wanderfulminds

When you wonder, your mind wanders, and you realize how wonderful everything is

  • Home
  • Stories & Guides
  • Facts & Tips
  • Brains & Minds
  • Languages
  • Education
  • Hire me!
  • Contact
You are here: Home / Archives for ทุนรัฐบาลเกาหลี

แนะนำทุนรัฐบาลเกาหลี KGSP ระดับปริญญาโท-เอก (5)

September 28, 2016 By KaiMook McWilla Malany Leave a Comment

แนะนำทุนรัฐบาลเกาหลี KGSP ระดับปริญญาโท-เอก อีกรุ่น ปี 2015 ค่ะ จาก “ลิตเติ้ล” เพื่อนสาวอีกคนของฉัน รู้จักกันตอนไปสอบสัมภาษณ์ เติ้ลได้รับทุนนี้ด้วยการสมัครผ่านสถานทูต 

สมัครผ่านทางมหาวิทยาลัย (และความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับทุน) คลิกอ่าน 4 บทความแรก ได้ที่ลิงค์ข้างล่าง

  • แนะนำทุนรัฐบาลเกาหลี KGSP ระดับปริญญาโท-เอก (1) โดย แอ๊ม
  • แนะนำทุนรัฐบาลเกาหลี KGSP ระดับปริญญาโท-เอก (2) โดย แอ๊ม
  • แนะนำทุนรัฐบาลเกาหลี KGSP ระดับปริญญาโท-เอก (3) โดย แอ๊ม
  • แนะนำทุนรัฐบาลเกาหลี KGSP ระดับปริญญาโท-เอก (4) โดย ป็อป

มาดูกันค่ะว่า สาวหมวย แก่งนี้ จะแบ่งปันประสบการณ์อะไรให้ชาว wanderfulminds ได้อ่านกันบ้าง 🙂

แคลร์ หรือลิตเติ้ล: ทุนรัฐบาลเกาหลีปี 2015

“แนะนำตัว

อันยองฮาเซโย เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆทุกคน เราชื่อแคลร์ หรือลิตเติ้ลนะคะ นักเรียนทุนรัฐบาลเกาหลี (KGSP 2015) จบปริญญาตรีจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตอนนี้กำลังศึกษาระดับปริญญาโทอยู่ที่ Sungkwunkwan University ที่โซล เอก Political Science ค่ะ หลายคนคงทราบรายละเอียดทุนเบื้องต้นกันไปแล้ว แคลร์ขอแชร์ประสบการณ์และเทคนิคส่วนตัวเพื่อเป็นแนวทางในการสมัครนะคะ

  • รายละเอียดทุนเบื้องต้น แนะนำทุนรัฐบาลเกาหลี KGSP ระดับปริญญาโท-เอก

เทคนิคการเขียน

เขียนให้คณะกรรมสนใจและปฏิเสธเราไม่ได้ 5555 ฟังดูมั่นใจ๊ มั่นใจ แต่ความมั่นเนี่ยแหละค่ะ จะทำให้เราเขียนในสิ่งที่ตอบโจทย์เขาได้ เนื่องจากทุนนี้เป็นทุนรัฐบาลเกาหลี เราต้องทำความเข้าใจว่าจุดประสงค์หลักที่เขาให้ทุนกับนักเรียนต่างชาติทั่วโลก คือ การเผยแพร่ความเป็นประเทศเกาหลีในหลายมิติ อาทิ ศิลปะดนตรี สังคมและวัฒนธรรม อีกทั้งนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ

เราจึงควรเขียน Self Introduction ถึงจุดประสงค์ของเราให้เชื่อมโยงกับเขาด้วย เช่น แคลร์เรียนรัฐศาสตร์ เรื่องความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยและเกาหลีเป็นสิ่งแรกที่เขียนเลยค่ะ เน้นความประทับใจในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเอกที่เราจะเรียนเป็นพิเศษ จึงเป็นแรงบันดาลใจให้มาเรียนที่เกาหลี เขียนให้เขารู้ว่าเรามีความรู้เกี่ยวกับประเทศเกาหลีระดับนึงและเราจะไปเรียนที่ประเทศเขาเพื่อต้องการต่อยอดด้วยความมุ่งมั่น ที่สำคัญคือ เขียนให้กระชับ ตรงประเด็น เน้นเนื้อๆไม่เอาน้ำๆ

ส่วน Study plan นอกจากเป้าหมายที่จะศึกษาแล้ว เขียนให้เห็นถึงความกระตือรือร้นและเป็นขั้นบันได คือกำหนดไปเลยว่าปีแรกจะทำอะไร เชื่อมโยงไปถึงปีสุดท้าย หัวข้อธีสีท (thesis) หรือโปรเจค (project) จะทำเกี่ยวกับอะไร อย่างไรให้ชัดเจนในทางปฏิบัติ

ส่วน Future plan ในส่วนนี้นอกจากจะเขียนสิ่งที่จะทำในอนาคตแล้ว ควรเขียนอะไรที่เป็นการทำประโยชน์ให้กับประเทศเกาหลีด้วย อย่างน้อยเป็นการเผยแพร่ให้ประเทศเขาซึ่งถือเป็นการตอบโจทย์อย่างแท้จริง สุดท้ายคือ ผลงานและประสบการณ์ต่างๆ ที่เคยทำสำคัญกว่าเกรดเฉลี่ย เพราะประเด็นนี้จะทำให้เราโดดเด่นและแตกต่างจากคนอื่น เพราะเกรดเฉลี่ยเป็นเกณฑ์ที่ตัดสินการเรียนในห้อง แต่พื้นหลังอื่นๆจะเป็นตัวตัดสินความสามารถที่แท้จริงของเราค่ะ แคลร์เป็นคนนึงที่เกรดเฉลี่ยไม่ได้สูงมากมาย แต่ทำกิจกรรมเยอะมากกก ทั้งวิชาการและนันทการ ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ เช่น แคลร์เคยเป็นนักเรียนผู้ช่วยในการประชุมระหว่างประเทศ UNESCAP, นักร้องประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, อาสาสมัครค่ายเพื่อชุมชนในชนบท และนักเรียนแลกเปลี่ยนตอนมัธยมปลายที่ประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น

  • อ่านเพิ่มเติมรายละเอียดทุน แนะนำทุนรัฐบาลเกาหลี KGSP ระดับปริญญาโท-เอก

เทคนิคสัมภาษณ์

ที่สถาทูตสัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษนะคะ แต่ถ้าใครพูดเกาหลีได้ คณะกรรมการอาจให้สัมภาษณ์เป็นเกาหลีได้ค่ะ สิ่งที่ต้องทำสิ่งแรกคือ ตั้งสติค่ะ 55555 สติมาปัญญาเกิด เราจะสามารถตอบคำถามได้ พยายามตอบให้ตรงประเด็นที่สุด อย่าเวิ่นเว้อ ตอบให้ดูมีหลักการและที่สำคัญคือต้องเป็นตัวของตัวเอง เพราะจุดนี้จะทำให้คำตอบของเราไม่เหมือนใคร ส่วนใหญ่ก็เป็นคำถามจิตวิทยาทั่วไป ไม่ยากเท่าไหร่ แต่ควรเตรียมความรู้รอบตัวเกี่ยวกับเกาหลีไว้หน่อยก็ดีค่ะ อ่านข่าวหรือเหตุการณ์ต่างๆ ไว้บ้าง เพราะตอนที่แคลร์สัมภาษณ์โดนคำถามเกี่ยวกับข้อพิพาทเรื่องเกาะระหว่างเกาหลีกับญี่ปุ่น แต่ถ้าเป็นสายวิทย์ก็อัพเดตเทรนนวัตกรรมในขณะนั้น อีกทั้งควรจะ เตรียมตัวกับคำถามสัมภาษณ์พื้นฐานทั่วไป เช่น จุดอ่อนจุดแข็งของตัวเอง นั่งลิสเลยค่ะว่าเขาน่าจะถามอะไรแล้วฝึกพูดหน้ากระจกหรือหาคนมานั่งฟังเลยจะได้ช่วยกันคอมเมนต์คำตอบของเรา เวลาจริงมันตื่นเต้นจะได้ไม่ลนมากนัก สุดท้ายอย่าลืมยิ้มเยอะๆด้วยนะคะ 🙂

