ฟินแลนด์เป็นประเทศที่มีระบบการศึกษาดีมากเป็นอับดับต้นๆ ของโลก บ้างว่าเป็นอันดับหนึ่ง บ้างว่าเป็นอันดับสองหรือสาม แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ระบบการศึกษาของประเทศที่หนาวเหน็บติดลบประเทศนี้ก็ติดอันดับ 1 ใน 3 เสมอมา
สาเหตุนั้นมีหลายอย่าง ประการแรกคือประชากรที่มีน้อยนิด ทั่วประเทศประมาณ 5.4 ล้านคน น้อยกว่าประชากรเมืองกรุงฯ เสียอีกค่ะ ด้วยเหตุที่ประชากรน้อย การจัดการการดูแลย่อมง่ายกว่าเสมอ ดังคำกล่าวที่ว่า “คนน้อยดูแลง่าย คนมากปัญหามากไปตามกัน” แต่การที่มีคนมากก็ใช่ว่าจะเป็นปัญหาเสมอไปนะคะ ตัวอย่างเช่น บางรัฐในสหรัฐอเมริกาผู้คนมากมายล้นเหลือ แต่การดูแลและการจัดการเขาก็เป็นไปได้ด้วยดี
สิ่งสำคัญฉันเชื่อว่าคือการดูแลบุคลาการ หากประชากรมีความสุข มีความรู้พอที่จะหาเลี้ยงตนเอง มีพื้นฐานชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ไม่มีความเหลื่อมล้ำใดๆ ความเสมอภาคก็เกิดขึ้นได้เสมอ อย่างเรื่องเล่าเรื่องหนึ่งที่ “ลี” พ่อชาวอเมริกันที่ฉันเคารพรักคนหนึ่งถามย้ำเตือนฉันเสมอว่า
“ในฐานะผู้นำ ลูกจะเลือกอะไร ระหว่าง
- สอนคนให้ตกปลา กับ
- หาปลาให้คนกิน“
คำถามนี้ไม่มีคำตอบไหนถูกคำตอบไหนผิดค่ะ แต่มันแสดงทัศนคติหลายอย่างโดยเฉพาะต่อความเป็นผู้นำและความห่วงใยบุคคลภายใต้การดูแลของเรา
การสอนคนให้ตกปลา คือการให้ความรู้แก่คนอื่น เพื่อให้เขาคนนั้นสามารถเลี้ยงชีพดำรงตนอยู่ได้ด้วยตนเอง แต่หากเราคอยแต่จะหาปลาให้เขากินแล้วนั้น เขาคงต้องคอยพึ่งเราตลอดเวลา ทำอะไรเองไม่เคยเป็น แล้วเขาคนนั้นจะอยู่ได้อย่างไร จะหาเลี้ยงครอบครัวคนอื่นได้อย่างไร หากไม่ใช่แบมือขอเราตลอดไป
“แล้วที่ฟินแลนด์เขาดูแลบุคลากรของเขาได้อย่างไรล่ะ”
คำตอบคือ เขาสอนประชากรของเขาให้ตกปลาเป็น เขาเน้นหนักด้านระบบการศึกษา พัฒนาระบบอย่างจริงจัง และสนับสนุนบุคลากรด้านนี้อย่างมาก … มากเสียจนอาชีพครูที่นี่คืออาชีพที่มีการสอบเข้าแข่งขันสูงและเป็นอาชีพที่มีเกียรติสุดๆ รายได้ตอบแทนดี
ประเด็นถัดมา คือ ความเท่าเทียมกัน ที่ฟินแลนด์เด็กทุกคนได้รับการปลูกฝังเรื่องความเท่าเทียม จะเป็นใคร มาจากไหน เชื่อชาติอะไร ไม่เกี่ยง ทุกคนคือ “คน” และทุกคน “เท่าเทียมกัน” เสมอ
ความเท่าเทียมทำให้ไม่เกิดการเลือกปฏิบัติ และความเท่าเทียมยังทำให้การบริหารงานต่างๆ ดำเนินได้อย่างง่ายดาย ทุกคนมีสิทธิ์ออกเสียง ทุกคนมีสิทธิ์ถาม ทุกคนจ่ายค่าภาษีเหมือนกัน และได้รับการศึกษาที่เท่าเทียมกัน หากเด็กคนใดเรียนช้า เขาคนนั้นย่อมได้โอกาสที่พิเศษออกไปจากคนอื่น มีครูคอยดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อหาจุดอ่อนและปรับพื้นฐานเด็กคนนั้นให้เท่าเพื่อนร่วมห้อง โดยที่เด็กคนนั้นไม่ต้องออกไปจ้างครูพิเศษหรือเรียนพิเศษข้างนอกให้เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม และด้วยความเท่าเทียมที่กล่าวมานี่ เพื่อนในชั้นก็ไม่ล้อเด็ก ตัวเด็กก็ไม่รู้สึกด้อยไปกว่าใคร
ประการสุดท้าย คือ ความเชื่อใจ ที่ฉันเชื่อว่าสำคัญมากไม่แพ้ข้ออื่นๆ เลยนะ เพราะเป็นการฝึกการตัดสินใจด้วยตนเอง และเป็นการเคารพการตัดสินใจของคนนั้นด้วย
คำว่าเชื่อใจที่นี้ คือ หากแม่ถามลูกว่า “ทำการบ้านเสร็จแล้วหรือยัง” ลูกตอบว่า “ทำเสร็จแล้ว” นั่นหมายความว่า “เสร็จแล้วจริงๆ” หากลูกโกหก ลูกรู้เองว่าตนเองจะได้รับบทเรียนอย่างไร หรือ หากนักเรียนเล่นโทรศัพท์ในคาบเรียน ครูถามว่า “เล่นอะไร” เด็กตอบว่า “เปิดดูคำศัพท์ในโทรศัพท์” ครูก็เชื่อและไม่ถามอะไรอีก ครูเชื่อใจเด็ก เพราะหากเด็กโกหก เด็กคนนั้นรู้ตัวเองดี และรู้จักละอาย
ทั้งหมดนี้เกิดจาก … ความเชื่อใจ
Leave a Reply