แนะนำทุนรัฐบาลเกาหลี KGSP ระดับปริญญาโท-เอก อีกรุ่น ปี 2015 ค่ะ จาก “ลิตเติ้ล” เพื่อนสาวอีกคนของฉัน รู้จักกันตอนไปสอบสัมภาษณ์ เติ้ลได้รับทุนนี้ด้วยการสมัครผ่านสถานทูต
สมัครผ่านทางมหาวิทยาลัย (และความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับทุน) คลิกอ่าน 4 บทความแรก ได้ที่ลิงค์ข้างล่าง
- แนะนำทุนรัฐบาลเกาหลี KGSP ระดับปริญญาโท-เอก (1) โดย แอ๊ม
- แนะนำทุนรัฐบาลเกาหลี KGSP ระดับปริญญาโท-เอก (2) โดย แอ๊ม
- แนะนำทุนรัฐบาลเกาหลี KGSP ระดับปริญญาโท-เอก (3) โดย แอ๊ม
- แนะนำทุนรัฐบาลเกาหลี KGSP ระดับปริญญาโท-เอก (4) โดย ป็อป
มาดูกันค่ะว่า สาวหมวย แก่งนี้ จะแบ่งปันประสบการณ์อะไรให้ชาว wanderfulminds ได้อ่านกันบ้าง 🙂

แคลร์ หรือลิตเติ้ล: ทุนรัฐบาลเกาหลีปี 2015
“แนะนำตัว
อันยองฮาเซโย เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆทุกคน เราชื่อแคลร์ หรือลิตเติ้ลนะคะ นักเรียนทุนรัฐบาลเกาหลี (KGSP 2015) จบปริญญาตรีจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตอนนี้กำลังศึกษาระดับปริญญาโทอยู่ที่ Sungkwunkwan University ที่โซล เอก Political Science ค่ะ หลายคนคงทราบรายละเอียดทุนเบื้องต้นกันไปแล้ว แคลร์ขอแชร์ประสบการณ์และเทคนิคส่วนตัวเพื่อเป็นแนวทางในการสมัครนะคะ
- รายละเอียดทุนเบื้องต้น แนะนำทุนรัฐบาลเกาหลี KGSP ระดับปริญญาโท-เอก
เทคนิคการเขียน
เขียนให้คณะกรรมสนใจและปฏิเสธเราไม่ได้ 5555 ฟังดูมั่นใจ๊ มั่นใจ แต่ความมั่นเนี่ยแหละค่ะ จะทำให้เราเขียนในสิ่งที่ตอบโจทย์เขาได้ เนื่องจากทุนนี้เป็นทุนรัฐบาลเกาหลี เราต้องทำความเข้าใจว่าจุดประสงค์หลักที่เขาให้ทุนกับนักเรียนต่างชาติทั่วโลก คือ การเผยแพร่ความเป็นประเทศเกาหลีในหลายมิติ อาทิ ศิลปะดนตรี สังคมและวัฒนธรรม อีกทั้งนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ
เราจึงควรเขียน Self Introduction ถึงจุดประสงค์ของเราให้เชื่อมโยงกับเขาด้วย เช่น แคลร์เรียนรัฐศาสตร์ เรื่องความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยและเกาหลีเป็นสิ่งแรกที่เขียนเลยค่ะ เน้นความประทับใจในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเอกที่เราจะเรียนเป็นพิเศษ จึงเป็นแรงบันดาลใจให้มาเรียนที่เกาหลี เขียนให้เขารู้ว่าเรามีความรู้เกี่ยวกับประเทศเกาหลีระดับนึงและเราจะไปเรียนที่ประเทศเขาเพื่อต้องการต่อยอดด้วยความมุ่งมั่น ที่สำคัญคือ เขียนให้กระชับ ตรงประเด็น เน้นเนื้อๆไม่เอาน้ำๆ
ส่วน Study plan นอกจากเป้าหมายที่จะศึกษาแล้ว เขียนให้เห็นถึงความกระตือรือร้นและเป็นขั้นบันได คือกำหนดไปเลยว่าปีแรกจะทำอะไร เชื่อมโยงไปถึงปีสุดท้าย หัวข้อธีสีท (thesis) หรือโปรเจค (project) จะทำเกี่ยวกับอะไร อย่างไรให้ชัดเจนในทางปฏิบัติ