  • ตั้งสติ
  • ตอบให้ตรงประเด็น
  • เป็นตัวของตัวเอง
  • ติดตามข่าวสาร
  • รู้จุดอ่อนจุดแข็งตัวเอง
  • ฝึกซ้อมมาอย่างดี
  • ยิ้มเยอะๆ ค่ะ 🙂

คำแนะนำอื่นๆ

ในฐานะที่เป็นรุ่นพี่ขอบอกเลยว่าสำหรับคนที่ไม่มีพื้นฐานภาษาเกาหลีมาก่อน การเรียนภาษาภายในหนึ่งปีแล้วต้องสอบให้ผ่านระดับตามที่ทุนกำหนดก็ว่ายากแล้ว แต่การที่ต้องเรียนปริญญาโทเป็นภาษาเกาหลียากกว่าหลายเท่า เนื่องจากระดับภาษาที่อยู่ในข้อสอบวัดระดับกับภาษาที่ใช้จริงในมหาวิทยาลัยนั้นต่างกันมาก ยิ่งสายสังคมนั้นต้องใช้ภาษามากกว่าสายวิทย์ เพราะต้องอ่านบทความและหนังสือเป็นจำนวนมาก ศัพท์วิชาการทั้งนั้น อีกทั้งยังต้องเขียนงานส่งอีก แคลร์ไม่มีพื้นฐานภาษาเกาหลีมาก่อนเลย ถึงแม้จะผ่านระดับสี่ภายในปีแรก แต่แทบไม่ได้ช่วยให้การเรียนจริงในมหาวิทยาลัยง่ายขึ้นเลย จึงขอแนะนำว่าถ้าเพื่อนๆคนไหนไม่มีพื้นฐานภาษาเกาหลี ควรเรียนภาษาเตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้า เพราะการเรียนรู้ภาษาที่ดีและได้ผลนั้น คือการเรียนอย่างเข้าใจไม่ใช่ท่องจำ สุดท้ายก็ขอให้ทุกคนโชคดีนะค่าาาา ใครอยากปูพื้นภาษาเกาหลีหรือมีคำถามเพิ่มเติม FB : Claire thareechat”

หรือทิ้งคอมเมนต์ไว้ใต้บทความนี้ได้เลยค่ะ 😀

Filed Under: Education Tagged With: ทุนรัฐบาลเกาหลี

แนะนำทุนรัฐบาลเกาหลี KGSP ระดับปริญญาโท-เอก (4): โดยรุ่นพี่สายวิทย์

September 23, 2016 By KaiMook McWilla Malany Leave a Comment

 

หลังจากประสบการณ์สมัครทุนรัฐบาลเกาหลี จาก เพื่อนสาวแอ๊ม (คลิกตอนแรกที่นี่) คราวนี้มากับอีกหนึ่งคน “ป็อป” ค่ะ ป็อป ผู้นอกจากจะป็อปสมชื่อ ยังมีความสามารถด้านวิชาการที่ป็อปไม่แพ้กัน ป็อปได้ทุนไปเรียนที่ประเทศเกาหลีรุ่นเดียวกันกับ แอ็ม ปี พ.ศ. 2016 สายวิทยาศาสตร์ จะมาบอกเล่าอะไรบ้าง อ่านกันเล้ย! –>

 

ป็อป: ทุนรัฐบาลเกาหลีปี 2016

“สวัสดีครับทุกคน เราชื่อ ป๊อบ นะ ได้รับการชักชวนให้มาร่วมแชร์ประสบการณ์เกี่ยวกับทุนการศึกษาของรัฐบาลเกาหลี แต่จะมาพูดถึงในส่วนของฝั่งสายวิทยาศาสตร์กันบ้าง ซึ่งเอาจริงๆแล้วทั้งขั้นตอนการเตรียมใบสมัคร หรือกระบวนการสมัครนั้นเหมือนกับที่ แอ๊ม (อ่านประสบการณืตอนแรกของแอ๊ม คลิกที่นี่) ได้เขียนอธิบายไว้และละเอียดเป็นอย่างมาก (เชื่อเถอะว่าละเอียดชนิดที่ว่าอีกนิดนึงก็เหมือนมานั่งสมัครด้วยกันแล้ว) แต่ก็มีความแตกต่างๆเล็กน้อยที่เราอยากเล่าให้ทุกคนฟัง เผื่อจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย

แต่ก่อนอื่นขอแนะนำตัวแบบสั้นๆหน่อยดีกว่า อีกทีละกันนะเราชื่อ “ป๊อบ” เป็นหนึ่งในนักเรียนทุนจากประเทศไทยที่ได้รับทุนการศึกษาจากรัฐบาลเกาหลีใต้ ปี2016 นี้ ซึ่งโดนสุ่มให้มาเรียนภาษาที่ Sunmoon university (อ่านว่า ซอนมุนเด้อ) อยู่เมืองชอนอัน ไม่ใกล้และไม่ไกลจากโซลเท่าไร และพอจบคอร์สภาษาที่นี่เราก็จะไปเรียนต่อปริญญาโทในสาขา Smart food and Drug ที่ Inje University อยู่เมืองกิมแฮซึ่งเป็นเมืองลูกของปูซานนั่นเอง ใครนั่งเครื่องมาลงปูซานก็แวะมาหาเราได้อยู่ใกล้ๆสนามบินสุดๆ เอาหล่ะก่อนจะออกทะเลมาเข้าเรื่องกันดีกว่าก็คือ จะขอพูดในสิ่งที่มันแตกต่างกันไประหว่างสายศิลป์และสายวิทย์ละกันเนอะ

ข้อแรกเลย อย่างที่น่าจะรู้กันคร่าวๆบ้างแล้วว่า การสมัครทุนนี้สามารถสมัครได้ 2 ช่องทาง คือ สายสถานทูต กับ สายมหาวิทยาลัยโดยตรง ซึ่งโควตาของปีนี้ให้ทางสายมหาวิทยาลัยคือ 9 คน ซึ่งในจำนวน 9 คนนี้ แบ่งเป็นเงื่อนไขพิเศษ 2 คน สำหรับผู้สมัครที่เลือกเรียนในสาขา Engineering และ Life Science โดยมหาวิทยาลัยที่เลือกเรียนต้องอยู่ในรายการของมหาวิทยาลัยที่เป็น Non-region ด้วยนะ ซึ่งมหาวิทยาลัยและสาขาที่เราเลือกเรียนนั้นอยู่ตามในลิสท์นี้ทั้งหมด แต่ก็ไม่สามารถตอบได้ว่าตัวเองเป็นคนที่อยู่ในกลุ่มเงื่อนไขนั้นไหม เพราะตอนประกาศผลออกมาเขาก็ไม่ได้แยกประเภทใดๆ แต่คิดว่าน่าจะเป็นทริคเล็กที่เพิ่มโอกาสในการได้ทุนไม่มากก็น้อย จริงๆการเรียนต่างจังหวัดก็ดีนะจะได้ไม่ขยันเที่ยว (เป็นงั้นไปอีก เอาเข้าจริงแล้วมันคือการปลอบใจตัวเอง 5555)

หมายเหตุ: แต่เราไม่ได้ชี้ทางให้ทุกคนเลือกมหาวิทยาลัยต่างจังหวัดแต่อย่างใดนะ เราแค่แนะนำซึ่งยังไงเวลาก่อนจะเลือกสมัครมหาวิทยาลัยใดๆ ก็ควรที่จะชั่งน้ำหนักปัจจัยต่างๆดูก่อน ค้นหาข้อมูลดูก่อนว่ามันเป็นอย่างไร และที่สำคัญมากถึงมากที่สุดก็คือ ควรติดต่อกับอาจารย์ทางฝั่งเกาหลีในมหาวิทยาลัยที่เราสนใจดูก่อน ว่าเขายินดีที่จะต้อนรับเราไหมและเราโอเคกับเขาไหม ซึ่งก็ประเมินกันคร่าวๆผ่านตัวอักษรที่คุยกันในอีเมล์นี่แหละ เพราะการไปเรียนต่อป.โท สิ่งที่สำคัญสุดๆอีกอย่างหนึ่งที่เราคิดคือ อาจารย์ที่ปรึกษา ถ้าเรากับที่ปรึกษาเข้ากันได้ คุยกันรู้เรื่อง ความคิดเห็นไปในทิศทางที่คล้ายๆกัน เราว่าการเรียนให้จบมันจะเรียบง่ายขึ้นเป็นอย่างมากเลย ซึ่งส่วนตัวที่เลือกเรียนที่ Inje University เพราะเมื่อสองปีก่อนเราเคยมาเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่นี่ และปีที่แล้วก็ได้มาฝึกงานที่นี่ด้วยเหมือนกัน จึงรู้สึกผูกพันและก็มั่นใจว่าถ้าเลือกเรียนที่นี่ยังไงก็ราบรื่น มีความสุขแน่ๆ (หวังว่าจะเป็นอย่างนั้นแหละเนอะทุกคน แหะๆ)

  • สายวิทย์กับสายศิลป์ต่างกันอย่างไร?

