบริษัทกฎหมาย ทำงานในแวดวงธุรกิจ ก็มีถมเถ เป็น ครู ล่าม แปลเอกสาร ทำงานธนาคาร ทำงานตามสำนักพิมพ์ เป็นนักข่าวก็ได้ เป็นแอร์ หรือเป็นเลขาฯ ก็ดี เข้ากระทรวง ต่างๆ ก็ยังได้เลยค่ะ เพื่อนที่เรียนต่อ แพทย์ ก็มีเหมือนกัน รุ่นฉันเนี่ยแหละ

อิ่ง (อักษรฯ 79): ป.โท Graduate Institute of Interdisciplinary Legal Studies มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน

“อักษรมิใช่สายวิชาชีพ ไม่สอนคุณเดินสายไฟ คำนวนงบดุล วาดแผนผังอาคาร จะพูดว่าสิ่งที่เรียนไปไม่สามารถใช้ “แบบจับต้องได้” ในชีวิตจริงเลยก็ว่าได้ เราเรียนการใช้ภาษาและวิเคราะห์โครงสร้างภาษา เราเรียนประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ปรัชญาและศิลปะ เราเรียนรู้โดยการ … (อ่านต่อ คลิกที่นี่)”

ความ “เคว้ง” บางครั้งเกิดจากความไม่มั่นใจตัวเองว่าจะทำงานได้หรือไม่ได้ เพราะไม่ได้เรียนเฉพาะทางนั้นๆ มา บางครั้งความ “เคว้ง” ก็เกิดจากหัวหน้า/เพื่อนร่วมงานในบริษัทต่างๆ ที่ยังมีความเข้าใจผิดว่านิสิตคณะนี้รู้แต่เรื่องภาษาจนไม่เห็นความสามารถและทักษะที่แท้จริงของเรา และบางครั้ง ความ “เคว้ง” เกิดจากการมีทางเลือกมากมายที่ทำให้เราที่ยังหาตัวเองไม่เจอ ไม่รู้ว่าชอบอะไร อยากทำอะไร เลือกงานไม่ได้ ไปไม่ถูก

ท้ายสุด ฉันอยากบอกว่า หากเรียนอักษรฯ แล้วจะกลัวว่าจบมาไม่มีอะไรทำ หรือไม่มีงานรองรับ อันนี้ขอยืนยันว่าไม่ต้องกลัวค่ะ คณะนี้สอนอะไรให้เราหลายๆ อย่าง สิ่งสำคัญที่ได้มานอกจากความรู้คือ “ความคิด” คณะนี้สอนให้เรา คิดได้ คิดเป็น วิเคราะห์เป็น มันเป็นทักษะที่จะติดตัวเราตลอดไป เอาไปไหนก็ได้ ประยุกต์ใช้ได้หมด (ฟังดูเหมือนเยินยอคณะสีเทาแห่งนี้ แต่หากได้มาเรียนแล้ว แม้จะเคว้งกับเส้นทางอาชีพแค่ไหน ความคิดที่ติดตัวยังไงก็เป็นอาวุธติดตัวคุณไปจนวันตาย)

อย่ากลัวเลยค่ะ

ถ้าอยากเรียนแล้วก็เข้ามา 

มี ท า ง เ ลื  อ ก แ น่ น อ น

จากใจศิษย์เก่าคนหนึ่ง 🙂

 


*ขำๆ นะคะ แกล้งเพื่อน 😛 

อ่าน บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง คลิกที่นี่

 

Filed Under: Education Tagged With: อักษรศาสตร์

“อักษรฯ สอนให้เข้าใจมนุษย์”

February 26, 2016 By KaiMook McWilla Malany 1 Comment

 

ไม่รู้จะอ่าน และวิเคราะห์วรรณกรรม ไปทำไม?! ตอนเขียน ผู้เขียนหลายคน คงไม่ได้คิดอะไรลึกซึ้งขนาดนั้น เช่น หากในเนื้อเรื่องที่อ่าน มีบทหนึ่ง ที่ตอนนั้นตัวละครหลักกำลังอยากอยู่ในห้องเงียบๆ คนเดียว และห้องของตัวละครหลักมีผ้าม่านสีฟ้า (blue) ผู้อ่านอย่างเราก็คิดไปไกล คิดเองเออเอง ว่า “blue” หรือสีฟ้า ที่มีความหมาย ในภาษาอังกฤษ ในเชิงความเศร้า เหงา ว่าตัวละครเอกนั้นกำลัง เหว่ว้า เหมือนในประโยคที่ว่า “I’m blue.” หรือ “ฉันเศร้า” เป็นการเชื่อมโยงความเปนตัวของตัวเองของตัวละครกับสิ่งรอบข้าง

