เคล็ดลับเขียน Statement of Purpose
- บทความนี้ต่อเนื่องจาก Study Plan / Statement of Purpose คืออะไร ควรเขียนอย่างไร (คลิกที่ชื่อบทความ)
- บทความเชื่อมโยง การเขียน Résume / CV (คลิกที่ชื่อบทความ)
งานเขียน Statement of Purpose / Motivation Letter ที่ฉันเคยตรวจจากเพื่อนชาว wanderfulminds ที่ส่งมาให้ฉันดู หลายงานค่อนข้างจะเขียนมาในเป็นแนวทางที่ไม่ควรเป็น 🙁
บางท่านเขียนเกริ่นยาวว่าตัวเองเรียนจบจากมหาวิทยาลัยอะไรในประเทศไทย บอกว่ามหาวิทยาลัยนั้น (ที่ตนเองจบมา) เป็นมหาวิทยาลัยที่ดีเด่นโด่งดังในไทยมากแค่ไหน
“I recently graduated from the University of XXX, which is the best school in Thailand. The university is also the oldest university famous for science …”
ตามด้วยบอกว่าต้องการเรียนต่อที่ประเทศ … ด้านรัฐศาสตร์/วิทยาศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของประเทศนั้นๆ โดยให้เหตุผลว่า เป็นมหา’ลัยที่ดี มีชื่อเสียง มีอาจารย์ดัง เก่งและเขี่ยวชาญ ทำให้คิดว่าตัวฉัน (ผู้สมัคร) จะได้รับความรู้เฉพาะทางเอามาใช้กับตัวเองเพื่อพัฒนาประเทศและสร้างความก้าวหน้าทางอาชีพ
ลองค่อยๆ พิจารณาดูนะคะ ว่า ตัวอย่างนี้ ดีหรือแย่อย่างไร?
i. เรียนจบจากไหน?
ฉันคิดว่าการบอกว่าตัวเองเรียนจบจากมหาวิทยาลัยชั้นนำจากประเทศไทย และเอ่ยชมมหาวิทยาลัยของตน ไม่ได้ทำให้ตัวผู้สมัครดูโดดเด่นไปกว่าคนอื่นเลย ขณะอ่านเอกสาร คณะกรรมการคงจะงงและตั้งคำถามว่า “คุณชมมหาวิทยาลัยของคุณทำไม” ในเมื่อสาเหตุที่เราสมัครคือเราต้องการไปเรียนที่มหาวิทยาลัยอื่น
บางท่านแทนที่จะเขียนเล่าว่าตนเองต้องการเรียนต่อสาขานั้นเพราะอะไร หรือเขียนว่าตัวเองมีคุณสมบัติอะไรที่เกี่ยวข้องกับสาขาที่จะเรียน กลับเขียนบทความ “ชื่นชม” และให้ข้อมูลเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยนั้นๆ มากกว่าจะเขียนบอกเกี่ยวกับ “ตัวผู้สมัคร”
ii. เขียนว่ามหา’ลัยที่เราจะเรียนมีดี?
“I’m applying to your program at the University of XXX because it is the best school. The school is full of the best professors who are specialized in the field in which I’m interest.”
แบบนี้ก็ไม่ควรเขียนนะคะ
อย่างที่เคยเขียนไว้ในบทความก่อน เราไม่ต้องชมเค้ามากมายหรอกค่ะ เพราะว่าเค้ารู้อยู่แล้วว่าเค้ามีชื่อเสียง หรือหากเค้าไม่มีชื่อเสียงเค้าก็รู้อยู่แล้วว่าเราสมัครไปเพราะว่าเราชื่นชอบอะไรสักอย่างในตัวมหาวิทยาลัยนั้นๆ
ฉันไม่ได้บอกว่าเราชมมหาวิทยาลัยหรือชมครูอาจารย์ไม่ได้ แต่การเขียนเรียงร้อยถ้อยคำ และการจัดวางรูปประโยค/โครงสร้างภาษา เราสามารถพลิกแพลงให้ดูมีเอกลักษณ์และมีภาษาที่น่าดึงดูดได้มากกว่า
ดังนั้น สิ่งที่เราควรจะเขียนคือประยุกต์ความดี (ไม่ว่าจะ อาจารย์ งานตีพิมพ์ ผลงานวิชาการ มีแล็บครบถ้วน ฯลฯ) ของมหาวิทยาลัยนั้นๆ ให้เป็นเนื้อเรื่องสอดคล้องกับสาเหตุที่เราอยากเรียน หรือการเล่นกับภาษานั่นเอง
“I apply to this program because of the challenging coursework and the excellent facilities …”
แทนที่จะเขียนตามว่าข้างต้น เราก็เขียนให้เชื่อมโยงกับตัวเรามากขึ้นว่า coursework อะไรที่ดึงดูดเรา ยกตัวอย่างออกมาแล้วเพิ่มเติมว่า มันถึงดึงดูดเราอย่างไร
ในเรื่องของ facilities ก็ควรเขียนไปในอีกทิศทางที่ว่าเราสามารถทำอะไรได้กับ facilities เหล่านี้ เราจะใช้ facilities เหล่านี้ให้เกิดประโยชน์กับงานวิจัยของเรา (หรืองานอื่นๆ) ได้หรือไม่ อย่างไร จะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด บรรยายออกมาให้เป็นรูปเป็นร่าง ให้จับต้องได้
และควรเขียนให้เนื้อความโดดเด่นจากคนอื่น มีเอกลักษณ์ และคำนึงว่าเขียนอย่างไรให้คณะกรรมการที่ต้องอ่านเอกสารมากๆ จำเราได้
สิ่งที่ควรเขียน 🙂
1. เขียนให้เจาะจง:
ไม่ควรเขียนให้กว้างเกินไป หากบอกว่าอยากเรียนจิตวิทยา ควรบอกไปเลยค่ะว่า “สาขาไหนหรืออะไรของจิตวิทยา” หากต้องการเรียนรัฐศาสตร์ ควรบอกไปเลยว่า จุดที่ทำให้เราอยากเรียน/ชอบ คือ ในมุมมองเรื่อง สังคม (สังคมด้านไหน?) การเมือง (อะไรของการเมือง) เศรษฐกิจ (เขียนเจาะจงลงไปว่ามุมมองไหนของเศรษฐกิจ) เป็นต้น
อย่าลืมนะคะว่า ต้องโยงเรื่องให้เกี่ยวข้องกับตัวเราเองมากที่สุด ว่าตัวเราจะทำอะไรกับมันให้ออกมาอยู่ในรูปของสังคม (what can you do (with your interest)?, how can you contribute it to the society?)