มาที่ ข้อต่อไปที่เห็นว่าแตกต่างกัน (อาจจะดูต่างกันไม่มากแต่ก็แอบต่างอยู่นะ) คือ ในเรื่องของเงินทุนในการสนับสนุนในการตีพิมพ์งานวิจัย ก็คือในส่วนของสาย Liberal art and Social science จะได้ 500,000 วอน ส่วนในสาย Engineering, Science and Technology จะได้ 800,000 วอน ซึ่งรายละเอียดยังไม่ทราบมากนัก แต่ความแตกต่างก็น่าจะประมาณนี้

ป็อป: ทุนรัฐบาลเกาหลีปี 2016

มาถึงเรื่องของคำแนะนำสำหรับการสมัครทุนนี้ โดยทุนรัฐบาลเกาหลีใต้นี้ หัวใจสำคัญๆเลย คือ

  • Statement of purpose มันเป็นอะไรที่สำคัญมากจริงๆทุกคนและท้าทายมากด้วยที่จะอธิบายข้อความลงไปใน 1 หน้ากระดาษ A4 แล้วทำให้กรรมการที่ไม่เคยรู้จักเรามาก่อนได้รู้จักตัวตนของเรา และสนใจเรา ซึ่งที่อยากจะแนะนำคือก่อนที่จะเริ่มเขียนลองลิสต์รายการดูก่อนก็ได้ว่าสิ่งใดที่เราอยากบอกเขา และมาจัดอันดับดูว่าข้อไหนที่จะทำให้กรรมการได้รู้จักเราและจะสนใจเรามากที่สุด และก็ใส่ความเป็นตัวเองลงไปอย่าไปเลียนแบบคนอื่นเลยเชื่อเรา ถ้าเป็นไปได้แอบเขียนหยอดในสิ่งที่มันดูเกี่ยวข้องกับประเทศเกาหลีและการเรียนของเราดุ เราคิดว่ามันก็น่าจะทำให้กรรมการสนใจเราไม่มากก็น้อยนะ อย่างของเราเรียนสายอาหารและโภชนาการ เรามีก็แอบหยอดไปประมาณว่า เราเคยดูซีรี่ย์เรื่องแดจังกึม ซึ่งในเรื่องแดจังกึมทำอาหารก็เก่งและใช้อาหารช่วยเยียวยาผู้คนที่เจ็บป่วยด้วย ซึ่งมันตรงกับสาขาที่เราเรียนพอดีแถมได้อวยเขาไปด้วยไรงี้
  • Study plan ในส่วนของ Study plan เราไม่ได้แค่เขียนแผนการเรียนหรือหัวข้องานวิจัยที่สนใจอย่างเดียวแต่เราเขียนถึงการที่เราจะพัฒนาตัวเองในด้านภาษาเกาหลียังไง และก็บอกว่าจะทำกิจกรรมเพื่อพัฒนาสังคมและเผยแพร่ความเป็นไทยให้คนเกาหลีได้รับรู้ด้วย ซึ่งข้อนี้ใครจะแอบเอาไอเดียไปต่อยอดก็ไม่ว่ากันน้า
  • Future plan ก็อารมณ์คล้าย study plan นี่แหละ แต่หลักสำคัญเลยคือเป็นตัวของตัวเองนะอย่าลืม และที่สำคัญมากๆอีกควรเอาให้เพื่อน อาจารย์ หรือคนรู้จักอ่านดูว่าเขาเข้าใจไหมในสิ่งที่เราเขียนลงไป อย่างของเราได้พี่ที่สนิทกันช่วยตรวจทานและแนะนำแก้ไขให้เลยออกมาเป็นรูปร่างที่ดีขึ้น
  • เอกสารอื่นๆ เช่นพวกเอกสารทางการศึกษา และเอกสารในการยืนยันสัญชาติ ก็ไม่ควรที่จะละเลยนะ เพราะเอาจริงๆแล้วขั้นตอนตรงนี้ก็มีความยุ่งยากพอควร ต้องมาแปลเอกสารเป็นภาษาอังกฤษและให้ทางสถานทูตรับรองอีก ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้เตรียมตัวไว้แต่เนิ่นๆเลยดีกว่า

ข้อแนะนำเพิ่มเติม สำหรับคนที่อ่านถึงตรงนี้แล้วปีหน้า และได้เป็นหนึ่งในผู้ที่ผ่านการคัดเลือกรอบแรก สิ่งที่ต้องไปทำคือการตรวจร่างกายซึ่งมีความเฉพาะและตรวจเยอะมากหลายสิ่งอย่าง สิ่งที่เราจะแนะนำคือ ไปตรวจโรงพยาบาลที่ผ่านการรับรองจากสถาทูตเป็นอันดีที่สุด เพราะเมื่อผ่านการคัดเลือกรอบสองแล้ว ตอนไปยื่นขอวีซ่าจะมีการเรียกขอผลตรวจร่างกายเรื่องโรควัณโรคอยู่ ซึ่งถ้ารอบแรกไปตรวจโรงพยาบาลที่สถานทูตไม่รับรอง ก็จะต้องไปทำการตรวจอีกรอบน้า (แบบพี่ๆเด็กทุนรอบเดียวกันนี่แหละ 55555 วุ่นวายกันหลายคนเลย ) อย่างของเราไปตรวจที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ก็คือเรียบร้อยดีไม่มีปัญหา และบริการดีด้วย ไว้ด้วยแหละ

สุดท้ายก็อยากจะขอบคุณทุกคนที่อ่านจนจบ ขอบคุณเจ้าของกระทู้มากนะครับที่ให้โอกาสได้มาแชร์ประสบการณ์นี้ ตามปณิธานที่เราเคยตั้งใจไว้ว่าถ้าเราได้ทุนเราก็จะแชร์ประสบการณ์ให้คนที่สนใจรุ่นต่อๆไปมีแนวทาง และหวังว่าจะได้เจอกันสำหรับคนที่สนใจทุนรัฐบาลเกาหลีใต้ และมาเป็นครอบครัว Thai KGSP กันนะ”

 


  • อ่านบทความอื่นๆ เกี่ยวกับ การศึกษาและข้อมูลทุน คลิกที่นี่

 

Filed Under: Education Tagged With: ทุน, ทุนรัฐบาลเกาหลี, นักเรียนทุน

แนะนำทุนรัฐบาลเกาหลี KGSP ระดับปริญญาโท-เอก (3)

September 11, 2016 By KaiMook McWilla Malany 10 Comments

แนะนำทุนรัฐบาลเกาหลี KGSP ระดับปริญญาโท-เอก

  • แนะนำทุน วิธีการสมัครทุน (ตอนที่ 1: คลิกที่นี่)
  • การขอเอกสาร/รับรองเอกสาร, Letter of Introduction, Statement of Purpose และ ส่วนอื่นๆ ในเอกสารประกอบการสมัคร (ตอนที่ 2: คลิกที่นี่)

ในตอนนี้ บทความที่เรื่อง หัวข้อ “แนะนำทุนรัฐบาลเกาหลี KGSP ระดับปริญญาโท-เอก” ครอบคลุมเรื่อง

  • Recommendation Letter
  • เคล็ดลับการเขียนใบสมัคร
  • การสอบสัมภาษณ์

 