ส่วน Future plan ในส่วนนี้นอกจากจะเขียนสิ่งที่จะทำในอนาคตแล้ว ควรเขียนอะไรที่เป็นการทำประโยชน์ให้กับประเทศเกาหลีด้วย อย่างน้อยเป็นการเผยแพร่ให้ประเทศเขาซึ่งถือเป็นการตอบโจทย์อย่างแท้จริง สุดท้ายคือ ผลงานและประสบการณ์ต่างๆ ที่เคยทำสำคัญกว่าเกรดเฉลี่ย เพราะประเด็นนี้จะทำให้เราโดดเด่นและแตกต่างจากคนอื่น เพราะเกรดเฉลี่ยเป็นเกณฑ์ที่ตัดสินการเรียนในห้อง แต่พื้นหลังอื่นๆจะเป็นตัวตัดสินความสามารถที่แท้จริงของเราค่ะ แคลร์เป็นคนนึงที่เกรดเฉลี่ยไม่ได้สูงมากมาย แต่ทำกิจกรรมเยอะมากกก ทั้งวิชาการและนันทการ ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ เช่น แคลร์เคยเป็นนักเรียนผู้ช่วยในการประชุมระหว่างประเทศ UNESCAP, นักร้องประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, อาสาสมัครค่ายเพื่อชุมชนในชนบท และนักเรียนแลกเปลี่ยนตอนมัธยมปลายที่ประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น
- อ่านเพิ่มเติมรายละเอียดทุน แนะนำทุนรัฐบาลเกาหลี KGSP ระดับปริญญาโท-เอก
เทคนิคสัมภาษณ์
ที่สถาทูตสัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษนะคะ แต่ถ้าใครพูดเกาหลีได้ คณะกรรมการอาจให้สัมภาษณ์เป็นเกาหลีได้ค่ะ สิ่งที่ต้องทำสิ่งแรกคือ ตั้งสติค่ะ 55555 สติมาปัญญาเกิด เราจะสามารถตอบคำถามได้ พยายามตอบให้ตรงประเด็นที่สุด อย่าเวิ่นเว้อ ตอบให้ดูมีหลักการและที่สำคัญคือต้องเป็นตัวของตัวเอง เพราะจุดนี้จะทำให้คำตอบของเราไม่เหมือนใคร ส่วนใหญ่ก็เป็นคำถามจิตวิทยาทั่วไป ไม่ยากเท่าไหร่ แต่ควรเตรียมความรู้รอบตัวเกี่ยวกับเกาหลีไว้หน่อยก็ดีค่ะ อ่านข่าวหรือเหตุการณ์ต่างๆ ไว้บ้าง เพราะตอนที่แคลร์สัมภาษณ์โดนคำถามเกี่ยวกับข้อพิพาทเรื่องเกาะระหว่างเกาหลีกับญี่ปุ่น แต่ถ้าเป็นสายวิทย์ก็อัพเดตเทรนนวัตกรรมในขณะนั้น อีกทั้งควรจะ เตรียมตัวกับคำถามสัมภาษณ์พื้นฐานทั่วไป เช่น จุดอ่อนจุดแข็งของตัวเอง นั่งลิสเลยค่ะว่าเขาน่าจะถามอะไรแล้วฝึกพูดหน้ากระจกหรือหาคนมานั่งฟังเลยจะได้ช่วยกันคอมเมนต์คำตอบของเรา เวลาจริงมันตื่นเต้นจะได้ไม่ลนมากนัก สุดท้ายอย่าลืมยิ้มเยอะๆด้วยนะคะ 🙂
- ตั้งสติ
- ตอบให้ตรงประเด็น
- เป็นตัวของตัวเอง
- ติดตามข่าวสาร
- รู้จุดอ่อนจุดแข็งตัวเอง
- ฝึกซ้อมมาอย่างดี
- ยิ้มเยอะๆ ค่ะ 🙂
คำแนะนำอื่นๆ
ในฐานะที่เป็นรุ่นพี่ขอบอกเลยว่าสำหรับคนที่ไม่มีพื้นฐานภาษาเกาหลีมาก่อน การเรียนภาษาภายในหนึ่งปีแล้วต้องสอบให้ผ่านระดับตามที่ทุนกำหนดก็ว่ายากแล้ว แต่การที่ต้องเรียนปริญญาโทเป็นภาษาเกาหลียากกว่าหลายเท่า เนื่องจากระดับภาษาที่อยู่ในข้อสอบวัดระดับกับภาษาที่ใช้จริงในมหาวิทยาลัยนั้นต่างกันมาก ยิ่งสายสังคมนั้นต้องใช้ภาษามากกว่าสายวิทย์ เพราะต้องอ่านบทความและหนังสือเป็นจำนวนมาก ศัพท์วิชาการทั้งนั้น อีกทั้งยังต้องเขียนงานส่งอีก แคลร์ไม่มีพื้นฐานภาษาเกาหลีมาก่อนเลย ถึงแม้จะผ่านระดับสี่ภายในปีแรก แต่แทบไม่ได้ช่วยให้การเรียนจริงในมหาวิทยาลัยง่ายขึ้นเลย จึงขอแนะนำว่าถ้าเพื่อนๆคนไหนไม่มีพื้นฐานภาษาเกาหลี ควรเรียนภาษาเตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้า เพราะการเรียนรู้ภาษาที่ดีและได้ผลนั้น คือการเรียนอย่างเข้าใจไม่ใช่ท่องจำ สุดท้ายก็ขอให้ทุกคนโชคดีนะค่าาาา ใครอยากปูพื้นภาษาเกาหลีหรือมีคำถามเพิ่มเติม FB : Claire thareechat”
หรือทิ้งคอมเมนต์ไว้ใต้บทความนี้ได้เลยค่ะ 😀
Leave a Reply