2. เขียนให้เรื่องราวน่าติดตาม:
ไม่เขียน fact อย่างเดียว เพราะมันน่าเบื่อ แต่พยายามดึงความรู้สึกออกมาด้วย
จาก “I’m interested in …” อาจจะเขียนว่า “I’m deeply passionate about …”
3. ใช้ภาษาให้ดึงดูด:
จาก “it will be good for …” สามารถเขียนว่า “it will be tremendously beneficial to …”
4. ใช้ประโยคหลากหลาย:
การเขียนประโยคสั้นๆ หลายประโยค มันค่อนข้างจะจืดชืดนะคะ
จาก “I studied hard. I also participated in school activities. I did volunteer too.” แก้เป็น “Besides painstakingly studying at school, I happily participated in extra curricular activities such as … where I learned about … where I experienced … “
5. ใช้คำเชื่อม:
moreover, furthermore, additionally, however, nevertheless, despite, in spite of, …
6. หาจุดเชื่อมโยง:
โยงทุกอย่าง ทุกย่อหน้า ทุกสิ่งที่เขียน ให้เนื้อหาเป็นเหตุเป็นผลเชื่อมโยงเข้าหากัน จัดโครงสร้างแต่ละย่อหน้าให้ดี ให้ลื่นไหลเวลาอ่าน และทุกประโยค ทุกถ้อยคำที่เขียนมีค่า มีความหมาย ขณะที่เขียนให้นึกเสมอว่า
เราเขียนประโยคนี้เพื่ออะไร ประโยคนี้มีใจความต่อเนื่อง/เชื่อมโยงกับประโยคก่อนหน้าและประโยคที่จะตามมาหรือไม่ อย่างไร
สิ่งสุดท้ายที่ขอเตือน ฉันเคยย้ำแล้วในบทความก่อนหน้านี้ “เขียนให้เป็นรูปธรรมมากที่สุด” ให้จับต้องได้ ว่า “เพราะ” อะไร ไม่บอกแค่ว่า “ดี/ชอบ/สนใจ/สนุก” แต่อธิบายว่า ดีเพราะ ชอบเพราะอะไร สนใจเพราะอะไร อะไรทำให้สนุก
“I want to be a scientist because I love science”
แบบนี้ไม่ดี ไม่เอานะคะ ทำไมถึงรักวิทยาศาสตร์ ครุ่นคิดมันออกมา ดึงความรู้สึก หาสาเหตุออกมาให้ได้ และทำให้คณะกรรมการเห็นภาพ จับต้องความรู้สึกนั้นของเราให้ได้
แนวทางการเขียน Statement of Purpose / Motivation Letter ไม่มีถูกหรือผิด นะคะ ต่างคนมีความชอบไม่เหมือนกัน หนังสือเล่มเดียวกันหรือหนังเรื่องเดียวกันก็ใช่ว่าทุกคนจะชอบ แต่ไม่ว่าจะหนังสือ ภาพยนตร์ หรืองานเขียน ทุกอย่างมีการจัดวางโครงสร้าง โครงเรื่อง มีองค์กระกอบ (ตัวละคร ภาพ ฉาก แสงสี) ที่รวมกันเป็นเนื้อเรื่อง
—
บทความนี้ที่ฉันเขียนขึ้นมาเป็นความเห็นส่วนตัว จากประสบการณ์ที่สั่งสมมา ไม่ว่าจะเขียนเองจากการสมัครเรียน สมัครอบรม ตรวจให้คนอื่น หรือจากการพูดคุยกับคณะกรรมการกับอาจารย์มหาวิทยาลัย
ท้ายที่สุดก่อนส่งใบสมัคร ผู้สมัครเองคือคนที่ตัดสินใจว่า พร้อมส่งแล้วหรือยัง ดังนั้น ปรึกษาคนรอบข้างเยอะๆ ให้เพื่อน ให้ครูอาจารย์อ่าน ขอคำแนะนำ
เป็นกำลังใจให้ทุกคนค่ะ 🙂
- รับแก้/ตรวจ/เขียนงาน คลิกที่นี่
Leave a Reply