wanderfulminds

When you wonder, your mind wanders, and you realize how wonderful everything is

  • Home
  • Stories & Guides
  • Facts & Tips
  • Brains & Minds
  • Languages
  • Education
  • Hire me!
  • Contact
You are here: Home / Education / เรียนต่อฝรั่งเศส 5 เตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการอยู่ฝรั่งเศสระยะยาว

เรียนต่อฝรั่งเศส 5 เตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการอยู่ฝรั่งเศสระยะยาว

February 23, 2018 By KaiMook McWilla Malany 8 Comments

เตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการอยู่ฝรั่งเศสระยะยาว

 

ผ่านกันมาแล้ว 4 หัวข้อเรื่องเกี่ยวกับการเรียนต่อที่ประเทศฝรั่งเศส

  1. เริ่มหาทุน คลิกที่นี่
  2. เรียนภาษาฝรั่งเศสที่ประเทศฝรั่งเศส (มีสองตอน คือ คลิกที่นี่ และ คลิกที่นี่)
  3. เลือกและสมัครมหาวิทยาลัยพร้อมกับขอทุน Eiffel คลิกที่นี่
  4. เตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการอยู่ฝรั่งศสระยะยาว 
  5. ประสบการณ์ในการเรียน Master 1 Droit Public ที่ Aix Marseille Université
  6. ประสบการณ์สมัครฝึกงานในองค์การระหว่างประเทศ

ในบทความนี้ มาดูรายละเอียดเรื่อง เตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการอยู่ฝรั่งเศสระยะยาว กันค่ะ

 

4) เตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการอยู่ฝรั่งเศสระยะยาว

เมื่อเรารู้แน่ชัดแล้วว่าจะเรียน (ไม่ว่าจะเรียนภาษาหรือเริ่มเรียนที่มหาวิทยาลัย) และพักที่ไหน ก็มีเรื่องให้ต้องจัดการมากมายต่างกับการมาเที่ยวไม่กี่วัน คนที่เพิ่งมาครั้งแรกและมาคนเดียวอาจจะสับสน ไม่รู้ว่าต้องทำอะไรบ้าง ควรเริ่มจากอะไร

ดังนั้น ในหัวข้อนี้ เราอยากจะเล่าให้ฟังถึงภารกิจจิปาถะต่างๆ ที่แม้จดูเป็นเรื่องน่าเบื่อ จุกจิก แต่ก็สำคัญต่อการอยู่อาศัยระยะยาวในประเทศฝรั่งเศส ทั้งนี้ ควรเตรียมใจไว้อย่างหนึ่งว่าเจ้าหน้าที่รัฐของประเทศฝรั่งเศสจะไม่ค่อยสันทัดในภาษาอังกฤษสักเท่าไหร่ ดังนั้นเราจึงใช้วิธีเตรียมบทสนทนาล่วงหน้าเป็นภาษาฝรั่งเศสล่วงหน้า โดยหาทางอินเตอร์เน็ตและซ้อมพูดก่อนจะไปติดต่อกับเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศส (ถ้าคิดจะไปเปิดgoogle translate เอาเฉพาะหน้าอาจจะลำบาก เพราะคนมาติดต่อเยอะและเจ้าหน้าที่หลายคนก็ไม่ได้มีเวลาใส่ใจเรามาก) วิธีนี้ใช้ในกรณีอื่นๆก็ได้เช่นจะการซื้อซิมโทรศัพท์ เราก็ต้องพิจารณาเราอยากได้ซิมเติมเงินหรือจ่ายรายเดือน โทรไปยังประเทศอื่นมีค่าบริการอย่างไร และก็ดูว่าประโยคคำถามดังกล่าวพูดเป็นภาษาฝรั่งเศสอย่างไร หรือกรณีเจ็บป่วยไปหาหมอก็ยิ่งควรจะเตรียมคำศัพท์เฉพาะภาษาฝรั่งเศสเพื่อบรรยายถึงอาการของเรา

 

moving in ☺ #ย้ายบ้าน

A post shared by Kaimook Malany (@kaimookmalany) on Sep 1, 2017 at 8:49am PDT

4.1) การขอลงทะเบียนและขอใบอนุญาติพักอาศัย (titre de séjour)