แอ๊ม: ทุนรัฐบาลเกาหลีปี 2016

Recommendation Letter

เอกสารนี้เป็นอีกอย่างที่สำคัญไม่แพ้กัน การเลือกหาอาจารย์ที่เหมาะสมจะเขียนจดหมายแนะนำตัวให้เราเป็นอะไรที่ยากและต้องคิดเยอะมาก ในประกาศขอจดหมาย 1 ฉบับ แต่เราแอบแนบไปสองฉบับ ฉบับนึงจากอาจารย์ในเมเจอร์ตัวเอง อีกฉบับจากอาจารย์เกาหลี เพราะเราต้องการให้เขาเห็นว่าเรามีความสนใจที่กว้างนะ สนใจทั้งเกาหลีและเมเจอร์ตัวเองจริงๆ แนะนำว่า เต็มที่จะแนบได้คือ 2 ฉบับนะคะ เพราะถ้าสามจะเยอะเกินไป และอาจจะโดนครหาได้ว่าทำผิดกฎ (แฮ่ แค่นี้ก็ผิดกฎแล้วเน๊อะ)

ทริค

เราจะสรุปทริคเป็นข้อๆ แบบสั้นๆ เร็วๆ สำหรับเอกสารให้ก่อนนะคะ

  1. พิมพ์ใบสมัคร ห้ามเขียน เพราะยังไงตัวพิมพ์ก็อ่านง่ายกว่าลายมือเราแน่ๆ
  2. ถ้าทำได้ แนบเรซูเม่และพอร์ทโฟลิโอแบบย่อๆ ของตัวเองไปให้เขาด้วย เราแนบแทบทุกอย่างที่เกี่ยวกับเมเจอร์ตัวเองและเกาหลีไปเผื่อ ยอมเสียตังค์ค่าแปลใบเกียรติบัตรไปอีกหนึ่งใบ เพื่อให้เขารู้ว่าเรามีผลงานอะไรบ้าง
  3. ถ้าเป็นกิจกรรมที่ไม่มีเกียรติบัตร ให้แนบรูปและเขียนคำบรรยายไปแทนได้ค่ะ
  4. จัดเรียงลำดับเอกสารให้เรียบร้อย หนีบคลิปไปด้วยให้เป็นระเบียบ ทำให้อ่านง่าย สะอาด เรียบร้อยที่สุด ให้รู้สึกได้ว่าเราใส่ใจนะ
  5. อย่าลืมเขียนเลขและชื่อเอกสารกำกับหัวมุมตามประกาศให้เรียบร้อยด้วย
  6. สำหรับคนที่ส่งเอกสารทางไปรษณีย์ ต้องส่งลงทะเบียนนะคะอย่างน้อย เพราะเราจำเป็นต้องติดตามเอกสารของเราได้ และแน่ใจว่าจะไม่หาย พยายามติดตามสถานะให้ดีและอีเมลยืนยันกับปลายทาง เมื่อสถานะปรากฏว่าได้รับเอกสารเรียบร้อยแล้วด้วยค่ะ

จบตรงนี้ สามารถนั่งรอลุ้นไปสัมภาษณ์กันต่อได้เลย

ทริคสำหรับช่วงสอบสัมภาษณ์

ส่วนของการสอบสัมภาษณ์ เราไม่มีประสบการณ์สำหรับช่องทางสถานทูตจริงๆ ถ้ายังไงต้องขอโทษด้วยนะคะที่จะแนะนำได้ละเอียดจริงๆ จะเป็นช่องทางมหาวิทยาลัยมากกว่า เมื่อเรารอทางมหาวิทยาลัยยืนยันการสอบสัมภาษณ์ ก็ได้เวลาเตรียมตัวสอบสัมภาษณ์กัน

ส่วนใหญ่มหาวิทยาลัยจะส่งอีเมลมายืนยันว่าเราผ่านการพิจารณา ได้สอบสัมภ
าษณ์ช่วงก่อนหน้าจะสัมภาษณ์ประมาณ 2 – 3 วัน เหมือนพอมีเวลาให้เราเตรียมตัว เตรียมใจและตื่นเต้นได้นิดนึง ส่วนใหญ่จะบอกมาด้วยว่าจะสัมภาษณ์เป็นเกาหลีหรืออังกฤษ เราได้อีเมลตอนเราอยู่บนรถไฟใต้ดิน กลับบ้านปุ๊บนี่รีบเปิดคอมฯ มาเขียนสคริปก่อน ฮ่าๆๆ เป็นคนต้องมีสคริปไว้ให้อุ่นใจ วิธีการสัมภาษณ์ของมหาวิทยาลัยจะมีฮิตๆ อยู่ 2 แบบ คือ โทรเข้าโทรศัพท์ หรือสไกป์ค่ะ ของเราไม่รู้โชคดีหรือโชคร้าย แต่เราได้สไกป์ ทำให้รู้ว่า ดูสคริปที่เขียนไว้ไม่ได้นะ

ถ้าทำได้ เราแนะนำให้ซ้อมสัมภาษณ์กับใครซักคน พอดีเรามีเพื่อนที่ว่างอยู่พอดี เลยมาช่วยเป็นคู่ซ้อมให้ประมาณสามสี่รอบ นั่งเก็งคำถามที่คิดว่าน่าจะถูกถาม ตั้งแต่ถามทั่วไป เป็นใคร ชื่ออะไร เรื่องการปรับตัวจนถึงหัวข้อวิจัย ซ้อมครบแล้วเลยมั่นใจขึ้น พร้อมเจอของจริง

ในวันสัมภาษณ์จริงๆ นี่เราแทบจะปิดบ้านเลย บอกทุกคนว่าขออยู่ในห้องตัวเอง ไม่ให้ใครมาเรียกจนกว่าจะออกไปเอง นอนเร็ว ตื่นเช้า อาบน้ำ กินข้าว แต่งตัวใส่ชุดนิสิตเรียบร้อย นั่งรอ (ตอนนั้นสัมภาษณ์ตอนเช้าค่ะ ทับเวลาเรียนด้วย เราเลยขออาจารย์ที่คณะว่าจะเข้าสาย) มีการเทสต์เสียงก่อนนิดหน่อย จากนั้นก็ถึงคิวเราสัมภาษณ์ ตอนโดนสัมภาษณ์คือ รู้สึกว่าทุกอย่างผ่านไปเร็วมาก สคริปที่เขียนไว้ไม่ได้พูดตามเลย เพราะมีเซอร์ไพร์สที่อาจารย์ที่สัมภาษณ์เรา ดันสัมภาษณ์เราเป็นภาษาเกาหลี ตกใจแทบสิ้นสติ แต่ก็ค่อยๆ ถูๆ ไถๆ ไปเท่าที่สกิลภาษาเกาหลีขั้นต้นของตัวเองจะอำนวย เราพูดประโยคแรกเป็นเกาหลี แล้วค่อยอธิบายรายละเอียดเป็นภาษาอังกฤษ ทำให้เขารู้สึกว่าเราพยายามที่สุดแล้วไปก่อน อีกอย่างคือ ร่าเริงแจ่มใสและเป็นตัวของตัวเอง ค่อยๆพูด พูดให้ชัดเจน ไม่ต้องคิดมากว่าเราต้องรัวเร็วใส่กรรมการ

หลังจากนั้น มหาวิทยาลัยจะส่งอีเมลมาหาเราว่า เราผ่านรอบสัมภาษณ์และมหาวิทยาลัยส่งชื่อเราไปเป็นตัวแทนมหาวิทยาลัยให้รัฐบาลเลือกต่อไปในรอบสอง ถ้าได้รับอีเมลแล้ว ที่เหลือที่ทำได้คือ สวดมนต์และเตรียมใจเผื่ออย่างเดียวค่ะ ฮ่าๆๆ เพราะรอบสองของรัฐบาล คัดเลือกจากเอกสารอย่างเดียว ไม่มีการเรียกสัมภาษณ์ รู้ผลอีกทีคือตอนผลออกเลย ถ้าผ่านรอบสอง คอนเฟิร์มได้เยอะแล้วว่ามีลุ้นได้ทุนแน่นอนค่ะ (สำหรับช่องทางมหาวิทยาลัย ส่วนของช่องสถานทูต ต้องไปเจอกับการสัมภาษณ์ของแต่ละมหาวิทยาลัยอีกทีเน๊อะ)