ภาพจาก iDoi* Marter’

บางครั้ง ตัวละครสามีภรรยา หรือคู่รักทั่วไปทะเลาะกัน คนเรียนอย่างเราก็มาคิดให้ปวดกระบาลว่า

  • คิดว่าอะไรทำให้เกิดเหตุการณ์แบบนั้น
  • ทำไมพวกเขาจึงทะเลาะกัน
  • จุดของความขัดแย้งคืออะไร

หลายครั้งลามไปถึงคำถามว่า

  • ใครถูก-ใครผิด

คำถามสุดท้าย ดูเหมือนอาจโยนความผิดพลาดให้กับอีกฝ่าย แต่การหาความถูก-ผิด ไม่ใช่เพีย งคิดมโนเอาเอง แต่ต้องมีหลักฐานจากตัวบทมายืนยันเสมอ “ฉันว่าผู้ชายถูก” “เพื่อนร่วมห้องว่าผู้หญิงถูก” แล้วเราก็มาถกกันด้วย เหตุผล และหลักฐาน จากการกระทำ และคำพูดของตัวละคร โดยมีอาจารย์และเพื่อนในห้องคอยนำทาง และเปิดทางให้เรา “เห็นและเข้าใจความเห็นของฝ่ายตรงข้าม” 

เมื่อนั้นเอง แม้เราจะยึดมั่นในคำตอบของเรา หรืออาจจะเปลี่ยนความเห็นไปแล้ว สิ่งที่ได้รับคือความคิดเห็นของอีกฝ่าย เข้าใจว่าอีกฝ่ายคิดอย่างไร ความแตกต่างคือจุดยืนของทั้งคู่ ที่มีจุดยืนต่างกัน มีเหตุผลต่างกัน เป็นการเรียนรู้ทางอ้อมที่เราค่อยๆ ซึมซับ

ต่างคนต่างมีเหตุผลและมีหลักฐาน (จากตัวบท) มายืนยัน

ความเห็นส่วนตั วที่นอกเหนือจากบทความจะไม่ได้นำมาพูดถึง เพราะมันคือ “นอกเรื่อง นอกประเด็น”

นี่แหละ คือความเข้าใจมนุษย์ ของการเป็นอักษรศาสตร์ มันคือความเป็นสีเทา โลกนี้ไม่ได้มีเพียงแค่สีขาว-ดำ หรือสุดโต่งข้างใดข้างหนึ่ง ความเป็นกลางยังมีเสมอ 

ใครที่สงสัยว่า เรียนสายมนุษย์-สายสังคมให้ได้อะไร? เข้าใจมนุษย์ไปเพื่ออะไร? เห็นตัวอย่างเล็กๆ ข้างบนนี้แล้วลองคิดวิเคราะห์สักนิดนะคะว่า นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่ง ที่นิสิตคณะนี้เรียนกัน มันคือวิชาเดียวเท่านั้น เป็นเพียงเศษเสี้ยวของเนื้อหาที่เรียน เราฝึกปรือกันแบบนี้ตลอดระยะเวลา 4 ปี ในบริบทสังคม การเมือง เศรษฐกิจ ปรัชญา ประวัติศาสตร์ จริยศาสตร์ วิทยาศาสตร์ มันเป็นการฝึกฝนทางอ้อมที่ตอนเรียนแทบทุกคนก็บ่นไปว่า “จะให้คิดไปทำไมเนี่ย”

ในภาษาอังกฤษ มีสำนวนหนึ่งใช้ว่า “to put yourself in somebody else’s shoes” คือการเอาตัวเราไปแทนผู้อื่น วางตัวเราเองในสภาพคนอื่น หากคนนั้น กำลังเศร้าใจ เราก็ลองคิดว่าหากเราเป็นเค้า เราจะเป็นอย่างไร เราจะอยากถูกปฏิบัติอย่างไร เพื่อที่จะได้รู้ว่าเราไม่ควรทำอย่างนั้นกับเขาหรือเปล่า