โดยทั่วไปแล้ว การมาเรียนที่ประเทศฝรั่งเศสครั้งแรก เราจะขอวีซ่านักเรียนแบบระยะยาว  (มากกว่าสามเดือน) ซึ่งต่อให้หลักสูตรที่เราจะเรียนใช้เวลาสองปี เราก็จะได้วีซ่าครั้งแรกไม่เกินหนึ่งปีและจะมีแบบฟอร์ม OFII แนบมาด้วย ซึ่งเมื่อเรามาถึงฝรั่งเศสแล้วจะต้องจัดการกรอกและส่งเอกสารดังกล่าวไปที่ที่อยู่ของหน่วยงานที่เรียกว่า L’Office Français de l’Immigration et de l’Intégration (OFII) ที่ใกล้กับเมืองที่เราอยู่ โดยส่งทางไปรษณีย์พร้อมกับเอกสารอื่นๆที่ใบนั้นกำหนดเช่นสัญญาเช่าที่พักที่เราอาศัยอยู่ และสแตมป์ (timbre) ซึ่งเราซื้อล่วงหน้าได้ทางเว็บไซต์ คลิกที่นี่

โดยทั่วไป การมาเรียนครั้งแรกจะต้องซื้อสแตมป์ประเภท VLS-TS (étudiant) ราคา 60 ยูโร การส่งเอกสารทั้งหมดนี้ก็เพื่อจะขอใบอนุญาติพักอาศัย หรือ titre de séjour นั่นเอง ซึ่งเค้าจะติดไว้ในพาสปอร์ตเรา และทำให้เราเดินทางไปยังประเทศในกลุ่มเชงเก้นได้อีกด้วย

เมื่อส่งเอกสารไปแล้วก็รอ OFII ตอบกลับ โดยระยะเวลาการรอนั้นก็ขึ้นอยู่กับ OFII แต่ละศูนย์และช่วงที่เราส่งเอกสารว่าเป็นช่วงที่คนต่างด้าวเข้ามาเยอะไหม เรารอประมาณหนึ่งเดือน

OFII จะส่งจดหมายกลับมาให้เราสองครั้ง

  • ครั้งแรกจะเป็นยืนยันว่าได้รับเอกสารที่เราส่งแล้ว
  • จากนั้นอีกประมาณสองอาทิตย์เราก็ได้รับจดหมายนัดให้ไปที่ OFII เพื่อตรวจร่างกาย ตรวจเอกสาร และรับ titre de séjour

หนึ่งในการตรวจร่างกายก็จะมีการเอ็กซเรย์ปอด ถ้า OFII ประจำเขตของเรามีขนาดเล็ก เค้าก็จะให้เราไปเอ็กซเรย์ปอดที่โรงพยาบาล และส่งผลเอ็กซเรย์ไปให้เค้า แต่ OFII ในเขตเมืองใหญ่ๆ เช่น Marseille ก็จะให้เราตรวจร่างกายทุกอย่างในวันเดียวกันเลย

มีเทคนิคว่าเมื่อไปถึง OFII ตามเวลานัดแล้ว ให้บอกเค้าว่าเป็นนักเรียน เค้าจะพิจารณากรณีของเราก่อนคนต่างด้าวประเภทอื่นๆที่มาทำงานหรือมาอยู่อาศัยในฝรั่งเศส (แทรกคิวให้นั่นเอง) นอกจากเอ็กซเรย์ปอดแล้วเค้าก็จะถามเราเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพทั่วๆไป ประวัติการฉีดวัคซีน สำหรับผู้หญิงก็จะเจอคำถามเกี่ยวกับประวัติการมีเพศสัมพันธ์ การกินยาคุมกำเนิด หรือการตั้งครรภ์ด้วย หลังจากตรวจร่างกายเสร็จก็จะมีการตรวจเอกสาร สแตมป์ แล้วเจ้าหน้าที่ก็จะออก titre de séjour ให้เราติดใน passport ซึ่งครั้งแรกจะมีอายุตามระยะเวลาวีซ่าที่เราทำมาจากไทย

ดังนั้น ก่อนที่ titre de séjour จะหมดและเรายังจะต้องเรียนต่อ ก็ต้องดำเนินการนัดขอต่ออายุ titre de séjour ล่วงหน้าประมาณ 1-2 เดือนก่อนหมดอายุ ไม่ต้องไปขอวีซ่าที่ประเทศไทยใหม่