เป็นกำลังใจให้ทุกคนนะคะ 😀

เล่าหมดเปลือกมากแล้ว ไม่เคยพิมพ์เยอะและละเอียดขนาดนี้ ฮ่าๆๆ ยังไงเราหวังว่า ประสบการณ์ของเราจะเป็นประโยชน์กับคนอื่นที่แว่บมาอ่านแล้วสนใจบ้างไม่มากก็น้อยนะคะ เราเชื่อว่าเวลาเราอยากได้อะไร เราต้องลงทุนด้วยอะไรบางอย่างเสมอ ไม่ว่าจะแรงกายหรือแรงใจ มันจะเหนื่อยมากและท้อมากระหว่างที่ทำ รู้สึกไม่มั่นคงด้วยว่าทำไปแล้วจะได้ ซึ่งก็จริง เพราะคนที่ได้ทุนไม่ใช่คนส่วนใหญ่ แต่เป็นคนส่วนน้อย เราเองเคยสมัครทุนนี้รอบปริญญาตรีแล้วไม่ได้มาก่อนเหมือนกัน ตอนนั้นก็เสียใจมาก แต่สุดท้ายก็เอาใบสมัครตัวเองมาลองดูใหม่ เราเลยมาพิจารณาจุดอ่อนตัวเองได้ เอามาแก้แล้วเขียนใหม่ รู้สึกเหนื่อยกับการพยายามมาหลายรอบ หลายหนเหมือนกัน เรารู้ว่า การพยายามมันเหนื่อย แต่ถ้าเราพยายามอย่างน้อยมันก็ทำให้เรามีโอกาสได้อย่างน้อย 1 เปอร์เซ็นต์ เราเป็นกำลังใจให้ทุกคนในการพยายามทำให้โอกาส 1 เปอร์เซ็นต์นั้นเป็นจริงนะคะ 🙂

มีอะไร สามารถส่งมาถามได้ จะพยายามแหวกเวลาและกองการบ้านมาตอบ

ปล. สุดท้ายจริงๆ ขอบคุณที่อ่านมาจนถึงตอนจบค่ะ”

 


อ่าน บทความการศึกษาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง คลิกที่นี่

  • แนะนำทุนรัฐบาลเกาหลี KGSP ระดับปริญญาโท-เอก 1 คลิกที่นี่
  • แนะนำทุนรัฐบาลเกาหลี KGSP ระดับปริญญาโท-เอก 2 คลิกที่นี่
  • หากมีคำถาม หรือ ข้อสงสัยใดๆ ทิ้งคอมเมนต์ไว้ใต้โพสได้เลยนะคะ ? 
  • เพื่อนทุนเกาหลีในเครือ จะมาตอบให้ด้วยความเต็มใจ ไม่มีกั๊ก ค่า

 

Filed Under: Education Tagged With: ทุน, ทุนรัฐบาลเกาหลี

แนะนำทุนรัฐบาลเกาหลี KGSP ระดับปริญญาโท-เอก (2)

September 10, 2016 By KaiMook McWilla Malany Leave a Comment

แนะนำทุนรัฐบาลเกาหลี KGSP ระดับปริญญาโท-เอก

หลังจาก กลยุทธิ์เด็ดการสมัครทุนรัฐบาลเกาหลี แนะนำทุนคร่าวๆ แบบเน้นลึกตรงประเด็น วิธีการสมัครทุน (ตอนที่ 1: คลิกที่นี่) แล้ว ใน ภาค 2 บทความนี้: แนะนำทุนรัฐบาลเกาหลี KGSP ระดับปริญญาโท-เอก (2) เราจะมาดูกันว่า

  • การขอเอกสาร รับรองเอกสาร ควรทำอย่างไร
  • วิธีการเขียน Letter of Introduction
  • วิธีการเขียน Statement of Purpose 
  • (อ่านเคล็ดลับ การเขียน Statement of Purpose และ Motivation Letter: คลิกที่นี่)
  • ส่วนอื่นๆ ในเอกสารประกอบการสมัครล่ะ ควรเขียนแบบไหนดีนะ

 

แอ๊ม: ทุนรัฐบาลเกาหลีปี 2016

การทำใบสมัครทุนเกาหลีมี การขอเอกสารและจำเป็นต้องแปลและรับรองเอกสาร หลายตัวมาก ตรงนี้ แนะนำให้อ่านประกาศรับสมัครให้ละเอียด เราอ่านหลายรอบมาก ดูให้ชัดว่าต้องแปลและรับรองเอกสารยังไงบ้าง ติดต่อกับสถานทูตหรือมหาวิทยาลัยที่ตัวเองสมัครเพื่อยืนยันด้วยก็ดีว่า ต้องให้ใครรับรองเอกสารบ้าง เพราะสถานทูตและมหาวิทยาลัย (ซึ่งมีหลายมหาวิทยาลัยมาก) มีเงื่อนไขในการรับรองเอกสารที่เข้มงวดแตกต่างกันออกไป ติดต่อได้ทั้งทางโทรศัพท์และอีเมลเลยค่ะ อย่ากลัวหรือเกรงใจที่จะถาม เราจำเป็นต้องละเอียดกับทุกขั้นตอนจริงๆ เจ้าหน้าที่ที่รับหน้าที่ค่อนข้างจะเข้าใจดี แต่ย้ำอีกครั้งเลยว่าเราเองก็ต้องอ่านเองให้ละเอียดก่อน เพราะในประกาศบอกไว้ค่อนข้างละเอียดมากอยู่แล้ว บางคนยังอ่านไม่ละเอียดแล้วถามย้ำ นี่อาจจะทำให้เจ้าหน้าที่หงุดหงิดได้ เราเองก็ยังแอบหงุดหงิดเองเวลาคนมาถาม ทั้งที่ถ้าอ่านจะเจอแน่ๆ ฮ่าๆๆ ต่อไปจะเป็นส่วนที่ทุกคนน่าจะสนใจที่สุดส่วนนึงค่ะ และเป็นหัวใจหลักในการที่ทางโครงการจะพิจารณาว่าจะให้ทุนหรือไม่ให้ทุนเราดีเลยล่ะ Letter of Introduction กับ Statement of Purpose

วิธีการเขียน Letter of introduction และ Statement of Purpose (SOP)

(เคล็ดลับการเขียน อ่านเพิ่มเติมได้ คลิกที่นี่)

สำหรับทุนรัฐบาลเกาหลี ส่วนสำคัญที่จะมีผลในการได้ทุนอยู่ที่ Letter of Introduction และ SOP เลย รุ่นพี่ทุนที่เรารู้จักบอกว่า มหาวิทยาลัยจะสนใจเราได้หรือไม่ ขึ้นกับ Letter of Introduction และ Study Plan ส่วนตัวรัฐบาลจะสนใจ SOP มากกว่า ยังไงก็ต้องทำให้ดีสุดชีวิตทั้งคู่แบบไม่มีข้อแม้ ทั้งสองอย่างนี้ต้องเป็นภาษาอังกฤษหรือเกาหลีเท่านั้นค่ะ

ส่วนของ Letter of Introduction มีรายละเอียดบอกไว้คร่าวๆ แล้วว่าเราต้องเขียนอะไรบ้าง เล่าเรื่องชีวิตของเรา พื้นหลังการศึกษา ประสบการณ์ทำงานที่คิดว่าเกี่ยวข้องกับโครงการ แรงบันดาลใจที่ทำให้เราสมัครทุนและเหตุผลที่เราต้องไปเรียนที่เกาหลี โดยทั้งหมดนี้ต้องอยู่ในพื้นที่ 1 หน้ากระดาษเอสี่ มีการกำหนดขนาดและรูปแบบตัวอักษรมาชัดเจน นั่นหมายความว่า ทุกเซนติเมตรในกระดาษแผ่นนี้มีความหมายมาก พยายามดึงความเป็นตัวเองออกมา แล้วเขียนในแบบของตัวเอง ต้องทำให้เขารู้จักเราดีที่สุดในพื้นที่หนึ่งหน้ากระดาษนี้ ต้องวางแผนและคิดดีๆ เลยล่ะค่ะ เราเขียนหลายวันมาก จำได้ว่าลองร่างเป็นภาษาไทย เอาไปให้อาจารย์ดูหนนึง อ่านจบ อาจารย์บอกว่าให้เขียนใหม่ ไม่ใช่ให้แก้นะ ให้เขียนใหม่ เรานี่น้ำตาจะไหล ฮ่าๆๆ นั่งคิดอยู่หลายวัน กว่าจะหาวิธีเล่าเรื่องของตัวเองออกมาได้ เขียนเป็นภาษาอังกฤษเสร็จปุ๊บ จากนั้นเราก็ให้เพื่อนช่วยอ่านทวนแก้แกรมม่าภาษาอังกฤษให้สวยงามอีกที ก่อนให้อาจารย์คอนเฟิร์มให้อีกรอบ