ยกตัวอย่างเช่น หากกำลังนอกใจคนรัก คือมีชู้ เราลองคิดสักนิดว่า ถ้าคู่รักของเราไปมีชู้บ้าง เราจะรู้สึกอย่างไร เราจะชอบใจไหม หรือหากคุยโทรศัพท์กับใครอยู่แล้าเราไม่พอใจไปกดตัดสายเค้า มันดีหรือไม่ เราอยากให้ใครมากดตัดสายเราหรือไม่ การเมืองเศรษฐกิจก็เช่นกัน เอาเงินคนอื่นมาไม่คืน หรือคดโกงคนอื่น แล้วถ้ามีคนอื่นมาทำกับเราบ้างล่ะจะพอใจไหม?

“อย่าทำในสิ่งที่เราไม่อยากโดนกระทำต่อ” 

 


  • อ่าน บทความ ประสบการณ์นิสิต คณะอักษรศาสตร์ คลิกที่นี่
  • อ่าน บทความอื่นๆ ในหมวดหมู่การศึกษา คลิกที่นี่

 

Filed Under: Education Tagged With: อักษรศาสตร์

อยากให้นิสิตอักษรฯ อ่าน

February 4, 2016 By KaiMook McWilla Malany 4 Comments

ภาพจาก CHULA: CU Campus

เรียน อักษรฯ ได้ยินเสมอว่าเรียน กว้างมาก กว้างไป ครอบจักรวาล เรียนไปหาอะไรก็ไม่รู้!! เรียนรู้หมดรู้ครบไปเพื่อ!! (ในสาขาสังคมศาสตร์-มนุษยศาสตร์) ในเมื่อเอาไปทำอะไร โดยตรง ก็ไม่ได้ หาที่ทำงาน ก็คงต้องแข่งขันสูงหน่อย เพราะไม่ได้เรียนสายอาชีพ หรือ สาขาเฉพาะ

แต่เชื่อเถอะค่ะ เรียนกว้างๆ น่ะ ดีแล้ว มีอิสระ ความคิดโลดแล่น ไม่โดนบีบ หลุดกรอบได้ดี

หลังจากจบปริญญาตรีอักษรฯ นิสิตหลายคนพะวงกับอนาคตตัวเองที่ดูล่องลอยในสูญญากาศ ฉันก็ล่องลอยบ้าง แต่คิดในแง่บวกว่า ตัวฉันนั้นมี ทางเลือก ให้เลือกมากมาย ที่จะไปต่อได้ … แต่จะไปไหนดีนะ จะ อยู่กับความเป็นอิสระก่อน จะ ทำงาน หรือ จะเรียน เป็นสามทางเลือกของพวกเราชาวอักษรศาสตร์

ฉันเลือกเรียนต่อปริญญาโท ด้านภาษาศาสตร์คลินิก ทันทีที่เรียนจบ (สาขาประยุกต์ ของวิทยาศาสตร์การแพทย์ ประสาทวิทยา จิตวิทยา ภาษาศาสตร์) เน้นเรื่อง “สมอง” ไม่ว่าจะเป็นโรค ที่เกี่ยวกับสมอง อาการ/พฤติกรรมของโรคที่เกี่ยวกับความบกพร่องทางสมอง (ออทิสติก อะเฟเซีย ดิสเล็กเซีย พาร์กินสัน อัลไซเมอร์ และอื่นๆ) เชื่อมโยงกับภาษา

ตลอดระยะเวลาที่เรียน ล้วนหมกมุ่นกับ

  • โครงสร้างสมอง
  • ระบบการทำงานของสมอง
  • สแกนสมอง
  • อ่านฟิล์มเอกซเรย์สมอง
  • ใช้เครื่องสแกนสมอง
  • ศึกษาและดูงานวิจัยการไหลเวียนของเลือดในสมอง
  • คลื่นไฟฟ้าในสมอง