โดยการต่ออายุนี้เราก็ต้องซื้อสแตมป์ใหม่เป็นสแตมป์สำหรับต่ออายุเรียกว่า renouvellement de titre de séjour ซึ่งครั้งนี้ไม่ต้องไปดำเนินการที่ OFII แต่ไปที่หน่วยงานที่ขึ้นกับกระทรวงมหาดไทยเรียกว่า Préfecture แทน ซึ่งเราต้องเอาเอกสารทางการศึกษาไปให้เค้าดูว่าเรายังจะเรียนอีกกี่ปี เค้าก็ออก carte de séjour ซึ่งจะเป็บบัตรแยกต่างหาก ไม่ได้ติดใน passport แล้ว และให้ตามเวลาที่เราขอ เช่นถ้าจะเรียนต่อปริญญาเอกอีกสามปี เค้าก็จะออกบัตรให้สามปี

การขอ titre de séjour นี้มีความสำคัญและควรทำเป็นอันดับแรก เนื่องจากถ้าเราไม่ส่งเอกสารไปที่ OFII หรือถ้าไม่ไปต่ออายุหลังจาก titre de séjour หมดแล้วยังอยู่ต่อ ก็เท่ากับเราอยู่ในประเทศฝรั่งเศสแบบผิดกฎหมาย มีผลต่อการทำธุรกรรมอื่นๆเช่น ขอช่วยค่าที่พักไม่ได้ และไม่เข้าเงื่อนไขที่จะทำประกันสุขภาพของรัฐที่เรียกว่า PUM (Protection Maladie Universelle)

4.2) การเปิดบัญชีธนาคาร

ธุระอีกอย่างหนึ่งที่ควรทำเป็นอันดับแรกๆ เช่นกันคือการเปิดบัญชีธนาคารเนื่องจากการทำธุรกรรมเรื่องอื่นๆ ที่จะได้พูดในหัวข้อย่อยๆถัดไป เช่น การขอเงินค่าช่วยที่พัก หรือการทำประกันสุขภาพจะต้องใช้บัญชีธนาคารทั้งสิ้น

ประเทศฝรั่งเศสมีหลายธนาคารหลายธนาคารให้เลือกเปิดบัญชี หัวข้อนี้จะกล่าวถึงปัจจัยในการเลือกธนาคาร ซึ่ง อาจไม่มีธนาคารไหนที่มีเงื่อนไขที่ดีไปหมดทุกด้าน เช่น บางธนาคารยกเว้นค่ารักษาบัญชีให้กับนักเรียน แต่คิดค่าโอนเงินไปต่างประเทศสูงกว่าที่อื่น เป็นต้น ดังนั้นเราควรพิจารณาลักษณะการใช้เงินของตัวเองเพื่อตัดสินใจเลือกธนาคาร

นอกจากนี้ถ้าเรามาเรียน แค่ช่วงสั้นๆไม่ถึงหนึ่งปี บางธนาคารก็ปฏิเสธไม่ยอมเปิดบัญชีให้เรา ปัจจัยที่ควรคำนึงถึงและสอบถามธนาคารให้แน่ชัดได้แก่