ด้วยความที่พื้นที่เป็นเงินเป็นทอง ข้อมูลอะไรที่มีอยู่ส่วนอื่นอยู่แล้วในใบสมัครส่วนอื่น เช่น ชื่ออะไร เป็นใคร เรียนอยู่ที่ไหน เราแนะนำให้ตัดออก เพราะพื้นที่น้อย แต่ให้เข้าประเด็นเร็วๆ ตรงไปตรงมา ไม่เขียนประโยคยาวเกินไป ห้ามเข้าใจยาก ลองจินตนาการว่า กรรมการต้องอ่านใบสมัครคนเป็นร้อยเป็นพันคน เขาขี้เกียจถอดรหัสหรืออ่านอะไรที่มีแต่น้ำท่วมทุ่งแน่ๆ พยายามทำให้สั้น กระชับ เข้าใจง่าย ตรงเป้าหมาย เขียนให้เขาเห็นถึงความตั้งใจ ความมุ่งมั่น ความพยายามที่ซ่อนอยู่ของเรา วางโครงเรื่องให้ดีว่าย่อหน้าไหน จะเขียนถึงประเด็นไหน แล้วเล่าให้ตรงประเด็น เราขอยกตัวอย่างโครงร่างของเราคร่าวๆ ค่ะ

ตัวอย่าง Letter of Introduction

  • ย่อหน้าแรก เราเขียนว่า ความสนใจในประเทศเกาหลีของเราเกิดจากอะไร
  • ย่อหน้าที่สอง เราเขียนว่า ในมหาวิทยาลัย นอกจากเรียนแล้ว เราทำอะไรบ้าง (ไม่แนะนำให้เสนอเรื่องเรียน เพราะมีส่วนของเกรดให้กรอกอยู่แล้ว) เราเลือกเขียนทั้งกิจกรรมที่เกี่ยวกับวิชาเอกของเราและที่เกี่ยวกับเกาหลี (พอดีเราทำงานชมรมเกาหลีมาบ้างด้วยเหมือนกัน)
  • ย่อหน้าที่สาม เราเขียนถึงประสบการณ์ที่เราเคยไปแลกเปลี่ยน เพื่อให้เขารู้ว่าเราจะสามารถไปอยู่ข้างนอกได้อย่างปลอดภัย สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมนานาชาติได้ (ตอนนี้ชีวิตก็นานาชาติมาก เพราะเป็นคนไทยทุนระดับปริญญาโทคนเดียวที่ถูกส่งมาเรียนภาษาที่นี่ ฮ่าๆๆ)
  • ย่อหน้าที่สี่ เราเขียนถึงประสบการณ์ทำงานพาร์ทไทม์ของเรา (เราเคยเป็นผู้ช่วยวิจัยอาจารย์ตอนเรียนปริญญาตรีค่ะ เราเลยให้รายละเอียดถึงงานที่เราเคยทำไปย่อๆ)
  • ย่อหน้าสุดท้าย เราเขียนถึงเหตุผลที่ขอทุนและที่ต้องไปเรียนเกาหลีไป

อ๋อ รวมๆ ทุกอย่างเราเขียนหมดเลยว่า ประสบการณ์ที่เราเจอ หล่อหลอมให้เราเป็นคนแบบไหน ยังไง เขาจะได้เห็นทั้งเรื่องราวชีวิตของเราและความเป็นตัวเราได้พร้อมๆ กัน

ทุกคนอาจจะคิดว่า เอ๊ย เขียนแบบนี้เลยน่าจะได้ทุน เราไม่แนะนำให้เขียนตามโครงร่างของคนอื่นเลยค่ะ เพราะถ้าเราไม่ได้เป็นตัวของตัวเอง เวลาเขียนออกมา ความรู้สึกมันจะไม่แรงพอที่จะส่งถึงคนอ่านได้ แนะนำให้หาแนวการเขียนของตัวเอง และเขียนออกมาให้เป็นตัวเองที่สุดค่ะ 😀

ตัวอย่าง Statement of Purpose

ต่อไปในส่วนของ Statement of Purpose ของทุนรัฐบาลเกาหลีนั้น จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนย่อย คือ Study Plan และ Future Plan เราจะขอแบ่งเล่าเป็นสองย่อหน้าเลยนะคะ

  • Study Plan ส่วนนี้ตรงตัว เราต้องเขียนถึงเป้าหมายที่เราจะศึกษา ถ้ามีหัวข้อกว้างๆ เกี่ยวกับสิ่งที่เราสนใจด้วยแล้วจะดีมาก และให้รายละเอียดเท่าที่จะทำได้ ความจริงตรงนี้เปลี่ยนได้ แต่ถ้ามีแล้ว จะทำให้เราดูมีความมุ่งมั่นและเตรียมตัวมาดีขึ้นอีกนิดนึง เราเองเขียนถึงหัวข้อที่เราสนใจและบอกเหตุผลว่าทำไมเราถึงอยากทำเรื่องนี้ เรื่องนี้สำคัญยังไง ถ้าเป็นสายวิทยาศาสตร์อาจจะเขียนแผนเข้าแลปอะไรทำนองนี้คร่าวๆ แนบไปด้วยก็ได้ค่ะ ของเราสายสังคม เลยเน้นอ้างอิงงานวิจัยหรือผลสำรวจองค์กรเพื่อให้ดูมีการทำรีเสิร์ชเพิ่มอีกนิดนึง แนะนำเสริมได้อีกนิด คือให้ไปนั่งเปิดจากเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยและเมเจอร์ที่เราจะไปเรียน ดูว่ามีคอร์สอะไร เพื่อให้เอามาเขียนเสริมได้ด้วยว่าเราอยากเรียนวิชาอะไรบ้าง เพื่อสร้างฐานความรู้ให้เราไปต่อยอดต่อได้ยังไง จะทำให้เราดูใส่ใจมากขึ้นอีกระดับนึงด้วย ของเราเอง นอกจากข้างบนที่พูดไปแล้ว เราใส่ถึงกิจกรรมสัมมนาวิชาการที่เราจะเข้าร่วม อะไรแบบนี้ไปด้วย แสดงให้เห็นว่าเราใส่ใจไม่เฉพาะแค่ในห้องเรียนอย่างเดียว เราอัพเดตโลกรอบตัวด้วย
  • Future Plan ตรงนื้คือแผนการว่า หลังเรียนจบแล้ว เรามีแผนจะทำอะไรต่อ ตรงนี้เรามองว่าเป็นจุดขายอีกจุดนึงที่จะทำให้รัฐบาลเลือกว่าจะทุนหรือไม่ให้ทุนเรา เพราะการให้ทุนคือการเอาเงินภาษีของประชาชนเกาหลีมาจ่ายให้เราเรียน เขาจะดูว่าสุดท้ายแล้ว การลงทุนของเขาในครั้งนี้จะทำให้เขาอะไรได้กลับมา เราไม่แนะนำให้เขียนอวยเกาหลีมากสุดๆ จนไม่สนใจประเทศแม่ สุดท้ายแล้วยังไงกรรมการก็รู้ค่ะ เขียนบนพื้นฐานของความจริงและความเป็นไปได้จะดีที่สุดเน๊อะ ใดๆ ต้องทำให้เขารู้สึกว่าการลงทุนครั้งนี้จะวิน-วินกันทั้งสองฝั่ง นั่นน่าจะดีที่สุดค่ะ ส่วนตัวเราเขียนแผนระยะสั้นและระยะยาว มีการอธิบายรายละเอียดของแผนระยะสั้นคร่าวๆ ให้เห็นภาพด้วยว่า เราจะทำอะไรกับช่วงนั้นบ้าง และมันจะช่วยเกาหลีและไทยได้ยังไงในเวลาเดียวกัน

ส่วนนี้ถ้ามีเยอะ อยากเขียนยาว สามารถเขียนเพิ่มในกระดาษอื่นได้อีก 1 แผ่นค่ะ แต่อย่างที่บอก ควรตรงประเด็นที่สุดเท่าที่จะทำได้นะคะ 😀