อะไรๆ ก็สมองไปหมด จุดไหนในสมอง เกิดการกระตุ้นตรงไหน เพราะอะไร เวลาคิด พูด อ่านภาษา สมอง มีปฏิกิริยาอะไรยังไง สมองของผู้รู้ และผู้เรียนภาษาที่สอง ที่สาม กับ ภาษาเดียวต่างกันไหม เป็นมะเร็ง/มีเนื้องอกในสมองที่เกิดบริเวณของสมองที่ควบคุมภาษาจะทำอย่างไรได้บ้าง ดูได้ยังไง บลาๆ หันไปทางไหนเจอแต่ภาพสมอง สมอง สมองเต็มไปหมดเลย

มันก็ “แคบ” ไปดีนะคะ ถ้าให้ใช้ภาษาสวยๆ คงต้องบอกว่า มัน “เจาะจง” ดี จนบางเวลารู้สึกว่าอิสระของการเรียนรู้ ทักษะการแถหลุดโลก ที่ได้ใช้จากการเรียนที่ผ่านมาจากตอนเรียนที่คณะอักษรศาสตร์ และการคิดวิเคราะห์อย่างลึกมากมายจนเหมือนว่า คิดเกินกว่าที่ผู้เขียนจริงตั้งใจไว้ (โดยเฉพาะวิเคราะห์หนังสือ/บทความพวกปรัชญา/วรรณคดี) ในช่วงเวลาสี่ปีที่ผ่านมา ได้หายไปอย่างไม่เหลือเลย

ตอนนี้กับสาขาที่เรียนอยู่ จะให้คิดโลดแล่น นอกกรอบ หลายมุม อย่างที่เคยทำมาแต่ก่อน ก็ไม่ได้ ทุกอย่าง ต้องเป็นไปตามข้อจำกัด ของโครงสร้างอวัยวะของมนุษย์ มีสถิติ และหลักฐานในเชิงวิทยาศาสตร์รองรับเสมอ จะคิดว่ามันไม่ดีก็ไม่ใช่ แต่มันเป็นการเรียนที่ “เฉพาะทาง” มากขึ้น มันคือสิ่งที่ เด็กอักษรฯ ขวนขวาย มันคือความเป็น “วิชาชีพ” ที่หลายคนต้องการ

สำหรับบางคน ความไร้ขอบเขตที่อักษรฯ มอบให้ อาจทำให้ดูเคว้งคว้าง เหว่ว้าบนโลกที่กว้างใหญ่อยู่แล้ว แต่ในฐานะศิษย์เก่าในคณะคนหนึ่ง ที่ตอนนี้ได้มาอยู่ในแวดวงที่เฉพาะทางมากขึ้น อยากให้นิสิตปัจจุบันและนิสิตอักษรฯ ในอนาคต “มีความสุขและสนุก” กับการเรียนตอนนี้ เพราะ เมื่อหมดโอกาสนั้นแล้ว อิสระที่เคยมีอาจหายไปก็ได้นะคะ

บางทีอาจรู้สึก เหมือนโดนกักขัง ในกรอบเล็กๆ ถูกพันธนาการไว้ จนบางครั้งอยากหลบหนีออกมา

 


  • อ่าน บทความ ประสบการณ์นิสิตอักษรศาสตร์ คลิกที่นี่
  • อ่าน บทความอื่นๆ ด้านการศึกษา คลิกที่นี่

 

Filed Under: Education Tagged With: อักษรศาสตร์

KAIMOOK MALANY

ฉันโตมากับการไม่อยู่เป็นหลักแหล่ง ฉันสู้ ดิ้นรน ปรับตัว เป็นฉันในวันนี้ ที่ยิ้มเก่ง ช่างพูด กล้าถาม ชื่นชอบการพบปะผู้คน รักการเรียนรู้ หลงรักการผจญภัย และอยู่อย่างสันโดษได้ นอกจากจะเพราะครอบครัวที่รักและคอยให้การสนับสนุนฉันแล้ว ส่วนหนึ่งยังเป็นเพราะตัวฉันที่ไม่ชอบอยู่นิ่ง (wander) สิ่งที่ฉันได้เจอ ศึกษาค้นคว้าและเรียนรู้เป็นความน่าหลงใหล (wonderful) ที่ฉันอยากจะแลกเปลี่ยนแบ่งปัน ทุกอย่างที่เขียนขึ้นกลั่นออกมาจากใจฉันเองค่ะ (minds)

Join the Social Conversation

  • Facebook
  • Instagram
  • Pinterest

Copyright © 2015-2019 · Squiddy Productions · This site powered on interstellar cognitions · Privacy