  • 1) ความทั่วถึงของสาขาธนาคาร ข้อนี้มักไม่มีปัญหาถ้าเราเรียนอยู่เมืองขนาดกลางขึ้นไปเพราะจะมีธนาคารที่สำคัญๆอยู่แล้ว แต่บางธนาคารเช่น credit agricol เป็นธนาคารแบบภูมิภาค (régional) ดังนั้นถ้าเราเปิดบัญชีกับธนาคารนี้ที่เมืองหนึ่งแต่ต่อมาเราย้ายไปอีกเมืองหนึ่งซึ่งไม่มีธนาคารนี้ แม้จะกดเงินจาก ATM ได้แต่ถ้ามีปัญหาอะไรก็ไม่มีเจ้าหน้าที่ให้ปรึกษา
  • 2) มีค่ารักษาบัญชีหรือไม่ เท่าไหร่ นักเรียนได้รับยกเว้นไหม
  • 3) ค่าธรรมเนียมโอนเงินไปต่างประเทศ
  • 4) การใช้เงินเกินบัญชีหรือเป็นหนี้ จะคิดดอกเบี้ยเท่าไหร่ อย่างไร (เราเคยมีบัญชีติดลบตอนมาฝรั่งเศสใหม่ๆแล้วพาครอบครัวมาเที่ยวเพลิน เพิ่งมาอ่านเงื่อนไขที่หลังว่าธนาคารBNP Paribasที่เราเปิดบัญชีด้วย นอกจากดอกเบี้ยแล้วยังคิดค่าธรรมเนียมการรูดบัตร visa ครั้งละ 8 ยูโรโดยไม่คำนึงถึงจำนวนเงิน ซึ่งตอนนั้นเรารูดบัตรบ่อยมาก จึงส่งจดหมายไปหาธนาคารอธิบายด้วยความจริงใจว่าเราไม่ระมัดระวังเอง ไม่อ่านเงื่อนไขของธนาคารให้ดีก่อน ตอนเซ็นต์สัญญาเปิดบัญชียังอ่านภาษาฝรั่งเศสไม่ค่อยเข้าใจ ขอลดดอกเบี้ย/ค่าธรรมเนียมได้ไหม ทางธนาคารก็ยกเว้นให้)
  • 5) เรื่องอื่นๆตามที่แต่ละคนเห็นว่าสำคัญ

สำหรับขั้นตอบการเปิดบัญชีนั้น ไม่ได้เดินเข้าไปเปิดเสร็จสิ้นภายในวันเดียวเหมือนประเทศไทย แต่ต้องเริ่มจากการขอนัดกับธนาคารก่อน ซึ่งเราก็ต้องถามกับ receptionให้ดีว่า

  • ต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง
  • ขอเจ้าหน้าที่ที่พูดภาษาอังกฤษได้ไหม

เอกสารที่ต้องใช้ก็แตกต่างกันไปตามแต่ละธนาคาร หลักๆคือ

  • passport,
  • เอกสารแสดงที่พักอาศัยว่าเราอยู่ที่นี่จริงๆ เช่นบิลค่าน้ำค่าไฟ
  • ถ้าอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์ธนาคารก็อาจมีแบบฟอร์มให้โฮสกรอกว่าเราอยู่กับเค้าจริงๆ
  • เอกสารว่าเราเรียน หรือทำงานอะไรที่ฝรั่งเศส
  • บางที่อาจขอสูจิบัตรด้วย

เมื่อถึงเวลานัดเจ้าหน้าที่ก็จะกรอกข้อมูลเราและให้เราเซ็นต์เอกสารเยอะมาก ตรงนี้ต้องระวังเพราะธนาคารอาจให้เราเซ็นต์สัญญาทำประกันบ้าน ประกันสุขภาพไปในตัว ซึ่งจะหักค่าเบี้ยประกันจากบัญชีเราอัตโนมัติ ดังนั้นแม้เราจะไม่สามารถอ่านสัญญาทั้งหมดได้ละเอียดอยู่แล้ว ยิ่งเป็นภาษาฝรั่งด้วย สิ่งที่ควรทำคือบอกเค้าว่าเราไม่ทำประกันนะ ขอเปิดบัญชีอย่างเดียว

4.3) การขอเงินช่วยค่าที่พัก(aide au logement étudiant) จาก Caf

เนื่องจากประเทศฝรั่งเศสเป็นรัฐสวัสดิการ จึงมีหลายหน่วยงานที่ตั้งขึ้นเพื่อดูแลสวัสดิการของผู้ที่อาศัยในประเทศฝรั่งเศส (ไม่ได้จำกัดแค่คนสัญชาติฝรั่งเศส) เช่นเรื่องประกันสุขภาพ หรือเงินชดเชยจากการประสบอุบัติเหตุหรืเจ็บป่วยจากการทำงานเป็นต้น ทั้งนี้หน่วยงานที่เราในฐานะนักเรียนต่างชาติจะได้ข้องเกี่ยวก็คือการทำประกันสุขภาพ CPAM (Caisse primaire d’assurance maladie) และ Caisse d’allocations familiales (Caf) ซึ่งจะเป็นแขนงหนึ่งของระบบสวัสดิการฝรั่งเศสที่ดูแลด้านครอบครัว ข้อดีของการที่เราเป็นนักเรียนในประเทศฝรั่งเศสคือเราสามารถขอเงินช่วยค่าที่พัก (aide au logement étudiant) ซึ่งให้โดยไม่จำกัดสัญชาติ