 

 


ในส่วนของ Letter of Recommendation, เคล็ดลับต่างๆ และ บทสัมภาษณ์ คลิกที่นี่ ค่ะ

  • หากมีคำถาม หรือ ข้อสงสัยใดๆ ทิ้งคอมเมนต์ไว้ใต้โพสได้เลยนะคะ ? 
  • เพื่อนทุนเกาหลีในเครือ จะมาตอบให้ด้วยความเต็มใจ ไม่มีกั๊ก ค่า

 

Filed Under: Education Tagged With: ทุน, ทุนรัฐบาลเกาหลี

แนะนำทุนรัฐบาลเกาหลี KGSP ระดับปริญญาโท-เอก (1)

September 10, 2016 By KaiMook McWilla Malany 7 Comments

แนะนำทุนรัฐบาลเกาหลี KGSP ระดับปริญญาโท-เอก

มาอันอีกครา กับแนะนำทุน หลังจากการตอบรับเรื่อง การเขียน Statement of Purpose, Motivation Letter มาแรง และมีเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ หลายคนส่งข้อความส่วนตัวมาถามไข่มุกเรื่อง ทุนรัฐบาลเกาหลี KGSP 

ไข่มุกมีประสบการณ์การเขียนสมัครทุนนี้นะคะ เพียงแต่ก็สองปีมาแล้ว ผ่านเข้าไปรอบสัมภาษณ์ จำตอนสัมภาษณ์ได้ดีค่ะ แต่จำไม่ได้แล้วว่าตอนเขียนใบสมัครคำถามอะไร 555 ความจำสั้น -,.- เลยขอให้เพื่อนสาว แอ๊ม ที่เพิ่งได้ทุนปีนี้ (2016) ไปหมาดๆ และเพิ่งบินไปถึงเกาหลีไม่ถึงเดือนมาเล่าประสบการณ์การสมัครทุนให้ได้ฟังกัน

แอ๊ม: ทุนรัฐบาลเกาหลีปี 2016

” แอ๊ม แนะนำตัว

สวัสดีค่ะ 🙂 ก่อนอื่นขอแนะนำตัวกันสั้นๆ ก่อนเลยนะคะ เราชื่อ แอ๊ม ตอนนี้ได้รับ ทุนรัฐบาลเกาหลีปี 2016 (ปีนี้เลยนั่นเอง สดๆ ร้อนๆ มาก) มา เรียนปริญญาโทที่สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ค่ะ ช่วงนี้เพิ่งมาถึงได้ประมาณสามอาทิตย์ เลยยังอยู่ในช่วงเรียนภาษาเกาหลี เราโดนสุ่มชื่อส่งมาลงอยู่ที่มหาวิทยาลัย Pai Chai (อ่านว่าแปแช) อยู่ที่เมืองแทจอน แถวกลางๆ ประเทศเกาหลี (ถ้าใครดู Train to Busan จะจำได้จากฉากที่ซอมบี้ทหารมาออกันจับคนที่มากับรถไฟค่ะ ฮ่าๆๆ) หลังจากจบคอร์สภาษาเกาหลียาว 1 ปี เราจะไปเรียนต่อปริญญาโทในสาขาสังคมวิทยาที่ Academy of Korean Studies แถบคยองกีโด (อันนี้ต้องบอกว่ามีสวนสนุกเอเวอร์แลนด์ ทุกคนน่าจะอ๋อกันดี) วันนี้เรามาเป็นแขกรับเชิญพิเศษตามคำขอของเจ้าของบล็อก ที่บอกให้เรามาลองเขียนอะไรสั้นๆ (ไม่รู้จะสั้นจริงไหม) แนะนำทุนที่เราได้และทริคสั้นๆ เอาเป็นว่า เริ่มกันเลยดีกว่าเน๊อะ

 แนะนำทุนรัฐบาลเกาหลี

เนื้อหาที่เราเขียน ขอ เน้นเป็นทุนระดับปริญญาโทกับเอก นะคะ น้องๆ ม.ปลายที่สนใจทุนปริญญาตรี ลองหารายละเอียดในเว็บอื่นได้เลยค่ะ เห็นมีรุ่นพี่ป.ตรีให้สัมภาษณ์ทุกปี ทุนรัฐบาลเกาหลีเป็นทุนให้เปล่ากับนักศึกษาทั่วโลกที่ต้องการศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและเอก โดยมี วัตถุประสงค์หลักคือให้ความรู้ระดับสูงกับบรรดานักเรียนทุน และสร้างความสัมพันธ์ มิตรภาพระหว่างนักเรียนทุนนานาชาติ เราจะเลือกเรียนสาขาอะไรก็ได้ ในมหาวิทยาลัยไหนก็ได้ที่ลงชื่อเข้าร่วมกับโครงการในปีนั้นๆ แต่ละปีจะมีรายชื่อมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมต่างกัน เราจะเช็ครายชื่อมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมได้จากเว็บไซต์ www.studyinginkorea.go.kr ประกาศรับสมัครระดับปริญญาโทและเอกจะมาช่วงประมาณกุมภาพันธ์ถึงมีนาคมของทุกปี ระยะเวลาของทุนแล้วแต่ระดับการศึกษาที่สมัคร ปริญญาโทเรียนนาน 2 ปี รวมกับเรียนภาษา 1 ปี ทั้งหมดเป็น 3 ปี ส่วนปริญญาเอกเรียน 3 ปี บวกเรียนภาษาอีก 1 ปี เป็น 4 ปี (ใดๆ ถ้าใครที่มีผลสอบภาษาเกาหลีระดับ 5-6 สามารถข้ามการเรียนภาษาปีแรกไปได้เลย แถมได้เงินค่าใช้จ่ายรายเดือนเพิ่มอีกด้วยค่ะ) ตัวทุนนี้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทุกอย่าง ค่าเครื่องบินไป-กลับ ค่าคอร์สเรียนภาษาเกาหลีก่อนเรียนต่อหนึ่งปี ค่าเล่าเรียนปริญญาโท-เอก ประกันสุขภาพ รวมถึงเงินค่าใช้จ่ายรายเดือน ทำให้ทุนนี้ค่อนข้างฮอตมาก โดยเฉพาะในประเทศไทยที่เคป๊อบบุกเมืองของเรา คุณสมบัติเดียวที่ต้องระวังหน่อยคือ เกรดเฉลี่ยสะสมในช่วงที่ศึกษาก่อนหน้านั้นต้องเกิน 80 เปอร์เซ็นต์ (ประมาณ 2.68 เต็ม 4.00 ค่ะ) ใครสนใจ เราแนะนำให้เตรียมตัวล่วงหน้าไว้เนิ่นๆ ทำการบ้านดีๆ และคอยติดตามในเว็บไซต์ให้สม่ำเสมอค่ะ

ถึงทุนจะน่าสนใจ แถมไม่ผูกมัดอะไรทั้งสิ้น แต่เราขอบอกว่า ต้องเตรียมใจมาให้พร้อมจริงๆ เพราะเงื่อนไขที่จะทำให้เราหลุดทุนมีอยู่สูงมาก โดยเฉพาะการสอบวัดระดับภาษาเกาหลีให้ผ่าน โดยต้องผ่านระดับ 3 ภายในเวลา 1 ปี (ขยายเวลาได้เต็มที่คือ 1 ปีครึ่ง แต่มีเงื่อนไขที่ใครได้ทุนแล้ว ค่อยมาดูเอาเองดีกว่า ฮ่าๆๆ)

เอาล่ะ ขู่เข็ญกันมาพอแล้ว ควรเข้าเรื่องอื่นที่น่าจะเป็นประโยชน์กับคนสมัครต่อซะที ถ้าใครเตรียมตัวเตรียมใจว่าพร้อมแล้ว ที่จะจากบ้านเมืองที่อาหารอร่อยที่สุดในโลกที่นึงของเรามากินกิมจิกับข้าวแทน ขอให้ตามเรามาอ่านส่วนต่อไปที่ว่าด้วยวิธีการสมัครทุนนี้กันเลยนะคะ 🙂