โดย Caf จะให้ค่าช่วยที่พักเราประมาณ 30-50% ของค่าเช่าที่เราจ่ายขึ้นอยู่กับรูปแบบขนาดห้องที่เราอยู่ (ยิ่งห้องเล็ก สัดส่วนที่ให้ยิ่งสูง) รายได้และจำนวนบุคคลที่เราต้องดูแล (ถ้าต้องดูแลคนอื่นด้วยเช่นลูกก็จะได้เยอะกว่าอยู่คนเดียว หรือถ้าเป็นนักเรียนไม่มีรายได้ก็จะได้เงินช่วยมากกว่าคนทำงาน) และประเภทของที่พักอาศัย (ถ้าอยู่หอพักนักเรียนที่รัฐสนับสนุนหรือที่เรียกว่าCROUSก็มักจะได้เงินช่วยในสัดส่วนที่มากกว่าอยู่หอพักเอกชน)

ขั้นตอนคือเข้าไปที่เว็บไซต์ คลิกที่นี่ เลือก Faire une demande de prestation และกรอกข้อมูลซึ่งเค้าจะถามค่อนข้างละเอียดเช่นขนาดของห้องที่เราอยู่ รายได้ของเรา ที่อยู่ เลขบัญชีธนาคาร ฯลฯ เมื่อกรอกข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตเรียบร้อยแล้ว ทางเว็บไซต์ก็จะบอกมาว่าเราต้องส่งเอกสารอะไรไปให้ Caf ทางไปรษณีย์บ้าง ซึ่งก็จะเป็นเอกสารยืนยันข้อมูลที่เรากรอกไป เช่น

  • สูติบัตร
  • ทะเบียนสมรส
  • ใบรับรองการทำงาน หรือการลงทะเบียนเรียน
  • สัญญาเช่าบ้าน/ห้อง

นอกจากนี้เราเลือกได้ว่าจะให้ Caf โอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของเราโดยตรงหรือโอนไปที่ผู้ให้เช่าซึ่งเราก็จะจ่ายค่าเช่าถูกลง แล้ว Caf ก็จะส่งจดหมายมาให้เราพร้อมให้เลขประจำตัวและรหัสผ่านเผื่อให้เราล็อคอินเข้าบัญชีผู้ใช้งานในเว็บไซต์ของ Caf ได้

โดย Caf จะบอกว่ากำลังตรวจสอบเอกสารของเราอยู่ซึ่งกระบวนการนี้อาจใช้เวลา 2-3 เดือน เพราะบางทีเค้าก็จะขอเอกสารเพิ่มหรือทำเอกสารที่เราส่งไปแล้วหาย ทางเว็บไซต์ Caf ได้จัดทำเอกสารอธิบายขั้นตอนการขอค่าช่วยที่พักอย่างละเอียดเป็นภาษาอังกฤษ ดูได้ที่ คลิกที่นี่

 

 

Filed Under: Education Tagged With: Eiffel, ทุนรัฐบาลฝรั่งเศส, นักเรียนทุน, เรียนต่อ

Comments

  1. peach:) says

    February 23, 2018 at 4:44 pm

    มีประโยชน์มากเลยคะ ขั้นตอนแต่ละอย่างสำคัญมากจริงๆ

    Reply
    • KaiMook McWilla Malany says

      February 23, 2018 at 4:49 pm

      เย้ ขอบคุณค่ะ :))) คนเขียนตั้งใจเขียนมากเลย รู้ว่ามีประโยชน์ก็ดีใจค่ะ ว่างๆ แวะมาแบ่งปันข้อมูลได้นะคะ <3

      Reply
  2. Chosita says

    August 18, 2018 at 10:10 am

    ขอบคุณมากนะคะ นอกจากได้ความรู้จากประสบการณ์ของคุณแล้ว ยังสัมผัสได้ถึงความจริงใจในการแบ่งปันข้อมูลด้วย.. ไม่ค่อยมีคนไทยไปเรียนที่ฝรั่งเศสมาก จะหาข้อมูลทีก็ลำบาก ขอบคุณอีกครั้งค่ะ

    ปล. “WHEN YOU WONDER, YOUR MIND WANDERS,
    AND YOU REALIZE HOW WONDERFUL EVERYTHING IS”
    น่ารักจังค่ะ!!!

    Reply
    • KaiMook McWilla Malany says

      August 21, 2018 at 4:49 am

      ขอบคุณมากเลยนะคะ ยินดีเขียนกันทุกคนเลย หวังว่าจะเป็นความรู้ใก้หับผู้อ่าน พอได้เจอคอมเมนต์แบบนี้แล้สรู้สึกมีกำลังใจเขียนต่อค่ะ ช่วงนี้ไม่ค่อยได้อัพเดทอะไรมากมาย จะพยายามมาอัพเดทตอนต่อๆ ไปนะคะ <3

      Reply
  3. simplifier says

    September 30, 2018 at 7:58 am

    ขอบคุณมากเลยนะคะสำหรับบทความดีๆ เพิ่งเข้ามาเจอแล้วตามอ่านยาวเลยค่ะ

    อยากรบกวนขอคำแนะนำเรื่องการเตรียมตัวสอบdelfได้ไหมคะ

    เคยสอบB2แล้วแต่คะแนนไม่ค่อยดี (แค่พอผ่านค่ะ) ก็เลยจะสอบC1ดู

    แต่กลัวว่าจาก B2 ไป C1 มันจะยากมากรึเปล่า ต่างกันมากแค่ไหน

    ถ้าพอมีเวลาช่วยแนะนำวิธีการเตรียมตัวสอบ หรือแนะนำหนังสือ ที่เรียน ได้ไหมคะ

    ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ

    Reply
    • KaiMook McWilla Malany says

      October 13, 2018 at 2:23 pm

      สวัสดีค่ะ ดีใจมากเลยที่บทความมีประโยชน์ค่ะ เรื่องการสอบ คิดว่าตราบใดที่เรียนตามหลักสูตรที่กำหนดไว้ของ level ต่างๆ หากจับจุดได้ และเข้าใจเนื้อหาหลักๆ ของแต่ละ level เชื่อว่าคุณ simplifier ทำได้ค่ะ 🙂 เป็นกำลังใจให้นะคะ ส่วนเรื่องหนังสือและที่เรียน จะอัพเดทให้ภายหลังนะคะ <3

      Reply
  4. Natezey :) says

    February 5, 2019 at 2:12 am

    บทความมีประโยชน์มาก ๆ เลยค่ะ ข้อมูลครบถ้วน เรียบเรียงเข้าใจง่าย ถ้าเราได้อ่านก่อนมาเรียน ชีวิตช่วงแรกที่มาก็คงจะไม่วุ่นวายเท่าที่เป็น ?

    Reply
    • KaiMook McWilla Malany says

      February 9, 2019 at 4:01 pm

      ขอบคุณมากเลยยค่ะ เจ้าของบทความเขียนก็ดีใจมากกๆๆๆๆๆๆๆ เลย:)

      Reply

Leave a Reply Cancel reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

KAIMOOK MALANY

ฉันโตมากับการไม่อยู่เป็นหลักแหล่ง ฉันสู้ ดิ้นรน ปรับตัว เป็นฉันในวันนี้ ที่ยิ้มเก่ง ช่างพูด กล้าถาม ชื่นชอบการพบปะผู้คน รักการเรียนรู้ หลงรักการผจญภัย และอยู่อย่างสันโดษได้ นอกจากจะเพราะครอบครัวที่รักและคอยให้การสนับสนุนฉันแล้ว ส่วนหนึ่งยังเป็นเพราะตัวฉันที่ไม่ชอบอยู่นิ่ง (wander) สิ่งที่ฉันได้เจอ ศึกษาค้นคว้าและเรียนรู้เป็นความน่าหลงใหล (wonderful) ที่ฉันอยากจะแลกเปลี่ยนแบ่งปัน ทุกอย่างที่เขียนขึ้นกลั่นออกมาจากใจฉันเองค่ะ (minds)

Join the Social Conversation

  • Facebook
  • Instagram
  • Pinterest

Copyright © 2015-2019 · Squiddy Productions · This site powered on interstellar cognitions · Privacy