วิธีการสมัครทุนรัฐบาลเกาหลี

ทุนรัฐบาลเกาหลีในระดับปริญญาโท-เอก มีช่องทางในการสมัครอยู่ 2 ช่องทาง นั่นก็คือ

  1. สถานทูตเกาหลีประจำประเทศไทย: ช่องทางนี้ปีเรารับทั้งหมด 5 คน (แต่ตอนประกาศผล เรียกถึงสำรองอันดับ 1 เลยได้มาทั้งหมด 6 คน) คนที่สมัครช่องสถานทูตจะต้องผ่านด่านทั้งหมด 3 ด่าน คือ
    1. รอบแรก คัดเอกสารโดยสถานทูตให้เหลือ 20 คนสุดท้ายแล้วมีสัมภาษณ์โดยสถานทูต คัดเลือก 5 คนสุดท้ายและสำรองอีก 3 คน
    2. รอบสอง คือ รัฐบาลเกาหลีจะคัดและยืนยันชื่อ และ
    3. รอบสาม หรือ รอบสุดท้าย คือ ตรวจร่างกายและต้องได้รับการตอบรับจากมหาวิทยาลัย จุดแข็งของช่องทางนี้คือ สามารถเลือกอันดับมหาวิทยาลัยได้ 3 อันดับและไม่ต้องเสียเงินส่งเอกสารมาเกาหลี เอาไปส่งที่สถานทูตเกาหลีใกล้ๆ กับสถานีรถไฟใต้ดินศูนย์วัฒนธรรมฯ ได้เลย (ค่าส่งทำเอาช่วงนั้นหมดตัวเบาๆ เพราะเราเลือกอีกช่องทางนึง) แต่ข้อเสียคือ เรามีสิทธิ์พลาดในรอบสุดท้าย เพราะไม่มีมหาวิทยาลัยใดๆ ตอบรับ แม้เราจะได้รับการคัดเลือกเป็นตัวแทนประเทศจากรัฐบาลแล้วก็ได้ ดังนั้น ต้องวางกลยุทธ์ในการเลือกมหาวิทยาลัยให้ดี ถ้ายังไม่มั่นใจในโปรไฟล์ของตัวเองมาก พยายามกระจายความเสี่ยง เลือกมหาวิทยาลัยที่นอกเหนือจาก SKY (SNU, Korea, Yonsei) หรือไม่ติดท็อบ 10 ด้วยน่าจะเซฟที่สุด
  2. มหาวิทยาลัยในเกาหลีที่เข้าร่วมโครงการกับรัฐบาล: ช่องทางนี้ปีเรารับทั้งหมด 9 คน และให้ทุนพอดีเป๊ะ 9 คนไม่ขาดไม่เกิน ไม่มีสำรอง คนที่สมัครช่องนี้จะต้องผ่านด่านหลักๆ ทั้งหมด 2 ด่าน คือ คัดและสัมภาษณ์โดยมหาวิทยาลัยที่ส่งใบสมัครไป และ คัดใบสมัครอีกครั้งโดยรัฐบาล ถ้าผ่านรอบสอง เหมือนขาก้าวไปข้างนึงแล้ว มีตรวจร่างกายหลังรัฐบาลประกาศชื่อแล้วเช่นกัน แต่โอกาสหลุดน้อยมาก ถ้าไม่ได้เป็นโรคอะไรร้ายแรง ข้อดีของช่องทางนี้คือ เราจะผ่านขั้นตอนที่น้อยรอบและลุ้นให้หัวใจระทึกเล่นน้อยกว่าช่องสถานทูต และมีโควต้าให้ช่องทางนี้มากกว่าช่องสถานทูต แต่ข้อเสียที่ร้ายแรงพอสมควรคือ เราสามารถเลือกส่งใบสมัครไปให้มหาวิทยาลัยนั้นโดยตรงได้แค่ 1 มหาวิทยาลัย ถ้าทุนพบว่าเราส่งเกินกว่า 1 มหาวิทยาลัย จะโดนตัดสิทธิ์ทันที นอกจากนั้นคือ ต้องเสียค่าส่งเอกสารไปที่เกาหลี เราแนะนำให้หาดีลดีๆ ช่วงนั้นเราซื้อดีลของ dhl เลยได้ส่งในราคาถูกแล้วช่วยเซฟไปได้หน่อยนึง

สำหรับเรา ทั้งสองช่องทางไม่ได้มีช่องไหนมีความเป็นไปได้มากหรือน้อยกว่ากัน ต้องชั่งน้ำหนักเอาเองว่าเราจะยอมเสี่ยงไปกับอะไร ส่วนตัวเราเอง ที่เราเลือกช่องมหาวิทยาลัย เพราะเราคิดว่า เราแค่ต้องทำให้มหาวิทยาลัยสนใจเราก่อน เราคิดเผื่อไว้ว่าไม่ได้ทุนของรัฐบาล แต่ถ้าทำให้มหาวิทยาลัยหรืออาจารย์สนใจเราได้ อย่างน้อยเขาอาจจะเสนอทุนอื่นของมหาวิทยาลัยให้เราไปเรียนก็ได้ (แล้วเขาก็ส่งทุนอื่นมาให้เราสำรองไว้เผื่อ ตอนที่เรารอทุนรัฐบาลประกาศผล แต่เราเสี่ยงไม่สมัครทุนของมหาวิทยาลัย ดีที่ยังโชคดีที่ได้ทุนรัฐบาลพอดี ไม่งั้นคงเสียดายเบาๆ ฮ่าๆๆ) ใครสนใจเอาทริคนี้ไปลอก เราไม่ถือค่ะ 😀

ทริคเพิ่มเติม!!

มีทริคเล็กๆ สำหรับช่องมหาวิทยาลัยด้วย คือ แนะนำให้ส่งอีเมลไปแนะนำตัวกับอาจารย์ซักคนที่เมเจอร์ที่ตัวเองสนใจจะไปเรียน แต่ถ้าแนะนำอย่างเดียวมันคงจะแปลก พยายามหาเรื่องที่คิดว่าควรจะปรึกษา เช่น หัวข้อวิจัย หรืออะไรก็ได้ค่ะ เรารู้ว่ามันอาจจะดูเฟคเบาๆ แต่อย่างน้อยมันก็อาจทำให้อาจารย์จำได้แบบเลือนรางว่ามีเด็กคนนึงสนใจเมเจอร์ของตัวเอง และถ้าโชคดี อาจได้อาจารย์คนนั้นมาเป็นคนสัมภาษณ์ เช่น เราเอง เป็นต้น (ฮา)”

 

 


เพื่อน แอ๊ม เขียนมาให้ ได้รายละเอียดเยอะ รู้ลึก ทุกประเด็นจริงๆ 🙂 พักกันสักนิดนะคะ แล้วตามไปดูกันต่อที่ แนะนำทุนรัฐบาลเกาหลี KGSP ระดับปริญญาโท-เอก (2) คลิกที่นี่ ค่า

  • ระหว่างนี้ หากมีคำถาม หรือ ข้อสงสัยใดๆ ทิ้งคอมเมนต์ไว้ใต้โพสได้เลยนะคะ 😀 
  • เพื่อนทุนเกาหลีในเครือ จะมาตอบให้ด้วยความเต็มใจ ไม่มีกั๊ก ค่า

 

Filed Under: Education Tagged With: ทุน, ทุนรัฐบาลเกาหลี

KAIMOOK MALANY

ฉันโตมากับการไม่อยู่เป็นหลักแหล่ง ฉันสู้ ดิ้นรน ปรับตัว เป็นฉันในวันนี้ ที่ยิ้มเก่ง ช่างพูด กล้าถาม ชื่นชอบการพบปะผู้คน รักการเรียนรู้ หลงรักการผจญภัย และอยู่อย่างสันโดษได้ นอกจากจะเพราะครอบครัวที่รักและคอยให้การสนับสนุนฉันแล้ว ส่วนหนึ่งยังเป็นเพราะตัวฉันที่ไม่ชอบอยู่นิ่ง (wander) สิ่งที่ฉันได้เจอ ศึกษาค้นคว้าและเรียนรู้เป็นความน่าหลงใหล (wonderful) ที่ฉันอยากจะแลกเปลี่ยนแบ่งปัน ทุกอย่างที่เขียนขึ้นกลั่นออกมาจากใจฉันเองค่ะ (minds)

Join the Social Conversation

  • Facebook
  • Instagram
  • Pinterest

Copyright © 2015-2019 · Squiddy Productions · This site powered on interstellar cognitions · Privacy